เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2567 คณะกรรมธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญตัวแทนจาก 7 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับคดีของบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าของคดีและหารือถึงแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดกรณีในลักษณะนี้ขึ้นอีก ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) , สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (บก.ปคบ.และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง) , สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ , สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง , สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) , สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสมาคมการขายตรงไทย (TDSA)
นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวกับ ‘ฐานเศรษฐกิจ’ ว่า สคบ. รายงานผู้ที่ขึ้นทะเบียนประกอบธุรกิจขายตรง ว่ามีทั้งหมด 642 บริษัท แต่ทางสมาคมการขายตรงไทย รายงานว่ามีสมาชิกสมาคมเพียง 29 บริษัท ทำให้เกิดคำถามว่า อีก 613 บริษัทที่เหลือนั้น เป็นใครบ้าง เหตุใดจึงไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมการขายตรงไทย และยังดำเนินการอยู่หรือไม่?
โดยหลักเกณฑ์การเข้าเป็นสมาชิกสมาคมการขายตรงไทย มีเงื่อนไขดังนี้ 1.บริษัทผู้สมัครจะต้องเปิดดำเนินการมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน , 2.บริษัทผู้สมัครจะต้องไม่ใช้ระบบปิระมิดซึ่งเป็นการจ่ายผลตอบแทนจากการเชิญชวนให้สมัครเป็นสมาชิกเป็นหลัก , 3.บริษัทผู้สมัครจะต้องผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการที่ใช้ควบคุมสินค้านั้นๆ , 4.บริษัทผู้สมัครจะต้องพร้อมที่จะนำจรรยาบรรณธุรกิจขายตรงโลกไปใช้ในทันที และ 5.บริษัทผู้สมัครจะต้องได้รับการจดทะเบียนประกอบธุรกิจขายตรงจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว
“หลักเกณฑ์การเข้าร่วมเป็นสมาคมการขายตรงไทยนั้นไม่ยาก แต่มีบริษัทที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมการขายตรงน้อยมาก ไม่ถึง 10% จากบริษัทที่ขึ้นทะเบียนธุรกิจขายตรง ดังนั้น จึงคาดเดาได้ไม่ยากว่าในอนาคตอาจจะเกิดปัญหาในลักษณะนี้ได้อีก”
นอกจากนี้ สคบ. ยังได้รายงานว่า ในปีนี้มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งหมดเข้ามาที่ สคบ. มากกว่า 32,000 เรื่อง ซึ่งเจ้าหน้าอยู่ระหว่างแก้ปัญหาให้กับประชาชน สามารถเคลียร์ได้แล้วราว 26,000 เรื่อง ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ โดยที่ กมธ.สคบ. ไม่มีข้อมูลว่า ในจำนวนเรื่องร้องเรียนเป็นกรณีของบริษัทขายตรงหรือแชร์ลูกโซ่กี่เรื่อง
อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปีมีบริษัทจดทะเบียนใหม่กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าอยู่ตลอด ทำให้เจ้าหน้าที่ของ สคบ. มีไม่เพียงพอในการตรวจสอบทุกบริษัท แต่เมื่อเกิดกรณีของ ดิไอคอน กรุ๊ป ขึ้นจึงทำให้เจ้าหน้าที่ได้ทำงานเชิกรุกตรวจสอบบริษัทขายตรง ทำให้พบว่ามีหลายบริษัที่เลิกดำเนินกิจการไปแล้ว บางบริษัท มีสถานที่ตั้งบริษัทกลางทุ่งนา ไม่มีตัวตนจริง ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังรวบรวมข้อมูล เพื่อถอนออกจากบริษัทประกอบธุรกิจขายตรงจาก สคบ.
สำหรับประเด็นเรื่องของการแก้ไขกฎหมายนั้น มีหลายหน่วยงานเห็นด้วยว่าควรแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เริ่มจากในส่วนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 ขยายระยะเวลาที่พนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมตัวผู้ถูกจับให้มากกว่า 48 ชั่วโมง เพื่อมีเวลาเพิ่มในการสืบหาพยานหลักฐานให้ครบถ้วน
ในส่วนของ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 นั้น ในวงของการหารือมองว่ามีความละเอียดและชัดเจนอยู่แล้ว ทั้งระเบียบการทำธุรกิจขายตรงและบทลงโทษทั้งในกรณีบุคคลและนิติบุคคล แต่ปัญหาคือการนำกฎหมายไปบังคับใช้จริง ซึ่งไม่ควรรอจนมีผู้เสียหายเข้ามาร้องเรียนก่อนทำการตรวจสอบ แต่ควรดำเนินการเชิงรุกให้มากกว่านี้ ซึ่ง สคบ. ยอมรับว่า กองขายตรงนั้นมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ จึงมีแนวคิดให้ลองศึกษาการจัดตั้งกองใหม่ภายใต้ สคบ. ขึ้น ในลักษณะกองสืบสวนและปราบปราม
“เบื้องต้นระหว่างนี้ สคบ. , บก.ปคบ. และสมาคมการขายตรงไทย จะดำเนินการทยอยตรวจสอบบริษัทขายตรงร่วมกันแบบบูรณาการ เพื่อสแกนบริษัทที่เข้าข่ายหลอกหลวงออกจากระบบ โดยสมาคมการขายตรงไทย จะเป็นแหล่งข้อมูลให้กับหน่วยงานรัฐ ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะดำเนินการตรวจสอบและดำเนินคดี” นายกันต์พงษ์กล่าว