แม้ขณะนี้จะได้เห็นการคุมขังผู้ต้องหาคดี “ดิไอคอน กรุ๊ป” (The Icon Group) ครบทั้ง 18 ราย พร้อมด้วยการยึดอายัดทรัพย์ทั้งจาก ปปง. และดีเอสไอ มูลค่ามหาศาล แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่อมต้นของกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น
รายการ “เข้าเรื่อง” เผบแพร่ทางยูทูปช่องฐานเศรษฐกิจ พูดคุยกับทนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ที่ปรึกษา กมธ.การเงิน การคลังฯ สภาผู้แทนราษฎร และผู้ก่อตั้งสำนักกฎหมาย VLA มองหาทางออกของเรื่องราวที่เกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่ทนายวีรพัฒน์ กล่าวไว้อย่างน่าสนใจก็คือ “การคุมขังผู้ต้องหา ที่เป็นบอสของ ดิไอคอน” ทั้งหมด อารมณ์และความคาดหวังในสถานการณ์เฉพาะหน้าของสังคม อาจบดบังเป้าหมายที่แท้จริง ในการแสวงหาความยุติธรรม นำเงินมาคืนผู้เสียหาย และหาทางไม่ให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นอีก”
ทนายวีรพัฒน์ กล่าวถึงสิทธิ์ในการได้รับการประกันตัวของผู้ต้องหาเพื่อต่อสู้คดีว่า เป็นเรื่องที่ประเทศไทยไม่ค่อยให้ความสําคัญกับสิทธิ์ในเรื่องของการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ก่อนจะมีคําพิพากษาซักเท่าไหร่ เราเคยชินกับการเอาคนเข้าคุกแล้วค่อยไปตัดสินกันทีหลัง ซึ่งความจริงสิทธิ์ในการได้รับการประกันตัวเป็นสิ่งที่ตนพูดในทุกคดี แม้ตนจะเป็นทนายของฝ่ายผู้เสียหายก็ตาม เพราะการนำคนไปแช่ในคุกไว้ก่อน โดยที่ยังไม่ถูกตัดสินคดีเลย ในการที่ผู้เสียหายจะเรียกเชิญมาเจรจาจ่ายค่าเสียหายก็เชิญไม่ได้เพราะไปอยู่ในคุกแล้ว เป็นต้น
นอกจากนี้ทนายวีรพัฒน์ ยังได้กล่าวถึงช่องทางในการเรียกร้องมูลค่าความเสียหายชดใช้คืนแก่ผู้เสียหายว่า ภาคเอกชน ภาคประชาชนผู้เสียหายควรต้องรวมกลุ่มกัน รวมพลังกันฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ที่สร้างความเสียหาย ซึ่งการฟ้องคดีแพ่งไม่จําเป็นจะต้องไปผูกกับคดีอาญา ซึ่งคดีอาญาจะต้องใช้เวลารวบรวมพยานหลักฐาน ในขณะที่คดีแพ่งถ้ามีหลักฐานสามารถฟ้องได้เลย ซึ่งหากตั้งรูปฟ้องถูกวิธีอาจจะได้ค่าเสียหายมากกว่าที่จะได้รับจากคดีอาญา
สำหรับข้อกล่าวหาคือฉ้อโกงประชาชน และความผิดเกี่ยวกับเรื่องข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ยังถือว่าเป็นสถานเบาอยู่ แต่มีข้อหาที่หนักกว่านั้นก็คือ พ.ร.ก. กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือแชร์ลูกโซ่ แต่ตํารวจยังต้องรวบรวมข้อเท็จจริงในการตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าว ซึ่งต้องมาดูอย่างละเอียดนิดนึงจึงต้องใช้เวลาในการรวมสํานวน
ซึ่งการรวบรวมหลักฐานนั้นไม่ง่ายเนื่องจากคดีความซับซ้อน ยกตัวอย่างหากเป็นการฉ้อโกงประชาชนโดยหลอกเอาทองคำปลอมมาขาย เช่นนี้ความผิดชัดเจนตรงไปตรงมา แต่กรณีดิไอคอนศิลปินดาราอาจยกข้อต่อสู้ได้ว่าเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นสินค้าที่ดี เป็นธุรกิจที่ดีจริงๆจึงได้ร่วมงาน ซึ่งไม่ต่างจากพ่อค้าแม่ค้าคนอื่นๆที่เข้าร่วมในธุรกิจของดิไอคอน
ทนายวีรพัฒน์ ยังได้กล่าวถึงกฎหมายอีกข้อ ที่สามารถนำมาตั้งข้อกล่าวหาได้ คือพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง มาตรา 19 เพราะกฎหมายข้อนี้ไม่ได้สนใจด้วยว่าจะขายสินค้าจริงหรือไม่จริง โกงหรือไม่โกง แต่กฎหมายฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อป้องกันการขยายขยายฐานสมาชิก ที่จะกลายเป็นแชร์ลูกโซ่ คือห้ามหลอกล่อจูงใจคนไปดึงสมาชิกเข้ากลุ่ม โดยมีผลประโยชน์จูงใจว่า ยิ่งหาสมาชิกได้เยอะ จะยิ่งได้ผลประโยชน์ตอบแทนสูง ได้โบนัสได้ไปเที่ยวต่างประเทศ ได้ทองคำ ได้โบนัสเปอร์เซ็นต์
ซึ่งโทษตามความผิดของกฎหมายข้อนี้คือปรับ 500,000 บาท จําคุกไม่เกิน 5 ปี ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ออกมาตั้งแต่ ปี 2545 อาจจะต้องมีการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ และมีความสมดุลย์ เพราะหากโทษเบาไปคนที่มีเจตนาไม่ดีก็ไม่เกิดความเกรงกลัว แต่หากโทษหนักไปคนก็อาจเกิดความกลัวจนไม่กล้าประกอบธุรกิจได้
สุดท้ายถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สังคมไทยต้องกลับมาตั้งคําถามว่า คณะกรรมการ นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ได้ทำหน้าที่ของตนมากแค่ไหน เพราะหากวันที่ดิไอคอนเริ่มทําผิดกฎหมาย ในกรณีที่ถ้าดิไอคอนมีความผิดจริง แล้วมีการตรวจตราใส่ใจในรายละเอียด ผู้กระทำอาจจะถูกเพิกถอนแล้ว หรืออาจจะถูกโทษจําคุกไปแล้วก็ได้ อาจจะต้องกลัวกฎหมายแล้วเลิกไปแล้วก็ได้ แต่ที่สามารถทําและขยายต่อไปเรื่อยๆ อาจมีใครหลับหูหลับตาปล่อยปละละเลยหรือไม่ เทวดาลืมทำหน้าที่ของตนเองหรือไม่