“กทพ.” กางแผนสร้าง “ทางด่วนศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ 2 หมื่นล้าน

26 ก.ย. 2567 | 11:30 น.

“กทพ.” เปิดรับฟังความเห็นประชาชน รอบ 3 เดินหน้าสร้างทางด่วนศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท เล็งตอกเสาเข็มในปี 70 คาดเปิดให้บริการปี 73 แก้ปัญหารถติดในชั่วโมงเร่งด่วน

นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการ (ยุทธศาสตร์และแผน) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานในพิธีเปิดการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 (สรุปผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม 

เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการสรุปผลการศึกษา ซึ่งได้อาศัยความร่วมมือกับกรมทางหลวง (ทล.) ภายใต้กระทรวงคมนาคม

“กทพ.ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาได้ศึกษาโครงการฯ มาแล้ว 2 ครั้ง ตั้งแต่เดือนต.ค.66 และเดือนมี.ค.67  ล่าสุดได้ข้อสรุปรูปแบบการก่อสร้าง ,ต้นทุน ,รูปแบบการพัฒนาโครงการฯ ตลอดจนพื้นที่ผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งเราได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยจัดประชุมกลุ่มใหญ่เพื่อใกล้ชิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด” นายกาจผจญ กล่าว 
    
ทั้งนี้โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 15.8 กม. วงเงินรวม 20,710  ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าก่อสร้าง 19,145 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ 840 ล้านบาท ค่าควบคุมงานก่อสร้าง 725 ล้านบาท

ขณะเดียวกันตามแผนโครงการฯ จะจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้วเสร็จ ภายในปี 67

หลังจากนั้นจะขออนุมัติรายงานอีไอเอ ภายในปี 68-70 โดยจะเริ่มจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินภายในปี 69-71 และก่อสร้างภายในปี 70-73 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 73  

เมื่อพิจารณาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจของโครงการ พบว่า มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 6,169.75 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) เท่ากับร้อยละ 14.35 

อัตราส่วนผลประโยชน์ ต่อทุน (B/C) เท่ากับ 1.52 ดังนั้นโครงการมีความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากมีอัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) ที่สูงมากกว่าร้อยละ 12
 

ทั้งนี้จุดเริ่มต้นโครงการเป็นทางยกระดับ 2 ฝั่งแบ่งทิศทาง (ไป-กลับ) ทิศทางละ 2 ช่องจราจร ตั้งอยู่บริเวณเกาะกลางระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และทางบริการ ทั้ง 2 ฝั่ง (ทิศเหนือ-ทิศใต้) 

เมื่อผ่านทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ ทางยกระดับด้านทิศเหนือจะเบี่ยงลงมารวมกับทางยกระดับด้านทิศใต้เป็นโครงสร้างทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร เป็นระยะทางประมาณ 8.95 กิโลเมตร 

ก่อนจะแยกโครงสร้างเป็น 2 ฝั่งของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 บริเวณจุดตัดถนนร่มเกล้า และเข้าเชื่อมทางเข้า-ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 

จากนั้นเส้นทางหลักลดระดับลงบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 บริเวณหน้าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 

ทั้งนี้ โครงการจะมีการกำหนดจุดเข้า-ออกทางพิเศษโครงการทั้งหมด 3 จุด ประกอบด้วย 1.จุดเริ่มต้นโครงการ (ทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์) โดยมีทางขึ้น-ลง 4 ทิศทาง ได้แก่ 

1.ทางลง Loop Ramp สำหรับรถที่มาจากลาดกระบังมุ่งหน้าไปรามคำแหง เพื่อเข้าเชื่อมถนนศรีนครินทร์ 2.ทางขึ้น Loop Ramp สำหรับรถที่มาจากพัฒนาการมุ่งหน้าไปลาดกระบัง เลี้ยวขวาเข้าเชื่อมทางพิเศษของโครงการในทิศขาออกเมือง 

3.ทางลง Directional Ramp สำหรับรถที่มาจากลาดกระบัง เลี้ยวซ้ายเข้าเชื่อมถนนศรีนครินทร์ 4.ทางขึ้น Directional Ramp สำหรับรถที่มาจากรามคำแหงมุ่งหน้าไปลาดกระบัง เลี้ยวซ้ายเข้าเชื่อมทางพิเศษของโครงการ ในทิศขาออกเมือง

ด้านทางเชื่อมเข้า – ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงสร้างจะแยกออกจากเส้นทางหลัก โดยมีทางเลี้ยวรูปแบบ Semi Directional Ramp ในทิศทางเลี้ยวขวาเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 
 

ส่วนทิศทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิเลี้ยวซ้ายเข้าสู่โครงการไปทางพระราม 9 เป็นทางเลี้ยวรูปแบบ Directional Ramp ซึ่งในบริเวณนี้จะมีการเวนคืนพื้นที่ทั้ง 2 ข้างทาง เพื่อก่อสร้างทางเชื่อมเข้า – ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 

สำหรับจุดสิ้นสุดโครงการ (ตำแหน่งทางขึ้น - ลงลาดกระบัง) เมื่อผ่านจุดเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แนวเส้นทางจะข้ามทางเข้า - ออก ICD ลาดกระบัง ก่อนจะกดระดับลงพื้น และผ่านด้านข้างของสะพานกลับรถเดิมก่อนจะเข้าเชื่อมกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 

นอกจากนี้มีการเวนคืนพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อปรับทางบริการเดิมให้ขนานกับทางขึ้น - ลงของโครงการ รวมถึงออกแบบทางแยกในการเชื่อมต่อระหว่างทางขึ้น - ลง ของโครงการและทางบริการให้ผู้ใช้ทางและประชาชนโดยรอบสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 

และถนนฉลองกรุง สามารถเข้า - ออก โครงการได้ สำหรับรูปแบบโครงสร้างทางพิเศษจะเป็นโครงสร้างสะพานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่องคู่ชนิดหล่อสำเร็จ 

โดยตอม่อส่วนใหญ่เป็นเสาเดี่ยววางอยู่บริเวณร่องน้ำระหว่างทางขนานและทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ฐานรากโครงสร้างออกแบบเป็น Barrette Pile เพื่อลดขนาดของฐานรากให้อยู่ในบริเวณความกว้างของร่องน้ำ 

เมื่อพัฒนาโครงการ การระบายน้ำระดับดินจากแนวร่องน้ำเดิมที่มีการวางเสาของโครงการแทนที่ ได้ออกแบบให้ใช้รางระบายน้ำตัวยูวางบริเวณด้านข้างของเสาพร้อมทั้งปรับปรุงร่องระบายน้ำเดิมให้สามารถระบายน้ำได้ 

และใช้ท่อลอดพร้อมบ่อพัก โดยจะระบายออกตามความเหมาะสมของพื้นที่โครงการ มาลงบ่อพักระบายน้ำเดิมที่อยู่ใต้ทางเท้าหรือติดตั้งใหม่ เพื่อระบายน้ำออกไปยังด้านข้าง และระบายไปยังลำน้ำสาธารณะต่อไป

นอกจากนี้รูปแบบของระบบจัดเก็บค่าผ่านทางที่เหมาะสมเป็นแบบระบบเปิด โดยจัดเก็บค่าผ่านทางแบบใช้พนักงาน (Manual Toll Collector System : MTC) และแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Toll Collection System : ETC) ร่วมกัน 

โดยมีด่านเก็บค่าผ่านทางอยู่บนโครงสร้างทางยกระดับบริเวณทางแยกต่างระดับร่มเกล้า ประกอบด้วยฝั่งขาเข้า (มุ่งหน้าไปพระราม 9) จำนวน 8 ช่องจราจร และฝั่งขาออก (มุ่งหน้าไปลาดกระบัง) จำนวน 7 ช่องจราจร