โครงการทางพิเศษ เชื่อมเกาะช้างถือเป็นทางด่วนสายใหม่ที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)เร่งรัดให้โครงการเกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว ตลอดจนการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต
รายงานข่าวจากกทพ. เปิดเผย ความคืบหน้าโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด ระยะทาง7 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุนประมาณ 15,000 ล้านบาท ว่าปัจจุบันกทพ.ได้ดำเนินการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาโครงการฯแล้วเสร็จ
เบื้องต้นบริษัทบริษัทที่ปรึกษาจะต้องหารือร่วมกับกทพ.เพื่อดำเนินการตามแผนโครงการฯ คาดใช้เวลาศึกษาสำรวจ ออกแบบความเหมาะสมและวิเคราะห์ด้านการลงทุนของโครงการฯ ตลอดจนการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชน ประมาณ 2 ปี คาดว่าจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2569
ทั้งนี้ตามแผนหากดำเนินการศึกษาออกแบบโครงการฯแล้วเสร็จ ในระหว่างนั้นจะจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง หรือภายในต้นปี 2569 ซึ่งสาเหตุที่มีความล่าช้า เนื่องจากต้องสำรวจเขตในพื้นที่อุทยานและกรมป่าไม้ ส่วนการเวนคืนที่ดินคาดว่าจะทราบพื้นที่แนวเส้นทางเวนคืนที่ดินภายในปี 2568
หลังจากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบรูปแบบการลงทุนของโครงการทางด่วนเชื่อมเกาะช้างภายในกลางปี 2569 โดยจะเริ่มเปิดประมูลและดำเนินการก่อสร้างภายในปลายปี 2569 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี และเปิดให้บริการภายในปี 2573
“รูปแบบการลงทุนโครงการฯ ต้องรอความชัดเจนจากผลการศึกษาให้แล้วเสร็จก่อน เบื้องต้นจะใช้รูปแบบกทพ.เป็นผู้ลงทุนโครงการเองหรือเอกชนร่วมลงทุนบางส่วนคงต้องพิจารณาอีกครั้ง เพราะโครงการลงทุนไม่มาก
เนื่องจากมีระยะทางเพียง 7 กม. ส่วนจะดำเนินการในรูปแบบการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) หรือไม่ต้องพิจารณาจากการคาดการณ์ปริมาณการจราจรและผลตอบแทนทางการเงินว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนในแบบนี้หรือไม่”
รายงานข่าวจากกทพ. กล่าวต่อว่า กรณีที่จะนำพื้นที่บริเวณทางด่วนเชื่อมเกาะช้างมาพัฒนาในรูปแบบพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้เพิ่มเติมนั้น คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ โดยใช้พื้นที่บริเวณทั้ง 2 ฝั่งทางขึ้น-ลงทางด่วนเชื่อมเกาะช้าง
ทั้งนี้จะต้องสำรวจพื้นที่ก่อนว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ หากเป็นพื้นที่สาธารณะสามารถดำเนินการได้ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ชาวบ้านอาจจะต้องดำเนินการขอเวนคืนที่ดิน ซึ่งจะต้องรับฟังเสียงตอบรับจากประชาชนในพื้นที่ด้วย
“หากโครงการฯสามารถดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้ประชาชนในพื้นที่ที่ทำกิจการมีต้นทุนต่ำลง ซึ่งมีโอกาสสามารถเพิ่มสินค้าอุปโภคและบริโภคหรือไฟฟ้า ,ประปาและสายสื่อสารได้สะดวกมากขึ้นจากเดิมที่ต้องดำเนินการในรูปแบบเคเบิลใต้น้ำทางทะเลที่มีราคาแพง ส่งผลให้การบำรุงรักษายากกว่าและเกิดความเสียหายได้มากกว่า”
ที่ผ่านมากทพ.ได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคมให้ดำเนินการรับโอนโครงการดังกล่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) พบว่าในปัจจุบันการเดินทางข้ามเกาะช้างโดยเรือเฟอร์รี่ที่นำรถยนต์ข้ามเกาะต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางนาน
โดยเฉพาะการรอขึ้น-ลงเรือเฟอร์รี่ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง ในช่วงวันหยุดยาวและเทศกาลสำคัญที่มีการเดินทางเป็นจำนวนมาก หากโครงการแล้วเสร็จจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางได้มากขึ้น
สำหรับโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณพื้นที่อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราดเชื่อมข้ามทะเลอ่าวไทยไปสิ้นสุดโครงการที่อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด
อย่างไรก็ตามหากโครงการดังกล่าวสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการ จะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางซึ่งส่งผลดีต่อการอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่เกาะช้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เมกะโปรเจ็กต์หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,021 วันที่ 25 - 28 สิงหาคม พ.ศ. 2567