“กทพ.” เปิดเส้นทางใหม่ สร้าง “ทางด่วนเชื่อมเกาะช้าง” 1.5 หมื่นล้าน

16 ก.ย. 2566 | 10:18 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ย. 2566 | 10:18 น.
6.1 k

“กทพ.” สานต่อเมกะโปรเจ็กต์ ทช. เล็งศึกษาเส้นทางใหม่ “ทางด่วนเชื่อมเกาะช้าง” ระยะทาง 6 กม. วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท คาดได้ข้อสรุปภายในปี 69 ลุ้นดึงเอกชนร่วมประมูล PPP ภายในปี 71

ที่ผ่านมา “กทพ.” เร่งผลักดันทางด่วนในภูมิภาคหลายแห่งให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ทางและคนในพื้นที่สามารถเดินทางได้สะดวกมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหารถติดในอนาคต

รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุนประมาณ 15,000 ล้านบาท ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้มีข้อสั่งการให้กทพ.ประสานงานร่วมกับกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ในการดำเนินการศึกษาและออกแบบสะพานข้ามเกาะช้าง โดยเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 กทพ.ได้ประสานขอความอนุเคราะห์ข้อมูลจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เพื่อนำมาประกอบการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ 
 

ทั้งนี้ในปัจจุบันกทพ.อยู่ระหว่างจัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) เพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบกรอบรายละเอียดของโครงการฯ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการศึกษาได้ภายในปลายปีนี้หรือต้นปี 2567 ระยะเวลาศึกษาประมาณ 2 ปี เนื่องจากโครงการอยู่ในพื้นที่ของอุทยานฯ คาดว่าจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2569  

 หากโครงการฯศึกษาแล้วเสร็จ เบื้องต้นกทพ.จะเสนอรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯพร้อมรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาเห็นชอบอนุมัติโครงการ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จประมาณปี 2570 ใช้ระยะเวลาเร็วสุดประมาณ 1 ปี และเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในปี 2569-2570  
 

“หากโครงการดังกล่าวสามารถขออนุมัติได้ภายใน 1 ปี กทพ.ประเมินว่า โครงการจะเริ่มกระบวนการเปิดประมูลได้ภายในปี 2571 ซึ่งคาดว่าการประมูลอาจจะใช้ทางเลือกในรูปแบบการประมูลระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2572 ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 4 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2576”

“กทพ.” เปิดเส้นทางใหม่ สร้าง “ทางด่วนเชื่อมเกาะช้าง” 1.5 หมื่นล้าน

รายงานข่าวจากกทพ.กล่าวต่อว่า ส่วนสาเหตุที่กทพ.ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการนี้ เพราะได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคมให้ดำเนินการรับโอนโครงการดังกล่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.)  

 

ขณะเดียวกันในปัจจุบันการเดินทางข้ามเกาะช้างโดยเรือเฟอร์รี่ที่นำรถยนต์ข้ามเกาะต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางนาน โดยเฉพาะการรอขึ้น-ลงเรือเฟอร์รี่ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง ในช่วงวันหยุดยาวและเทศกาลสำคัญที่มีการเดินทางเป็นจำนวนมาก หากโครงการแล้วเสร็จจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางได้มากขึ้น

 

ที่ผ่านมาพบว่าทางจังหวัดตราดได้ขอความอนุเคราะห์ให้กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ศึกษาออกแบบโครงการฯแต่กรมได้พิจารณาแล้วเป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องใช้งบประมาณก่อสร้างมาก ซึ่งต้องใช้เทคนิคและข้อกำหนดพิเศษทางด้านวิศวกรรมในการออกแบบก่อสร้าง จำเป็นต้องศึกษาความเหมาะสมและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ประกอบกับแนวก่อสร้างโครงการพาดผ่านทะเลอ่าวไทย ,ผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติและพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 2 ซึ่งจะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย

 

ทั้งนี้จังหวัดตราดได้ดำเนินการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน,ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยแจ้งผลให้ทราบเพื่อประกอบการพิจารณาของโครงการฯเชื่อมเกาะช้าง ซึ่งจังหวัดตราดได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงานดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็น 3 ครั้ง โดยเป็นการทำแบบสำรวจภาคประชาชน ใน 3 พื้นที่ ประกอบด้วย อ.เกาะช้าง, อ.แหลมงอบ และพื้นที่อื่น ๆ พบว่า เห็นด้วย 95.19% ที่ไม่เห็นด้วย 4.81% เห็นว่าสิ้นเปลืองงบประมาณ ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้จะเสียหาย ส่วนพื้นที่ อ.เกาะช้าง เห็นด้วย 98.63%

 

สำหรับโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร (กม.) มีจุดเร่งต้นโครงการบริเวณพื้นที่อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราดเชื่อมข้ามทะเลอ่าวไทยไปสิ้นสุดโครงการที่อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด

 

อย่างไรก็ตามหากโครงการดังกล่าวสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการ จะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางซึ่งส่งผลดีต่อการอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่เกาะช้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น