กทพ.ถก BEM สร้างทางด่วน 2 ชั้น งามวงศ์วาน-พระราม 9

16 ส.ค. 2566 | 10:00 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2566 | 10:28 น.
512

“กทพ.” เล็งเปิดรับฟังความเห็บประชาชนรอบ 3 ปลุกทางด่วน 2 ชั้น งามวงศ์วาน-พระราม 9 วงเงิน 3.4 หมื่นล้านบาท แก้รถติดในกรุงเทพฯ จ่อถก BEM ก่อสร้างเอง หลังกระทบพื้นที่ทับซ้อนทางด่วนศรีรัช

ล่าสุดกทพ.เตรียมดันโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 หรือ Double Deck เพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัดในเมือง เนื่องจากปัจจุบันทางต่างระดับพญาไท ประสบปัญหาการจราจรอย่างหนักเข้าขั้นวิกฤตทั้งในและนอกช่วงเวลาเร่งด่วน ส่งผลเส้นทางดังกล่าวต้องรับภาระด้านการจราจรทั้งหมดจากความต้องการเดินทางในแนวตะวันออก-ตะวันตก และแนวเหนือ-ใต้บนโครงข่ายทางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในและชั้นกลาง 

 

รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) ระยะทาง 17 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 34,028 ล้านบาท ปัจจุบันกทพ.อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่า EIA จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2567 โดยระหว่างนี้กทพ.จะเปิดรับฟังของประชาชน ครั้งที่ 3 เพื่อสรุปโครงการฯภายในกลางเดือนสิงหาคมนี้ หลังจากนั้นจะสรุปรูปแบบการลงทุนแล้วเสร็จภายในปลายปี 2566 คาดว่าใช้รูปแบบการลงทุนในการเจรจากับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้ก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 และเก็บค่าผ่านทาง 
 

“โครงการฯนี้มีข้อจำกัดในเรื่องสัญญาสัมปทาน เพราะมีแนวเส้นทางทับซ้อนบนโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 ของ BEM ทำให้เอกชนได้รับผลกระทบจากการบริหารโครงการฯไปด้วย หาก BEM มีความพร้อมที่จะดำเนินโครงการฯดังกล่าวก็เป็นทางเลือกที่ดี ซึ่งจะต้องพิจารณาเรื่องผลประโยชน์ตอบแทนที่เหมาะสมทั้งภาครัฐและเอกชน”

 

รายงานข่าวจากกทพ.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) หากได้ข้อสรุปให้เอกชนรายเดิมหรือ BEM เป็นผู้ดำเนินการ จะต้องเสนอคณะกำกับสัญญาฯ ตามมาตรา 43 พิจารณา ก่อนเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในต้นปี 2567 คาดว่าจะใช้รูปแบบการลงทุน PPP โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงการ 100% และดำเนินการก่อสร้างภายในปลายปี 2567 ระยะเวลาก่อสร้าง 4-5 ปี และเปิดให้บริการปี 2572 
 

ทั้งนี้หากเป็นการเปิดประมูลหาเอกชนรายใหม่โดยผู้รับสัมปทานรายเดิมไม่ขัดข้อง ตามกระบวนการจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในกลางปี 2567 ซึ่งจะต้องหารือในหลายๆเรื่อง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเปิดประมูลและเริ่มก่อสร้างภายในปี 2568 ระยะเวลาก่อสร้าง 4-5 ปี และเปิดให้บริการปี 2573 

กทพ.ถก BEM สร้างทางด่วน 2 ชั้น งามวงศ์วาน-พระราม 9

“กรณีที่โครงการฯจะเปิดประมูลหาเอกชนรายใหม่แทนการเจรจากับเอกชนรายเดิมนั้นก็สามารถดำเนินการได้ แต่ยากมากจากข้อจำกัดที่มี ซึ่งกทพ.จะต้องขอเจรจากับ BEM ให้ได้ข้อสรุปก่อน คาดว่าการเจรจาจะได้ข้อสรุปภายในปลายปีนี้” 

 

ทั้งนี้พื้นที่ศึกษาของโครงการฯครอบคลุมใน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี จำนวน 1 อำเภอ คือ อำเภอเมืองนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 เขต ได้แก่ เขตบางซื่อ,เขตจตุจักร,เขตพญาไท,เขตดุสิต,เขตราชเทวี, เขตดินแดง และเขตห้วยขวาง

 

สำหรับโครงการดังกล่าวจะซ้อนบนทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2 ) โดยมีแนวสายทางเหนือ-ตะวันออก (ประชาชื่น-พญาไท-อโศก) มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน เป็นทางพิเศษยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร โดยมี 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง ซ้อนทับไปตามแนวเส้นทางของทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) มุ่งทิศใต้เลี้ยวซ้ายไปทางทิศตะวันออกบริเวณทางแยกต่างระดับพญาไทผ่านทางแยกต่างระดับมักกะสันและมีจุดสิ้นสุดโครงการที่บริเวณหลังด่านเก็บค่าผ่านทางอโศก 4 ของทางพิเศษศรีรัช รวมระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร (กม.) 

 

อย่างไรก็ตามโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) มีด่านเก็บค่าผ่านทาง 2 แห่ง คือ ด่านประชาชื่น และด่านมักกะสัน โดยมีทางขึ้น 3 แห่ง ได้แก่ งามวงศ์วาน (ขาเข้าเมือง), บางซื่อย่านพหลโยธิน (ขาเข้าเมือง), อโศก (ขาเข้าเมือง) มีทางลงสู่ทางด่วน 4 แห่ง ได้แก่ งามวงศ์วาน (ขาออกเมือง) บางซื่อ ย่านพหลโยธิน (ขาออกเมือง) มักกะสัน (ขาออกเมือง) อโศก (ขาออกเมือง)