ลุยสร้างทางด่วน 2 เส้น เชื่อมกทม.สู่ใต้-ตะวันตก
กทพ.เล็งสร้างทางด่วนส่วนต่อขยายเชื่อมมอเตอร์เวย์ 2 เส้น วงแหวนกาญจนาภิเษก กับนครปฐม-ชะอำและด่วนพระราม 2 กับบางใหญ่-กาญจนบุรีระยะทางรวมไม่น้อยกว่า 50 กม. คาดใช้วงเงินลงทุนกว่า 3 หมื่นล้าน
พล.อ.วิวรรธน์ สุชาติ ประธานกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าเตรียมข้อมูลผลการศึกษาโครงการก่อสร้างทางด่วนส่วนต่อขยายจากถนนวงแหวนกาญจนาภิเษกไปตามถนนพระราม 2 เพื่อไปเชื่อมกับมอเตอร์เวย์เส้นทางนครปฐม-ชะอำ ของกรมทางหลวง(ทล.)ที่มีแผนก่อสร้างและอยู่ระหว่างการเร่งเสนอครม.อนุมัติให้ดำเนินการ โดยเส้นทางดังกล่าวจะสามารถเชื่อมต่อกับทางด่วนพระราม3-ดาวคะนอง-กาญจนาภิเษกที่กทพ.อยู่ระหว่างการเร่งนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)และคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติให้ดำเนินการในต้นปี 2560 นี้เช่นเดียวกับส่วนต่อขยายจากจุดสิ้นสุดทางด่วนบางขุนเทียนไปตามถนนกาญจนาภิเษกก็จะสามารถสร้างส่วนต่อขยายไปสิ้นสุดที่บางใหญ่ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรีได้อีกด้วย
เป็นแนวทางนำเสนอให้กระทรวงคมนาคมและรัฐบาลพิจารณาหากการก่อสร้างเส้นทางพระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนกาญจนาภิเษก แล้วเสร็จก็จะเสนออนุมัติดำเนินโครงการส่วนต่อขยายดังกล่าวนี้ทันทีด้วยการนำเงินค่าจัดเก็บค่าผ่านไปทางไปดำเนินการส่วนต่อขยายได้อย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะใช้วงเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้านบาท รวมระยะทางทั้ง 2ส่วนต่อขยายไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตรโดยเส้นทางกาญจนาภิเษกเชื่อมมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ ระทางประมาณ 30 กิโลเมตร ส่วนเส้นทางกาญจนาภิเษก-บางใหญ่ ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร
ด้านนายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการกทพ.กล่าวเสริมว่าเส้นทางทางด่วนพระราม3-ดาวคนอง -กาญจนาภิเษกใช้งบกว่า 3 หมื่นล้านบาทที่ขณะนี้รอสคร.เคาะความชัดเจนด้านการลงทุนก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(คณะกรรมการพีพีพี) อนุมัติให้ดำเนินโครงการต่อไป
ทั้งนี้งบประมาณดำเนินโครงการเส้นทางพระราม 3-ดาวคะนอง-กาญจนาภิเษก วงเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท ส่วนทางด่วน N2 วงเงินราว 2 หมื่นล้านบาท นอกจากนั้นกทพ.ยังเตรียมนำเสนอทางด่วนเส้นทางบูรพาวิถีเข้ากองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์เพื่อนำเงินไปลงทุนในโครงการอื่นๆซึ่งคาดว่าจะได้งบประมาณมากพอโดยปัจจุบันทางด่วนบูรพาวิถีมีรถใช้บริการมากกว่า 1.5 แสนคันต่อวัน และคาดว่าจะมีรายได้จากการจัดเก็บค่าผ่านทางของปี 2559 นี้เกือบ 2,000 ล้านบาท
นอกจากนั้นกทพ.ยังมีความพร้อมที่จะดำเนินโครงการทางด่วน N2 ช่วงเกษตรนวมินทร์ที่ปัจจุบันก่อสร้างตอม่อรองรับไว้แล้ว แม้ว่าสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) จะมีผลศึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลเพื่อทดแทนกรณีที่ทางด่วนสายเหนือ ช่วง N 1 N2 N3 ตามที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ประท้วงไม่ให้ดำเนินโครงการ แต่หากเส้นทางนี้ก่อสร้างจะช่วยบรรเทาปัญหาจราจรถนนเกษตรนวมินทร์ได้อย่างมาก
เช่นเดียวกับกรณีที่กทพ.อยากเห็นจุดเชื่อมต่อทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตกต่อขยายขึ้นไปทางเหนือ ขณะนี้ได้เจรจากับการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ในการปักตอม่อกว่า 10 ต้นผ่านการเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว โดยคณะกรรมการกำกับสัมปทานเส้นทางนี้เห็นชอบแล้ว จะเจรจาบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(บีอีเอ็ม) ให้ไม่มีการจัดเก็บค่าผ่านทาง ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร อีกทั้งบีอีเอ็มยังจะช่วยสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้าง ส่วนกทพ.จ่ายค่าเช่าที่ดินให้ร.ฟ.ท.ซึ่งกรณีเชื่อมกับโทลล์เวย์ก็คิดพร้อมกันแต่อาจต้องใช้ระยะเวลาเรื่องแบบและพื้นที่ ทั้งบีอีเอ็มและโทลล์เวย์ร่วมมือกันทำ
"สำหรับช่วง N2 ปัจจุบันออกแบบเสร็จแล้ว ปรับทางขึ้นลงบางช่วงโดยล่าสุด สนข.ให้กทพ.เสนอครม.ได้เลย ซึ่งช่วงปลายทางชนวงแหวนตะวันออก แต่ไม่ทำช่วง N3 เพราะมีหมู่บ้านขึ้นมากแล้ว อีกทั้งยังสามารถเชื่อมมอเตอร์เวย์ตะวันออกคาดว่าจะลงทุนกว่าหมื่นล้านบาทสร้าง N2และยืนยันพร้อมกู้ลงทุนเองคาดปีหน้าได้ตัวผู้รับเหมาแน่ โดยเส้นทางนี้ปัจจุบันกทพ.ลงทุนตอม่อ742 ล้านบาทโดยจะหารือทล.สร้างสะพานข้ามแยกร่วมกันไปด้วย"
นายณรงค์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกทพ.มีโครงการเร่งด่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการจำนวน 3โครงการ คือทางด่วนพระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก โครงการระบบทางด่วนขั้น 3 สายเหนือ ช่วง N2 ช่วงจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปเชื่อมกับทางด่วนฉลองรัชและทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 และทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง- ภูเก็ต นอกจากนั้นยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมอีกจำนวน 4 โครงการคือ โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี วงเงินกว่า 9.6 หมื่นบ้านบาท โครงการทางพิเศษอุดรรัถยา-พระนครศรีอยุธยา วงเงินศึกษากว่า 29 ล้านบาท วงเงินลงทุนกว่า 3.1 หมื่นล้านบาทโครงการทางพิเศษในจังหวัดเชียงใหม่ วงเงินศึกษากว่า 21 ล้านบาทและโครงการทางพิเศษในจังหวัดขอนแก่น
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,215 วันที่ 4 - 7 ธันวาคม 2559