กทพ. เปิดรับฟังความเห็น ปลุก “ทางด่วนเชื่อมเกาะสมุย” 3.3 หมื่นล้าน

08 ส.ค. 2566 | 11:21 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ส.ค. 2566 | 16:23 น.

“การทางพิเศษฯ” ลุยเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนรอบแรก ดัน “ทางด่วนเชื่อมเกาะสมุย” 3.3 หมื่นล้านบาท คาดได้ข้อสรุป ต.ค.67 ลุ้นเปิดให้บริการปลายปี 75

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า กทพ.ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย ระยะทางรวม 20 กิโลเมตร(กม.) งบประมาณ 33,900 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 31,400 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 2,500 ล้านบาท ที่ผ่านมากทพ.ได้ดำเนินการโครงงการทางด่วนในกรุงเทพฯหลายโครงการ ซึ่งเล็งเห็นว่าต่างจังหวัดที่มีความเจริญอยากให้มีการพัฒนาในเรื่องนี้ โดยมีดำเนินการโครงการแรกที่นำร่อง คือ  โครงการทางพิเศษกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต และโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จ.ตราด 

กทพ. เปิดรับฟังความเห็น ปลุก “ทางด่วนเชื่อมเกาะสมุย” 3.3 หมื่นล้าน

“ที่ผ่านมาโครงการนี้กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เป็นผู้รับผิดชอบ แต่ด้วยสภาพทางเศรษฐกิจในช่วงปี 65 ทางกระทรวงคมนาคมมีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่มีความพร้อมในด้านเทคโนโลยีและทางด้านการเงินเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ทั้งนี้ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาโครงการนี้ถูกโอนให้กทพ.เป็นผู้รับผิดชอบ โดยจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาโครงการ พบว่าเส้นทางจากอ.ขนอม-เกาะสมุย มีระยะทางที่สั้นกว่า ทำให้กทพ.ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นทั้ง 2 จังหวัด ประกอบด้วย สุราษฎร์ธานี,สมุย และนครศรีธรรมราช” 
 

ทั้งนี้สาเหตุที่มีความจำเป็นของโครงการฯ เนื่องจาก เกาะสมุยเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้” แต่ในปัจจุบันการเดินทางมายังเกาะสมุยสามารถเดินทางได้เพียง 2 รูปแบบ คือ ทางอากาศและทางน้ำ ซึ่งมีข้อจำกัดด้านปริมาณและจำนวนเที่ยวในการให้บริการ ส่งผลกระทบต่อความสะดวกสบายในการเดินทาง และกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว 

กทพ. เปิดรับฟังความเห็น ปลุก “ทางด่วนเชื่อมเกาะสมุย” 3.3 หมื่นล้าน

นอกจากนี้หากเกิดเหตุฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต้องเดินทางจากเกาะสมุยมายังจังหวัดสุราษฎร์ธานีหรือจังหวัดนครศรีธรรมราช จะไม่สามารถเดินทางได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้ามรสุมที่ไม่สามารถเดินทางด้วยเรือ ซึ่งการมีทางเชื่อมข้ามเกาะจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางได้
 

รายงานข่าวจากบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า กทพ. ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอพซิลอน จำกัด และบริษัท เทสโก้ จำกัด เพื่อดำเนินการศึกษาความเหมาะสมฯ ระยะเวลา 720 วัน (24 เดือน) เริ่มศึกษาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566-20 มีนาคม 2568 โดยจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (ผลการคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสม) ภายในเดือนธันวาคม-มกราคม 2567 และเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 (สรุปผลการศึกษา) ภายในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567 

กทพ. เปิดรับฟังความเห็น ปลุก “ทางด่วนเชื่อมเกาะสมุย” 3.3 หมื่นล้าน

รายงานข่าวจากบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวต่อว่า หากโครงการฯศึกษาแล้วเสร็จ กทพ. จะเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการต่อไป หลังจากนั้นจะเริ่มคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนภายในปี 2571 และสามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ทันที คาดว่าจะเปิดให้บริการปลายปี 2575

กทพ. เปิดรับฟังความเห็น ปลุก “ทางด่วนเชื่อมเกาะสมุย” 3.3 หมื่นล้าน

สำหรับโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย มีจุดเริ่มต้นโครงการฝั่งแผ่นดินใหญ่ ประกอบด้วย 1.บริเวณ กม.30+700 ของทางหลวงหมายเลข 4142 ในพื้นที่ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี 2.บริเวณ กม.4+900 ของทางหลวงชนบทหมายเลข นศ.4044 ในพื้นที่ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช และ3. บริเวณ กม.9+400 ของทางหลวงชนบทหมายเลข นศ.4044 ในพื้นที่ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช 

 

นอกจากนี้บริเวณจุดสิ้นสุดโครงการจะอยู่ในพื้นที่ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกอบด้วย 1. บริเวณ กม.5+650 ของทางหลวงหมายเลข 4170 ด้านเหนืออ่าวพังกา 2. บริเวณ กม.6+100 ของทางหลวงหมายเลข 4170 (แยกพังกา) ซ้อนทับกับถนนท่าเรือไปเกาะแตน และ 3. บริเวณ กม.9+000 ของทางหลวงหมายเลข 4170 ท้ายอ่าวหินลาด ทั้งนี้ มีแนวเส้นทางเลือกที่มีความเป็นไปได้เชื่อมต่อจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด จำนวน 7 แนวทางเลือก