"พิมพ์ภัทรา"สั่งรื้อโครงสร้างใหญ่ หลังขีดแข่งขันอุตฯไทยแย่สุดอาเซียน

02 ก.พ. 2567 | 11:52 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.พ. 2567 | 11:52 น.

"พิมพ์ภัทรา"สั่งรื้อโครงสร้างใหญ่ หลังขีดแข่งขันอุตฯไทยแย่สุดอาเซียน ระบุโดยเฉลี่ย 5 ปี ติดลบ 1% ขณะที่มาเลเซียเติบโต 2% เวียดนามเติบโต 4% อินโดนีเซีย 0% ชี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมสั่งการให้ สศอ.เร่งจัดข้อมูลข้อสรุปเพื่อเดินหน้าแผนการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยทั้งระบบ หวังยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยให้กลับมาแข็งแรงโดยเร็ว

ทั้งนี้ เนื่องจากพบว่าจากการศึกษาข้อมูลความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมของไทย เทียบกับ 5 ประเทศหลักในอาเซียน ทั้งมาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ระหว่างปี 2560-64 ไทยมีขีดแข่งกันแย่ที่สุด โดยเฉลี่ย 5 ปี ติดลบ 1% 

ขณะที่มาเลเซียเติบโต 2% เวียดนามเติบโต 4% อินโดนีเซีย 0% และฟิลิปปินส์ ติดลบ 1% แม้ไทยติดลบเท่าฟิลิปปินส์ แต่อุตสาหกรรมไทยมีศักยภาพสูงกว่าและพัฒนามานานกว่า จึงแสดงให้เห็นว่าศักยภาพการผลิตของไทยกำลังลดลง
 

นอกจากนี้เฉพาะปี 2566 เมื่อเปรียบเทียบดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) กับ 5 ประเทศหลักในอาเซียน ยังพบว่า MPI ของไทยในภาพรวมลดลงมากที่สุด โดยเดือนธันวาคมติดลบ 6.27% ขณะที่มาเลเซียเดือนพฤศจิกายน 2566 เติบโต 0.6% เวียดนามเดือนธันวาคม 2566 เติบโต 7.6% อินโดนีเซียเเดือนกันยายน 2566 ลดลง 1.89% และฟิลิปปินส์เดือนพฤศจิกายน 2566 เติบโต 1.9%

สั่งรื้อโครงสร้างใหญ่ หลังขีดแข่งขันอุตฯไทยแย่สุดอาเซียน

สถานการณ์การผลิตของไทยขณะนี้น่าเป็นห่วง ที่ผ่านมารัฐบาลชุดเดิมมีความพยายามจะปรับโครงสร้าง เดินหน้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ แต่ภาพการไปสู่จุดนั้นไม่ปะติดปะต่อกันเท่าใดนัก โดยปัญหาของไทยคือการผลิตสินค้าไม่ตรงตามความต้องการตลาด ควรมุ่งเน้นสินค้าที่โลกต้องการ โดยเฉพาะสินค้ากรีน ลดคาร์บอน และควรมุ่งเน้นผลิตสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มมากกว่าสินค้าพื้นฐานแปรรูปขั้นต้นที่มีมูลค่าน้อย 

สำหรับปัจจุบันสินค้าที่โลกมีความต้องการและมูลค่าสูง แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 

  • กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 
  • กลุ่มยาและวัคซีน 
  • กลุ่มยานพาหนะ 
  • กล่มสินค้าเกษตร 

นางวรวรรณ กล่าวอีกว่า เมื่อจัดทำแผนการปฏิรูปโครงสร้างแล้วเสร็จ คาดว่านางสาวพิมพ์ภัทรา จะนำเสนอนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป 

โดยแผนยกระดับขีดแข่งขันไทยจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเบื้องต้น สศอ.จะเร่งทำแผนย่อยคือ การเร่งให้ผู้ประกอบการไทยผลิตสินค้ากรีน เพราะเป็นโจทย์สำคัญของโลก ตอบโจทย์เทรนด์ผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศสำคัญของโลกต่างนำมาใช้กีดกันทางการค้า 

"สศอ.จะสนับสนุนผู้ประกอบการมีกระบวนการผลิตที่เป็นกรีน ตลอดซัพพลายเชน ลดหรือเลิกการปล่อยคาร์บอน นอกจากนี้จะผลักดันให้มีการรีไซเคิลในภาคผลิตไทย เพื่อให้สินค้าถูกนำมาใช้ประโยชน์สูงสุด ลดขยะเป็นศูนย์"