ถอดรหัส"รมว.อุตสาหกรรม"ทำไมต้องตั้ง"กรมอุตสาหกรรมฮาลาล"

30 ม.ค. 2567 | 08:29 น.

ถอดรหัส"รมว.อุตสาหกรรม"ทำไมต้องตั้ง"กรมอุตสาหกรรมฮาลาล" ระบุรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก หลังมองเห็นโอกาสการขยายตัวในระดับโลก เหตุมีผู้บริโภคกว้างขวางมากในประเทศกลุ่มมุสลิมหลายภูมิภาคของโลก

กระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้การนำของ "พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีภารกิจสำคัญในการจัดตั้ง "กรมอุตสาหกรรมฮาลาล" ซึ่งต่อยอดมาจากการหารือร่วมกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งต้องการเร่งยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาล โดยมองว่าจะเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทย 

นางสาวพิมพ์ภัทรา ระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวคิดเพื่อความรวดเร็วและเห็นผลการปฏิบัติว่า จะต้องมีหน่วยงานหลักระดับ “กรม” ซึ่งจะต้องเป็นอีกกรมหนึ่งของกระทรวงอุตสาหกรรมทำงานรองรับอุตสาหกรรมนี้โดยเฉพาะจากความละเอียดอ่อนในแง่มุมต่าง ๆ และการควบคุมมาตรฐานให้เป็นไปตามหลักการฮาลาลสากล

"รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล มองเห็นโอกาสการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในระดับโลก เพราะมีผู้บริโภคที่กว้างขวางมากในประเทศกลุ่มมุสลิมหลายภูมิภาคของโลก ทั้งตะวันออกกลาง แอฟริกา หรือแม้แต่ในภูมิภาคเอเชีย" 
 

ชงครม.ตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาล

นางสาวพิมพ์ภัทรา บอกอีกว่า ล่าสุดเตรียมที่จะเสนอรายละเอียดการตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาล เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆนี้ โดยมองว่าประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากอุตสาหกรรมฮาลาลนั้น คือเรื่องของโอกาส รวมถึงที่สำคัญก็คือการสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศผู้ซื้อ ซึ่งต้องยอมรับว่าไทยไม่ใช่ประเทศมุสลิม 

ถอดรหัส"รมว.อุตสาหกรรม"ทำไมต้องตั้ง"กรมอุตสาหกรรมฮาลาล"

แต่ประเด็นที่สำคัญก็คือจะทำอย่างไรให้ได้รับการยอมรับ และรับรองให้ได้ โดยเชื่อมั่นว่าถ้าทำให้เป็นมาตรฐานสากลได้ จะเพิ่มมูลค่าการตลาดส่งออกฮาลาลได้ 1-2 เท่าตัว ใน 1-2 ก็น่าจะเห็นผล 

โดยกรมฯจะมีประธานเป็นทูตพาณิชย์ เพราะจะต้องมีการเดินทางไปเจรจาการค้า หรือเปิดตลาดในต่างประเทศเป็นหลัก นอกจากนี้ประเด็นที่สำคัญคือจะต้องไปหารือกับประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยก่อน เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน และมีการส่งสัญญาณต่อไปยังแต่ละจังหวัด

"ต้องเรียนว่าการดำเนินการดังกล่าวกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้ต้องการก้าวล่วงอำนาจฝ่ายใด ดังนั้น จึงมีการทำตามขั้นตอนอย่างเป็นระบบ"
 

มูลค่าพุ่ง 2.325 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ 

ทั้งนี้ จากข้อมูลในปี 2564 ตลาดอุตสาหกรรมฮาลาลโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าในปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 2.325 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตเฉลี่ย 7.5% ต่อปี และในปี 2565 มูลค่าการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยมีมูลค่า 213,816 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งในตลาดโลก 2.7% เป็นอันดับที่ 11 ของโลก  

สำหรับอาหารฮาลาลส่งออกของไทยส่วนใหญ่ 78% เป็นฮาลาลโดยธรรมชาติ ส่วนที่เหลือ 22% ต้องผ่านการรับรองฮาลาล โดยเฉพาะกลุ่มเนื้อสัตว์และอาหารพร้อมรับประทาน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีโอกาสหารือกับ Saudi Standards, Metrology and Quality Organization หรือ SASO หน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องมาตรฐานต่าง ๆ ของซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นตลาดสินค้าฮาลาลขนาดใหญ่ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลในภูมิภาค (Halal Hub) ที่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งในประเทศและแถบตะวันออกกลาง 

อย่างไรก็ดี "ฐานเศรษฐกิจ" สืบค้นข้อมูลจากการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) พบว่า ปัจจุบันตลาดอาหารฮาลาล (Halal Food) กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากประชากรในกลุ่มประเทศมุสลิมมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องและมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันไทยมีการผลิตอาหารฮาลาลเพื่อจำหน่ายแก่มุสลิมในประเทศ และส่งออกไปในต่างประเทศ

ถอดรหัส"รมว.อุตสาหกรรม"ทำไมต้องตั้ง"กรมอุตสาหกรรมฮาลาล"

โดยไทยมีจุดแข็งด้านคุณภาพวัตถุดิบ อีกทั้งอุตสาหกรรมอาหารของไทยยังมีความเข้มแข็ง มีชื่อเสียงที่ดีในตลาดโลก ทั้งในด้านมาตรฐาน คุณภาพ และรสชาติอาหารไทย

ประเภทสินค้าอาหารฮาลาลที่ไทยส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ OIC ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรกของปี 2564 ได้แก่ ธัญพืช มูลค่าการส่งออก 1,063.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ   ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลา สัตว์น้ำฯ มูลค่า619.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  น้ำตาลและขนมทำจากน้ำตาล มูลค่า522.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้ง สตาร์ช หรือนม ผลิตภัณฑ์อาหารจำพวกพาย มูลค่า330.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ ของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ มูลค่า260.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนตลาดส่งออกอาหารฮาลาลของไทย (เฉพาะกลุ่มประเทศ OIC) ที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรกของปี 2564 ได้แก่  มาเลเซีย มูลค่าส่งออก 1,193.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  อินโดนีเซีย 885.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 228.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  อียิปต์ 225.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ) เยเมน 165.00 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากการส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไปยังตลาดต่างประเทศแล้ว ตลาดอาหารฮาลาลในประเทศก็เป็นอีกตลาดหนึ่งที่มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศชาวมุสลิม ดัชนีการท่องเที่ยวมุสลิมทั่วโลก (Global Muslim Travel Index: GMTI) ปี 2022  จัดทำโดย Mastercard-CrescentRating รายงานว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 3 ของจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับชาวมุสลิม เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม (Non-OIC) รองจากสิงคโปร์ และไต้หวัน ซึ่งอันดับสูงขึ้นจากปี 2021 ที่อยู่ในอันดับที่ 4