กระทรวงอุตสาหกรรมรุกหนุน"เอสเอ็มอี"ขึ้นแท่น Smart SMEs เจาะตลาดโลก

29 ม.ค. 2567 | 07:39 น.

กระทรวงอุตสาหกรรมรุกหนุน"เอสเอ็มอี"ขึ้นแท่น Smart SMEs เจาะตลาดโลก ทั้งถอดบทเรียน พัฒนาถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก และการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ยังคงมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) อย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ มีการถอดบทเรียน พัฒนาถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ รวมถึงการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก โดยเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเติบโต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

สำหรับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ 9 จังหวัด มีผู้ขอรับสินเชื่อจากโครงการฯ จำนวน  2,138 ราย วงเงินรวมที่ขอ 2,833ล้านบาท โดยจังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่มีผู้ขอรับสินเชื่อจากโครงการฯ มากที่สุด จำนวน  545 ราย คิดเป็น 25% รวมเป็นจำนวนเงิน 587.17 ล้านบาท
 

ดร.ณัฐพล กล่าวอีกว่า กระทรวงฯมีนโยบายในการสนับสนุนและขับเคลื่อนศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs แบบองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนแหล่งเงินทุน การลงทุนในเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งการวางแผนธุรกิจที่ชัดเจน การวิเคราะห์ตลาดอย่างรอบคอบ การบริหารการเงินอย่างเป็นระบบและการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป 

กระทรงอุตสาหกรรมรุกหนุน"เอสเอ็มอี"ขึ้นแท่น Smart SMEs เจาะตลาดโลก

โดยใช้กลไกของกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs สู่การเป็น Smart SMEs และ Global SMEs รวมถึงการยื่นรับรองมาตรฐาน เช่น ฮาลาล GMP ตลอดจนการยกระดับด้วยเทคโนโลยี 

และ Ecosystem เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SME ที่สำคัญกระทรวงอุตสาหกรรม มีกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนให้ SMEs เพื่อพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง 

นายจักริน วังวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาระมิงค์ จำกัด กล่าวว่า จากประสบการณ์ในการเข้าร่วมโครงการกับกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ทำให้รู้ว่า SME ที่ต้องการขอสินเชื่อจะต้องวางแผนการเงินอย่างรอบคอบและสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถคืนเงินกู้ได้ โดยต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบของบริษัท ความครีเอทีฟ และแพคเก็จจิ้ง รวมทั้งสิ่งที่จะตอบสนองตลาดได้ 

นายอนุสิทธิ มานิตยกูล หนึ่งในผู้สืบทอด บริษัท สยามศิลาดล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องปั้นดินเผาศิลาดล กล่าวว่า บริษัทฯ มีแผนที่จะลงทุนในการไปปรับปรุงเรื่องการทำแขนกล เพื่อมาทำการพ่นตัวน้ำเคลือบที่ในอดีตใช้เครื่องที่ใช้แรงงานคน 

ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ ได้นำเรื่องของแขนกลเข้ามาช่วยทำให้การบริหารจัดการสามารถประหยัดต้นทุนและทำให้การผลิตเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น