สกพอ.เร่งบิ๊กโปรเจ็กต์อีอีซี ดันเป้าลงทุน2.2ล้านล้านใน5ปี

28 ต.ค. 2566 | 18:39 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2566 | 18:49 น.

รัฐบาลติดเครื่องยนต์อีอีซี ดันอภิโปรเจ็กต์ ไฮสปีด 3 สนามบิน-อู่ตะเภา-ท่าเรือแหลมฉบังเสร็จใน 4 ปี เพิ่มความเชื่อมั่น นักลงทุนต่างชาติ ให้สิทธิประโยชน์ ดูดเม็ดเงิน

 

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งแรก ( 17 ตุลาคม 2566) ของรัฐบาลเศรษฐา มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้พิจารณาร่างแผนดำเนินการในระยะ 1 ปี (ตุลาคม2566-กันยายน2567) และเป้าหมายเร่งด่วนภายใน 99 วัน เพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ

โดยมีข้อสั่งการให้เร่งรัดโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้เดินหน้าโดยเร็ว โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่ยังมีปัญหาการเจรจาเพื่อนำไปสู่ข้อยุติการแก้สัญญาระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัดเครือซีพีผู้รับสัมปทานเพื่อลงมือก่อสร้างโดยเร็ว

รวมถึงสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ขณะท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยกระทรวงคมนาคมยืนยันว่าเป็นโครงการที่ดีและต้องเร่งสานต่อให้เดินหน้าโดยเร็ว อย่างไรก็ตามทุกโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ ต้องแล้วเสร็จภายใน 4 ปีหรือภายในรัฐบาลชุดนี้

เศรษฐกิจโต 5% ต่อปี

 นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้วางแผนแนวทางการสนับสนุนด้านการลงทุนซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญหลัก และเร่งสร้างความเชื่อมั่นดึงนักลงทุนสู่พื้นที่ อีอีซี ได้แก่ 1.เรื่องที่ดิน 2.ด้านแรงงาน 3. Law and regulations และ 4.Logistics infrastructure

เพื่อผลักดันให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อลดต้นทุนในการประกอบกิจการ โดยกำหนดเป้าหมายหลักดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศ 2.2 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี (ปี 2566-2570) คาดว่าจะทำให้เกิดการลงทุน 4 แสนล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นการลงทุนในฐานปกติ 250,000 ล้านบาทต่อปี และการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ 150,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโต 5% ต่อปี ซึ่งเป็นเป้าหมายเดิมที่วางไว้และจะต้องผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด

ผวา ไฮสปีดฉุดอู่ตะเภา

 สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งมี บริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด เครืองซีพีเอกชนคู่สัญญากับรฟท. ขณะนี้อยู่ระหว่างรอ รฟท.หารือร่วมกับเอกชนแก้ไขสัญญาก่อนเสนอกลับมาที่บอร์ดกพอ. เห็นชอบ หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป โดยการแก้ไขสัญญาในครั้งนี้ทางอีอีซีกำหนดให้ได้ข้อสรุปภายใน 99 วัน

“พยายามเร่งรัดการเจรจาแก้ไขสัญญาให้แล้วเสร็จตามกำหนด เพราะไม่เช่นนั้นจะไปผูกพันกับโครงการสนามบินอู่ตะเภา เนื่องจากบริเวณพื้นที่ช่วงท้ายของสนามบินเป็นทางผ่านของไฮสปีดที่จะต้องมีการก่อสร้างทางลอดเชื่อมเข้าสนามบินด้วย”

 ส่วนกรณีที่การเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมกับเอกชนยังไม่ได้ข้อสรุปมีความเป็นไปได้ที่จะให้รฟท.เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างในช่วงพื้นที่ทับซ้อนร่วมกับไฮสปีด ไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง หรือไม่นั้น รฟท.จะดำเนินการลักษณะนั้นไม่ได้ เนื่องจากในร่างสัญญาเดิมได้ระบุให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ หากรฟท.จะดำเนินการได้ต่อเมื่อต้องแก้ไขร่างสัญญาหรือยกเลิกสัญญาเดิมไปก่อนถึงจะดำเนินการได้

 ด้านการส่งมอบพื้นที่และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กิโลเมตร ปัจจุบันไม่ได้ติดปัญหาอะไร ได้รับทราบว่าได้มีการส่งมอบพื้นที่ไปแล้ว ขณะที่การส่งมอบพื้นที่และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค ช่วงพญาไท-บางซื่อ ระยะทาง 12 กิโลเมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินงานรื้อย้ายท่อน้ำมันในพื้นที่โครงการ คาดว่าส่งมอบพื้นที่ได้ภายในเดือนมกราคม 2567

ขณะที่ความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงิน 290,000 ล้านบาท โดยมีกองทัพเรือ (ทร.) เป็นเจ้าของโครงการ และมีบจ.อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น (UTA) เป็นผู้รับสัมปทาน 50 ปี ปัจจุบันได้รับทราบว่า ทร.จะดำเนินการประกาศประกวดราคางานก่อสร้างงานก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) เส้นที่ 2 และทางขับสนามบินอู่ตะเภา วงเงิน 16,493.76 ล้านบาท ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

 “หลังจากนั้นอีอีซีจะดำเนินการออกหนังสือแจ้งให้เอกชนเริ่มงาน (Notice to Proceed: NTP) ได้ภายในปลายปี 2566 หรือช้าสุดภายในเดือน มกราคม 2567 ให้เอกชนเริ่มก่อสร้างได้ทันที”

บิ๊กโปรเจ็กต์อีอีซี

 ส่วนโครงการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 วงเงินกว่า 55,400 ล้านบาท ที่ผ่านมา บริษัทกัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) ก่อสร้างงานขุดลอกและถมทะเลแล้ว ซึ่งเกินกว่าแผนที่วางไว้คาดว่า เปิดบริการได้ปี 2570

  ขณะเดียวกันสกพอ.มีแผนเดินหน้าศูนย์กลางธุรกิจเมืองใหม่อัจฉริยะ ที่ชำระค่าที่ดินแล้วบางส่วน เบื้องต้นต้องของบประมาณปี 2567 เพื่อเริ่มดำเนินการจัดทำระบบโครงสร้างพื้นฐาน,ระบบน้ำ และระบบไฟ และให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ในพื้นที่อุตสาหกรรมทางการแพทย์, สำนักงาน, ที่พักอาศัย ฯลฯ

  นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ปัจจุบันกทท.ได้ส่งมอบงานก่อสร้างในส่วนของงานพื้นที่ถมทะเล 1 (Key Date1) และพื้นที่ถมทะเล 2 (Key Date2) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่พื้นที่ถมทะเล 3 (Key Date3) คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ท่าเทียบเรือ F ขนาด 1,000 เมตร ให้บริษัทจีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (GPC) เอกชนคู่สัญญาได้ภายในกลางปี 2567 เป็นต้น