บอร์ด EEC นัดแรก ขีดเส้นเคลียร์สัญญาไฮสปีดเทรน จบ ม.ค. 2567

17 ต.ค. 2566 | 14:39 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ต.ค. 2566 | 14:56 น.

บอร์ด EEC นัดแรก “ภูมิธรรม” ขีดเส้นเจรจาสัญญาไฮสปีดเทรน จบ ม.ค. 2567 ให้ สำนักงาน กอพ. คุย รฟท. และ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ซึ่งเป็นเอกชนคู่สัญญา เคลียร์ให้จบ พร้อมดันอู่ตะเภา รับปากรัฐบาลนี้จะทำให้เกิดให้ได้

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) นัดแรก ว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้ สำนักงาน กพอ. เร่งไปเจรจาหาข้อสรุปเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มูลค่าการลงทุน 281,941 ล้านบาท ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ซึ่งเป็นเอกชนคู่สัญญา ให้เสร็จภายในเดือนมกราคม 2567

เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมกราคม 2567 เพื่อให้เอกชนคู่สัญญาพร้อมเริ่มต้นขั้นตอนการก่อสร้าง ได้ตั้งแต่ต้นปี 2567 เพราะทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องใหญ่และมีปัญหาค้างมาอยู่นาน

“รัฐบาลมีนโยบายให้เดินหน้าโครงการอยู่ที่ สำนักงาน กพอ. จะต้องไปเจรจาให้ได้ข้อสรุป อย่างน้อยก็อยากให้เคลียร์สัญญาให้จบภายใน 99 วัน ซึ่งรัฐบาลคาดหวังว่าการก่อสร้างต่าง ๆ จะเกิดขึ้นได้ตามแผนก่อนที่รัฐบาลจะจบลง โดยสัญญาต่าง ๆ ที่ต้องเคลียร์ และการลงมือทำจะเกิดให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเร็วที่สุด โดยได้กำหนดเป็นแนวนโยบายว่าไม่ต้องรอโครงการไหนเสร็จก่อร แต่ให้ทำพร้อม ๆ กันไปร่วมกัน และจบลงได้ด้วยดี” นายภูมิธรรม กล่าว

 

การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) นัดแรก

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาการเจรจาสัญญารถไฟความเร็วสูงมีประเด็นค้างอยู่ คือการปรับข้อสัญญาในกรณีที่เกิดสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงลงนามในสัญญา ซึ่ง รฟท. จะไปเจรจาข้อสัญญากับภาคเอกชน และเมื่อได้ข้อสรุป จะเสนอเข้ามาในที่ประชุม กพอ. อีกครั้ง และเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

“ตอนนี้ขอดูในเชิงนโยบายก่อนว่า จะเดินต่อยังไง และในเชิงนโยบายจะต้องมีข้อตกลงอย่างไรในช่วงเวลา 99 วัน หรือถ้าไม่ต่อจะทำยังไง ก็ต้องคุยกันให้จบ และดูให้รอบด้าน เพราะถ้าไม่จบจะมีผลกระทบไปถึงโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาด้วย โดยจะต้องเจรจาครอบคลุม ทั้งเรื่องแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ และไฮสปีดเทรนไทย-จีน มาคุยหมด ถ้าพบว่าอะไรที่เป็นปัญหาและไม่ได้เกี่ยวพันกับสัญญานี้ อาจจะต้องดึงออกไป เพื่อให้สัญญานี้เดินต่อด้วย” นายจุฬา ระบุ

นายจุฬา กล่าวว่า ในแผนการดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใน EEC ปัจจุบันหากการเจรจาสัญญาจบการก่อสร้างจะเริ่มต้นนับหนึ่งและเสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 4 ปี ถ้าเริ่มเร็วก็อยู่ในวิสัยว่าจะเกิดขึ้นได้ในรัฐบาลนี้ ซึ่งขั้นตอนการแก้ไขสัญญายังอยู่ในกระบวนการที่ รฟท. หารือกับทางสำนักอัยการสูงสุด จากนั้นจึงหารือกับเอกชนคู่สัญญา ซึ่งจะได้ข้อสรุปตามกำหนด 99 วัน

 

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)

สำหรับการประชุมบอร์ดครั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างแผนดำเนินการในระยะ 1 ปี (ต.ค.66 - ก.ย.67) และเป้าหมายเร่งด่วนภายใน 99 วัน ลงมือทำจริง เพื่อดึงดูดเงินลงทุนทั่วโลกผ่านอุตสาหกรรมเป้าหมาย ใน 5 คลัสเตอร์หลัก (การแพทย์ ดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) BCG บริการ) ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายหลักของรัฐบาล 

สำหรับเป้าหมายเร่งด่วนใน 99 วัน ของอีอีซี แบ่งออกเป็น 8 ด้าน ได้แก่

1. ด้านนโยบาย

เดือนธันวาคม 2566 จัดทำแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (2566 – 2570) ซึ่งจะเป็นกรอบดำเนินงานหลักของอีอีซี บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ มุ่งเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่ในทุกมิติ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยแนวทางพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่

  • ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต
  • เพิ่มประสิทธิภาพ และการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค
  • ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม
  • พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย น่าอยู่อาศัยและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ
  • เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน 

2. ด้านการพัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุน

สร้างความพร้อมให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ อีอีซี โดยเดือนธันวาคม 2566 อีอีซี จะออกประกาศ กพอ. เรื่อง สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อดึงดูดการลงทุนในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ครอบคลุมด้านภาษี และมิใช่ภาษี เพื่ออำนวยความสะดวกนักลงทุน เช่น สิทธิในการได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร สิทธิการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือห้องชุด 

รวมไปถึงการอนุญาตอยู่อาศัยในระยะยาว (EEC Long term VISA) เป็นกรณีพิเศษ สำหรับผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และทำงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ อาทิ ผู้มีความเชี่ยวชาญ ผู้บริหาร ผู้ชำนาญการ ตลอดจนคู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะ เป็นต้น 

 

การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) นัดแรก

 

3. ด้านการสร้างระบบนิเวศสำหรับการลงทุน

เดือนมกราคม 2567 พัฒนาแหล่งระดมทุนอีอีซี (EEC Fundraising Venue) รองรับการระดมทุนที่ใช้เงินตราต่างประเทศเป็นหลัก โดยเริ่มจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ให้ผู้ระดมทุนทั้งบริษัทไทยและต่างประเทศ ที่ใช้เงินตราต่างประเทศ มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสให้แก่บริษัทไทยที่ไป จดทะเบียนในต่างประเทศให้มีทางเลือกในการระดมทุนมากขึ้น และจะเป็นการเพิ่มเครื่องมือทางการเงินที่แตกต่างให้กับผู้ลงทุนในตลาดได้

4. ด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน  

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน จะได้ข้อยุติการเจรจาและแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินโครงการฯ ระหว่าง รฟท. และ เอกชนคู่สัญญาร่วมลงทุน (บริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด) ส่วนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ภายในเดือนมกราคม 2567 เอกชนคู่สัญญาจะพร้อมเริ่มก่อสร้าง อย่างเป็นทางการ  

5. ด้านการจัดให้มีบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร

เดือนธันวาคม 2566 จะยกระดับการให้บริการอนุมัติ อนุญาต จำนวน 44 รายการ ครอบคลุม 8 กฏหมาย ตาม พรบ.อีอีซี ได้แก่ กฏหมายว่าด้วย การขุดดินและถมดิน การควบคุมอาคาร การจดทะเบียนเครื่องจักร การสาธารณสุข คนเข้าเมือง การจดทะเบียนพาณิชย์ โรงงาน และการจัดสรรที่ดิน 

โดยจะเพิ่มการพัฒนาระบบให้ครอบคลุมการให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เช่น สิทธิในการได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร ซึ่งจะทำให้พื้นที่อีอีซี เป็นเป้าหมายของนักลงทุนทั่วโลก

พร้อมกันนี้ ยังได้บูรณาการร่วมกับภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะด้านการพัฒนาบุคลากร เพื่อเตรียมกำลังคนรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักแต่ละด้านที่จะมาเป็นแต้มต่อ ทำให้นักลงทุนตัดสินใจเลือกเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย

ปัจจุบัน อีอีซี ได้เชื่อมความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา ผู้ประกอบการชั้นนำ ผ่านกลไกขับเคลื่อน 12 ศูนย์เชี่ยวชาญพัฒนาบุคลากร เพื่อเป็นฐานเรียนรู้หลัก จัดฝึกอบรมพัฒนาทักษะใหม่ที่จำเป็นและตรงกับความต้องการอุตสาหกรรม เช่น ด้านยานยนต์ไฟฟ้า ด้านดิจิทัล เป็นต้น

6. ด้านการพัฒนาพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ

เดือนตุลาคม 2566 จัดตั้งศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ มีพื้นที่พัฒนาระยะที่ 1 ประมาณ 5,795 ไร่ จากพื้นที่รวมทั้งโครงการ ประมาณ 14,619 ไร่ ทั้งนี้ การจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อรองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ การแพทย์และสุขภาพครบวงจร การพัฒนาบุคลากรและการศึกษา ดิจิทัล การบินและโลจิสติกส์ เป็นต้น 

การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษนิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์กรีนอินดัสเตรียล เอสเตท พื้นที่ 22,191.49 ไร่ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ พัฒนาระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการที่จำเป็น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร เป็นต้น 

เดือนมกราคม 2567 การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ยกระดับบริการสาธารณสุขในพื้นที่อุตสาหกรรมปลวกแดง  (EEC Advanced Healthcare : EEChc) เป็นการลงทุนโรงพยาบาลปลวกแดง 2 ในรูปแบบการร่วมลงทุน ระหว่างภาครัฐและเอกชน ให้ประชาชนที่อยู่อาศัยและทำงานในพื้นที่ อ.ปลวกแดง ได้รับบริการสาธารณสุขอย่างทันการ สะดวก ปลอดภัยและมีคุณภาพ ลดการเดินทางไปรักษาพยาบาลนอกพื้นที่

 

การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) นัดแรก

 

7. ด้านการเริ่มต้นการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ

เดือนธันวาคม 2566 เกิดการลงนามสัญญาเช่าพื้นที่ภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล EECd ได้แก่ บริษัท CtrlS Datacenter ผู้ประกอบการชั้นนำระดับโลก จากประเทศอินเดีย เช่าพื้นที่ 25 ไร่ ระยะเวลา 50 ปี เพื่อลงทุน ศูนย์ธุรกิจข้อมูล (Data Center) มูลค่าโครงการรวมกว่า 4,500 ล้านบาท 

รวมทั้งจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการฝึกอบรมเกี่ยวกับ Cloud Service  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เช่าพื้นที่ 5 ไร่ ระยะเวลา 20 ปี ลงทุนประกอบกิจการสถานี ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV Charging Station ให้บริการรองรับรถขนส่งขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมระบบโลจิสติกส์การขนส่งในพื้นที่ EEC และบริษัท ALBA จากประเทศเยอรมนี มีความประสงค์เช่าพื้นที่ เพื่อดำเนินโครงการต้นแบบดิจิทัลแพลตฟอร์มและศูนย์ควบคุมการรีไซเคิล ซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการลงทุนโครงการกว่า 1,300 ล้านบาท

8. ด้านการสร้างความเข้มแข็งของพื้นที่และชุมชน

เดือนธันวาคม 2566 ต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยชุมชน วิสาหกิจชุมชน และกิจการเพื่อสังคมในพื้นที่อีอีซี ให้ได้รับการรับรองเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบ (EEC Select) สนับสนุนการสร้างแนวคิดเชิงธุรกิจอย่างเป็นระบบ และได้รับการส่งเสริมและพัฒนาช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้น เดือนมกราคม 2567 

จัดตั้งศูนย์เครือข่ายพลังสตรี EEC ระดับจังหวัดและระดับอำเภอ เพื่อเป็นศูนย์การสร้างความเข้าใจและประโยชน์อีอีซี รวมไปถึงการขยายผลโครงการเยาวชน อีอีซี สแควร์ สร้างโอกาสให้เยาวชน ได้ต่อยอดแนวคิด คิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สามารถใช้ในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน

 

การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) นัดแรก