นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) เปิดเผยว่า ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม – สิงหาคม 2566) มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบริษัทไต้หวันในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวม 20 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท
โดยเป็นการผลิต PCB 7 โครงการ เช่น บริษัท Gold Circuit Electronics, ITEQ Corporation ,Taiwan Union Technology และเป็นการผลิตโน้ตบุ๊กให้กับ HP บริษัทคอมพิวเตอร์อันดับ 2 ของโลก จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ บริษัท QMB และ Inventec
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทรายใหญ่จากไต้หวันในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้เข้ามาลงทุนก่อนหน้านี้แล้ว เช่น บริษัท Delta Electronics ,Tatung ,Cal-Comp ,Techman ,Chicony ,Primax เป็นต้น
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของโลก และเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่บีโอไอให้ความสำคัญมาก เนื่องจากมีความเชื่อมโยงและเป็นฐานการพัฒนาที่สำคัญของอุตสาหกรรมอื่น ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ ดิจิทัล อุปกรณ์การแพทย์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลกขยายตัวอย่างมาก โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในแหล่งรองรับการลงทุนที่มีความโดดเด่น ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ระบบไฟฟ้ามีความเสถียร พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมีความพร้อมรองรับการลงทุนได้อีกมาก บุคลากรมีทักษะและความเชี่ยวชาญในด้านอิเล็กทรอนิกส์ ซัพพลายเชนครบวงจร และภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนที่แข่งขันได้ ทำให้ผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก โดยเฉพาะจากไต้หวัน ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก
สำหรับโครงการลงทุนจากไต้หวันส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board: PCB) คอมพิวเตอร์พกพา (Notebook) และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่นำระบบเซ็นเซอร์ Internet of Things (IoT) หรือระบบสมองกลฝังตัว (Embedded System) มาใช้ เช่น ลำโพงอัจฉริยะ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ (Wearable Device) เป็นต้น
ซึ่งบีโอไอได้มองเห็นถึงโอกาสและศักยภาพของไทยในการเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมดังกล่าว จึงได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนจากไต้หวันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประสานงานนำสมาชิกสมาคมผู้ผลิต PCB รายใหญ่จากไต้หวัน เดินทางสำรวจพื้นที่เพื่อวางแผนการลงทุนในประเทศไทยอย่างเร่งด่วนในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา ทำให้มีบริษัท PCB จากไต้หวัน ทยอยเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
“ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคมานานกว่า 40 ปี และได้พัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนในกลุ่มชิ้นส่วนและวัตถุดิบต่าง ๆ จนแข็งแกร่งและครบวงจร ทั้งยังผ่านประสบการณ์ทำงานร่วมกับบริษัทระดับโลกมาแล้ว จึงมีศักยภาพที่จะต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น การผลิตเวเฟอร์ และการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยไต้หวันเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ไทยจะดึงการลงทุน เนื่องจากเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก”ฃ
ปัจจุบันไต้หวันเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของโลก ครองส่วนแบ่งตลาดถึงกว่า 65% ของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของโลก โดยมีบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Corporation (TSMC) เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ สำหรับการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ซึ่งเป็นหัวใจของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ บริษัทไต้หวันก็เป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลก มีส่วนแบ่งในตลาดโลก 35%
"ปัจจุบันผู้ผลิต PCB ไต้หวัน 20 อันดับแรก ได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว 10 ราย เช่น WUS PCB, APEX, Dynamic Electronics, Gold Circuit, APCB เป็นต้น เมื่อรวมกับผู้ผลิต PCB จากประเทศอื่น เช่น จีน และญี่ปุ่น ที่เข้ามาลงทุนด้วย ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นคลัสเตอร์ PCB ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ตามมาด้วยประเทศเวียดนามและมาเลเซีย สำหรับผู้ผลิต PCB รายใหญ่ที่เหลือ เป็นเป้าหมายสำคัญที่บีโอไอจะเร่งเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเติม โดยบางรายได้ตอบรับและอยู่ระหว่างเตรียมการลงทุนในเร็ววันนี้
นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า การเข้ามาลงทุนของกลุ่มผู้ผลิต PCB จากไต้หวันในรอบนี้ ถือเป็นคลื่นการลงทุนสำคัญ ที่ไม่เพียงแต่จะสร้างเม็ดเงินจำนวนมากให้ประเทศเท่านั้น แต่จะช่วยยกระดับซัพพลายเชนในประเทศ เกิดการจ้างงานและการพัฒนาบุคลากรด้านอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรสมัยใหม่ รวมทั้งสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยที่มีศักยภาพได้เข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนอิเล็กทรอนิกส์ของโลก ผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงอุตสาหกรรมของบีโอไอ