นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) เปิดเผยว่า บีโอไอได้หารือร่วมกับ นายคัง จุงมัน นายกเทศมนตรีเมืองยองกวาง พร้อมคณะผู้บริหารและผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ที่เป็นสมาชิกของสมาคมนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแห่งเกาหลีใต้ (Korea Smart e - Mobility Association: KEMA)
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และยานพาหนะไฟฟ้าเพื่อการเกษตร รวมกว่า 20 ราย โดยได้เดินทางเข้ามาศึกษาลู่ทางการลงทุนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย
อย่างไรก็ดี บีโอไอยังได้เชิญผู้ประกอบการไทยที่เกาหลีให้ความสนใจ เช่น บริษัท พนัส เอสเซมบลีย์ จำกัด และบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตรถบัสและรถยนต์เชิงพาณิชย์รายใหญ่ของไทย เข้าร่วมนำเสนอข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย
สำหรับเกาหลีใต้นั้น ถือเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์และ EV ระดับโลก โดยมีผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น ฮุนได และเกีย ซึ่งเมืองยองกวาง เป็นเมืองที่มีอัตราการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV penetration rate) สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของเกาหลีใต้
และเป็นเมืองแรกที่รัฐบาลเกาหลีใต้กำหนดให้เป็นเมืองต้นแบบในการผ่อนปรนกฎระเบียบสำหรับรถยนต์ EV (Regulatory - free zone for e - mobility) และเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (e - Mobility Cluster) ของประเทศ
ซึ่งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นร่วมกันสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าแบบครบวงจร ตั้งแต่การใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า จักรยานไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า
รวมทั้งรถเชิงพาณิชย์ที่ใช้ในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงการส่งเสริมการจัดตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน การผลิตแบตเตอรี่ สถานีบริการอัดประจุ การพัฒนาระบบติดตามและบริหารจัดการข้อมูลการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ตั้งแต่ต้นทาง
นอกจากนี้ สถาบันเทคโนโลยียานยนต์แห่งเกาหลี (Korea Automotive Technology Institute: KATECH) ยังได้จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งสนามทดสอบยานยนต์และศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ในเมืองยองกวางด้วย
“ผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าจากเกาหลีใต้ ได้ให้ความสนใจอุตสาหกรรม EV ในประเทศไทยอย่างมาก เนื่องจากเห็นว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของภูมิภาค และมีซัพพลายเชนของชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ครบวงจร อีกทั้งภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV อย่างชัดเจน และตลาด EV ในประเทศไทยก็เติบโตสูงที่สุดในอาเซียน จึงสนใจเข้ามาศึกษาลู่ทางการลงทุน และหารือโอกาสการร่วมลงทุนกับพันธมิตรบริษัทไทย โดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กและรถเชิงพาณิชย์ที่ใช้สำหรับการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรม EV ไทยมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น และตอบโจทย์การใช้งานในหลายรูปแบบ”
นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยและเกาหลีใต้ ถือเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญมายาวนาน โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2561 – มิถุนายน 2566) เกาหลีใต้มีการขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 144 โครงการ มูลค่ากว่า 58,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ และดิจิทัล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง