โฆษกรัฐบาลเผยไตรมาสแรกปี 66 ต่างชาติลงทุนในไทยกว่า 3 หมื่นล้าน

30 เม.ย. 2566 | 09:32 น.
อัปเดตล่าสุด :30 เม.ย. 2566 | 09:37 น.

โฆษกรัฐบาลเผยไตรมาสแรก ปี66 คนต่างชาติเข้ามาลงทุนและประกอบธุรกิจในประเทศไทยแล้วเกือบ 200 ราย ขณะที่เม็ดเงินลงทุนสูงกว่า 3 หมื่นล้านบาท สาเหตุจากความเชื่อมั่นในประเทศดีขึ้น

วันนี้ (30 เม.ย.66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าด้วยนโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล รวมทั้งปัจจัยด้านศักยภาพสนับสนุนความเชื่อมั่นของต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย โดยในไตรมาสแรกของปี 2566 อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยแล้วเกือบ 200 ราย เงินลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท 

ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมความก้าวหน้าที่เห็นผลเป็นตัวเลขที่มีพัฒนาการ โดยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เปิดเผยถึง การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยแล้วจำนวน 174 ราย จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นเงินลงทุน 33,048 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานคนไทยแล้ว1,932 คน รวมทั้งเกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่คนไทยอีกด้วย โดย 5 อันดับแรกของชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนได้แก่

  • ญี่ปุ่น 46 ราย
  •  สิงคโปร์ 30 ราย 
  • สหรัฐฯ 25 ราย 
  • จีน 10 ราย
  • สมาพันธรัฐสวิส 9 ราย 

 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมี31 ราย ที่สนใจลงทุนในพื้นที่ EEC คิดเป็นร้อยละ 18 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด มีมูลค่าการลงทุน 3,264 ล้านบาทซึ่งจากการทำงานเพื่อดึงดูดผู้ลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ล่าสุด บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล หนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและระบบขับขี่อัจฉริยะ และผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของจีน ได้ตัดสินลงทุนในไทยกว่า 9,800 ล้านบาท สร้างฐานการผลิตรถยนต์ EV แห่งแรกนอกประเทศจีน เพื่อส่งออกทั่วโลก กำลังการผลิตในระยะแรก 1 แสนคันต่อปี เพื่อตอบสนองความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ถือได้ว่า ไทยมีความพร้อม และมีศักยภาพได้รับการยอมรับ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก