การลงทุนในหุ้นนั้นเรียบง่ายแต่ไม่ง่าย

29 เม.ย. 2566 | 17:23 น.
อัปเดตล่าสุด :29 เม.ย. 2566 | 17:23 น.

การลงทุนในหุ้นนั้นเรียบง่ายแต่ไม่ง่าย :คอลัมน์ Investing Tactic  โดย ณัช เรือนเพ็ชร์ (โค้ชณัช) ผู้ชนะการแข่งขัน TFEX Algorithmic Trading Workshop & Competition 2017 และ วิทยากรพิเศษโครงการ SITUP 

การลงทุนในหุ้นนั้นเรียบง่ายแต่ไม่ง่ายการลงทุนให้ประสบความสำเร็จนอกจากจะต้องเรียนรู้การวิเคราะห์หุ้น หาจุดเข้าจุดออกแล้ว ยังจำเป็นต้องฝืนอารมณ์ของมนุษย์ เช่น

  • หักห้ามใจตัวเองไม่ให้ซื้อทองตอนที่ราคาทองทำจุดสูงสุดใหม่
  • หักห้ามใจไม่ขายหุ้นตอนที่ราคาหุ้นตกหนักพร้อมข่าวร้ายเต็มตลาด
  • รวมทั้งความไม่แน่นอนของผลลัพธ์

ราคาหุ้นในระยะสั้นมีปัจจัยมากระทบมากมาย ไม่ว่าจะเป็น FED ปรับดอกเบี้ย การประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจ ข่าวร้ายต่างๆ ที่กระทบความกังวลของคนในตลาด หรือแม้ราคาหุ้นในระยะยาวจะสะท้อนกำไรของบริษัท แต่ตัวบริษัทเองก็มีปัจจัยไม่คาดฝันเช่นกัน เช่น COVID-19 ที่เป็นวิกฤตระดับโลกจนทำให้บางบริษัทที่ผลประกอบการดีมาตลอดต้องมาขาดทุนหรืออาจจะต้องปิดตัวลงไปเลย

สำหรับนักลงทุนมือใหม่ประสบการณ์น้อยที่กำลังหาแนวทางการลงทุนของตัวเอง จะเป็นนักลงทุนที่อยู่ในช่วงลองผิดลองถูกมักจะโฟกัสไปที่ผลลัพธ์ระยะสั้น เช่นไปศึกษาวิธีซื้อขายหุ้นจากหนังสือเล่มหนึ่งแล้วเอามาทำตาม เมื่อซื้อครั้งแรกแล้วกำไรก็จะรู้สึกว่าวิธีนี้สุดยอดมาก หรือเมื่อขาดทุนสัก 2-3 ครั้งก็จะเริ่มหาวิธีใหม่ วนเวียนเปลี่ยนหนังสือเปลี่ยนวิธีเปลี่ยนโค้ชไปเรื่อยๆ

การลงทุนในหุ้นนั้นเรียบง่ายแต่ไม่ง่าย

แล้วเราจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร เราจะทำยังไงให้เราลงทุนแล้วได้กำไรจริงๆ ทางแก้ของเรื่องนี้มี 2 ทาง ทางแรกคือ วัดผลให้เยอะมากพอ อ้างอิงจากหนังสือ Trading in the Zone เราจำเป็นต้องวัดผลอย่างน้อย 20 เทรดขึ้นไป 

นั้นคือสมมติเราไปศึกษาจนตกผลึกเป็นวิธีการลงทุนในแบบฉบับของเรา เราก็ต้องลงทุนโดยยึดมั่นกับวิธีนี้ไป 20 ครั้ง แล้วดูโดยรวมว่ากำไรหรือขาดทุนอย่างไรโดยห้ามดูแยกเป็นรายตัว แต่วิธีนี้ก็มีข้อเสียหนึ่งอย่างคือ ถ้าเป็นการลงทุนที่มีระยะเวลานานเช่นการลงทุนด้วยปัจจัยพื้นฐานในบางครั้งที่ต้องถือหุ้น 1-3 ปีเพื่อให้ราคาสะท้อนการเติบโตของบริษัท กว่าจะรู้ว่าวิธีการลงทุนใช้ได้หรือไม่ได้ก็อาจจะผ่านไปหลายปีแล้ว

ทำให้มาสู่ทางที่สองคือศึกษาวิธีของคนที่สำเร็จมาก่อน โดยสิ่งที่เราต้องทำ คือหาคนที่ประสบความสำเร็จจริงๆ แล้วโฟกัสไปที่กระบวนการการลงทุนอย่างถี่ยิบ เค้าซื้อเลือกหุ้นจากอะไร เค้าวิเคราะห์หุ้นอย่างไร เค้าซื้อหุ้นเพราะอะไร เค้าขายหุ้นเพราะอะไร กิจวัตรประจำวันของเค้าคืออะไร แนวคิดเบื้องหลังของเค้าคืออะไร ถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้มา ทำไมเค้าถึงตัดสินใจแบบนี้

ดังนั้นหน้าที่ของเรา คือ 

  • ทำงานให้หนักมากพอ (เพราะคนที่ประสบความสำเร็จทุกคนล้วนทำงานหนัก)
  • ถ้าเวลาผ่านไปแล้วผลลัพธ์ยังไม่ดี เราก็ต้องกลับมาดูกระบวนการของเราว่าผิดพลาดตรงไหน ใช้หลัก PDCA (Plan Do Check Action)
  • หรืออาจจะต้องถามโค้ชการลงทุนให้ช่วยตรวจสอบกระบวนการการลงทุนของเราว่า ต้องปรับปรุงอย่างไร เพราะหลายครั้งมุมมองจากบุคคลภายนอกมักจะมองเห็นในข้อผิดพลาดง่ายๆที่เรามองข้ามไปในช่วงที่ผ่านมาก็มีคนมาถามผมเรื่องการลงทุนหลายคน
  • ถ้าคนคนนั้นถามว่าควรซื้อตัวไหน ผมถือตัวไหน ผมถือตัวนั้นต้นทุนเท่าไร(ซึ่งต้นทุนของหุ้นไม่ควรเป็นปัจจัยที่ใช้ในการตัดสินใจอย่างยิ่ง) ผมจะรู้ทันทีว่า ”คนนี้มือใหม่และเป็นคนที่โฟกัสไปที่ผลลัพธ์การลงทุน” ซึ่งตราบใดที่เค้ายังไม่เปลี่ยนวิธีคิดก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ
  • แต่ถ้ามีคนมาให้ผมแนะนำหนังสือหรือปรึกษาว่าเค้าลงทุนผิดพลาดตรงไหนทำไมพอร์ตยังไม่โต หรือถามว่าทำไมผมถึงซื้อหุ้นตัวนี้ คนเหล่านี้ก็นับเป็น”คนที่โฟกัสไปที่กระบวนการลงทุนที่ถูกต้อง” ไม่นานคนเหล่านี้ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จในการลงทุนได้มากกว่า

การลงทุนในหุ้นนั้นเรียบง่ายแต่ไม่ง่าย แต่ถ้าเรามีกระบวนการลงทุนที่ถูกต้องที่เหมาะสม การลงทุนก็จะกลายเป็นสิ่งเรียบง่ายและง่าย