สัญญาณร้าย ยอดหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งเกือบ 15 ล้านล้าน

02 มี.ค. 2566 | 11:32 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มี.ค. 2566 | 11:52 น.

สศช. เปิดยอดหนี้สินครัวเรือนไทย ล่าสุดโต3.9% มีมูลค่า 14.9 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นครั้งแรกรอบ 5 ไตรมาส พิษโควิดฉุดลูกหนี้ชั้นดีเป็นหนี้เสีย 4 แสนล้าน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงาน ภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ว่า หนี้สินครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อทรงตัว แต่ต้องเฝ้าระวังสินเชื่อยานยนต์ที่มีสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น รวมถึงลูกหนี้ดีที่กลายเป็นหนี้เสียจากผลกระทบของโควิด-19 ยังมีจำนวนมาก 

หนี้ครัวเรือนพุ่งรอบ 5 ไตรมาส

หนี้สินครัวเรือน ณ ไตรมาสสาม ปี 2565 ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมีมูลค่า 14.90 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% จาก 3.5% ของไตรมาสก่อน โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสสาม ปี 2564 ซึ่งการเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานที่ปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 86.8% ลดลงจาก 88.1% จากไตรมาสที่ผ่านมา

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

หนี้ครัวเรือนเพิ่มทุกประเภทสินเชื่อ

หนี้สินครัวเรือนขยายตัวในทุกประเภทสินเชื่อ โดยสินเชื่อที่มีการขยายตัวในอัตราสูง ได้แก่ สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ขยายตัวถึง 11.8% และ 21.4% ขณะที่สินเชื่อที่ขยายตัวในอัตราต่ำ ได้แก่ สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ขยายตัว 4.1% สินเชื่อยานยนต์ขยายตัว 1.2% และสินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจขยายตัว 3.4% 

การขยายตัวของสินเชื่อบัตรเครดิตเป็นผลมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนที่ลดการใช้เงินสดมากขึ้น ขณะที่การขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ซึ่งเป็นสินเชื่อที่เข้าถึงได้ง่าย มีเงื่อนไขการสมัครไม่มาก และไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยยังมีปัญหาสภาพคล่องจึงมีการใช้บริการสินเชื่อประเภทนี้เพิ่มขึ้น

 

สศช. เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 เรื่องหนี้ครัวเรือน

ยอด NPL แบงก์แตะ 1.4 แสนล้าน

ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อทรงตัว โดยในไตรมาสสี่ ปี 2565 ยอดคงค้างหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารพาณิชย์มีมูลค่า 1.40 แสนล้านบาท ลดลง 2.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.62 ต่อสินเชื่อรวม ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมของสินเชื่อเกือบทุกประเภทปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ เมื่อพิจารณาสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (SML) หรือสินเชื่อค้างชำระน้อยกว่า 3 เดือน พบว่า ภาพรวมมูลค่า SML ปรับตัวลดลง โดยมีสัดส่วน 6.6% ต่อสินเชื่อรวม

แต่เมื่อพิจารณาสินเชื่อรายวัตถุประสงค์ กลับพบว่า สินเชื่อกล่าวถึงพิเศษในสินเชื่อรถยนต์มีมูลค่าสูงขึ้น และมีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน โดยมีสัดส่วน 13.7% ของสินเชื่อรวม

“หนี้เสียในกลุ่มบัตรเครดิต ลูกหนี้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี เป็นกลุ่มที่มียอด NPL ขยายตัวขึ้นมามากที่สุด ส่วนสินเชื่อบุคคล ที่น่าจับตาคือ ลูกหนี้อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มียอด NPL ขยายตัวสูงและมีหนี้เสียต่อบัญชีสูงถึง 77,942 บาท ขณะที่สินเชื่อยานยนต์ ส่วนมากคือกลุ่มวัยทำงานอายุ 30-40 ปีที่มีปัญหาในการชำระหนี้ กลุ่มนี้ต้องช่วยกันดู และให้ความรู้ความเข้าใจในการใช้จ่าย เพราะคนกลุ่มนี้จะเป็นกำลังแรงงานที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวให้ระมัดระวังการก่อหนี้”

ลูกหนี้ชั้นดีทรุดเป็นหนี้เสีย 4 แสนล้าน

จากข้อมูลเครดิตบูโร พบว่า กลุ่มลูกหนี้ดีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนกลายเป็นหนี้เสียยังมีปริมาณมาก แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลายลง แต่มูลค่าหนี้เสียของกลุ่มดังกล่าวยังสูงถึง 4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับไตรมาสหนึ่ง ปี 2565 และมีจำนวนบัญชีที่เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นเป็น 4.7 ล้านบัญชีจาก 4.3 ล้านบัญชีของไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเกือบ 60% เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล

แนะประเด็นเฝ้าระวังช่วงต่อไป

สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นเสมือนกับดักต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต ดังนั้น ในระยะถัดไปมีประเด็นที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญ คือ 

1.การเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ที่เริ่มมีสัญญาณการผิดชำระหนี้เพื่อลดความเสี่ยงในการตกชั้นของลูกหนี้ที่มีจำนวนมาก

2.การมีมาตรการเฉพาะเจาะจงในการช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้เสียจากผลกระทบของโควิด-19 เช่น ขยายเวลาชำระหนี้ กำหนดสัดส่วนการช่าระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ เพื่อลดจำนวนลูกหนี้เสียไม่ให้เพิ่มขึ้นในระยะถัดไป และรักษาสถานะลูกหนี้ให้อยู่ในระบบการเงิน

 

สศช. เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 เรื่องหนี้ครัวเรือน