สศช.ชี้สัญญาณชัดครัวเรือนไทยเปราะบาง หนี้พุ่ง กู้หนัก จ่ายคืนน้อย

26 ส.ค. 2565 | 16:28 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ส.ค. 2565 | 23:32 น.

สศช. เปิดภาวะหนี้สินครัวเรือน พบตัวเลขแม้ชะลอตัวแต่ยังอยู่ในระดับสูง มีมูลค่า 14.65 ล้านล้านบาท สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต พุ่ง ด้านความสามารถจ่ายหนี้ทรงตัว ชี้สัญญาณชัดครัวเรือนไทยเปราะบาง เฝ้าระวังสินเชื่อยานยนต์

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2565 ว่า หนี้ครัวเรือนไตรมาสหนึ่ง ปี 2565 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยมีมูลค่า 14.65 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.6% ลดลงจาก 3.8% ในไตรมาสก่อนหน้า 

 

ทั้งนี้เป็นไปตามความกังวลจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงมีความรุนแรงในไตรมาสหนึ่ง ปี 2565 ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้รายได้ครัวเรือนยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ และผู้บริโภคมีความกังวลและชะลอการก่อหนี้ สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมีนาคมที่ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 6 เดือน 

 

สอดคล้องกับสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ที่ลดลงจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 89.2% โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19

ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวในอัตราเร่ง โดยสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 22.6% เร่งขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน และสินเชื่อบัตรเครดิต เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 2.5% สะท้อนปัญหาการขาดสภาพคล่องของครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นเวลานาน 

 

สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเป็น 4.6% สินเชื่อเพื่อยานยนต์ยังหดตัว 0.6% และสินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจขยายตัว 6%

 

ทางฝั่งของความสามารถในการชำระหนี้ทรงตัว ในไตรมาสหนึ่ง ปี 2565 สินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มีมูลค่า 1.47 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.78% ความสามารถในการชำระหนี้ทรงตัว โดยในไตรมาสหนึ่ง ปี 2565 จากไตรมาสก่อนที่มีสัดส่วน 2.73% 

 

เป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการช่วยเหลือทางการเงินและการปรับโครงสร้างหนี้ที่ช่วยชะลอไม่ให้เกิดหนี้เสียเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวัง NPLs ของสินเชื่ออุปโภคบริโภค ส่วนบุคคลอื่น และบัตรเครดิต เนื่องจากในไตรมาสหนึ่ง ปี 2565 สัดส่วนสินเชื่อ NPLs ต่อสินเชื่อรวมของสินเชื่อทั้ง 2 ประเภทปรับตัวสูงขึ้น 

โดยสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นเพิ่มจาก 2.33% ในไตรมาสสี่ ปี 2564 เป็น 2.49% ในไตรมาสหนึ่ง ปี 2565 และสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัว 2.78% เพิ่มขึ้นจาก 2.49% ในไตรมาสก่อน

 

ขณะเดียวกัน ยังต้องเฝ้าระวังสินเชื่อเพื่อยานยนต์ เนื่องจากมีสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (สินเชื่อค้างชำระน้อยกว่า 3 เดือน) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ในระดับสูง และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสหนึ่ง ปี 2565 มีสัดส่วน 12.1% เพิ่มขึ้นจาก 11.1% ในไตรมาสก่อน สะท้อนความเสี่ยงของการเกิด NPLs โดยเฉพาะในครัวเรือนกลุ่มที่มีภาระหนี้สูง หรือมีกันชนทางการเงินต่ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 

 

ส่วนในระยะถัดไป มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ดังนี้ 

 

1.ผลกระทบของภาระค่าครองชีพที่อาจกดดันให้ครัวเรือนมีความต้องการสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ครัวเรือนที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวและได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงมีการก่อหนี้มากขึ้น 

 

2.อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของครัวเรือนเพิ่มขึ้นและกระทบต่อครัวเรือนที่ขอสินเชื่อใหม่ เนื่องจากจะต้องรับภาระหนี้ในส่วนของดอกเบี้ยมากขึ้น 

 

3.คุณภาพสินเชื่อในกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลอื่น สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อยานยนต์ โดยสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นและสินเชื่อบัตรเครดิต มีสัดส่วนสินเชื่อ NPLs ต่อสินเชื่อรวมปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่สินเชื่อรถยนต์มีสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (สินเชื่อค้างชำระน้อยกว่า 3 เดือน) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้น สะท้อนความเสี่ยงของการเกิด NPLs โดยเฉพาะในครัวเรือนกลุ่มที่มีภาระหนี้สูง หรือมีกันชนทางการเงินต่ำ 

 

4. การส่งเสริมมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง และมีมาตรการแก้หนี้ที่เฉพาะเจาะจง สำหรับกลุ่มเปราะบาง และรายได้ยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้งใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ส่งเสริมให้มีการก่อหนี้ใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้หนี้ครัวเรือนมีมูลค่าสูงจนกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคต