สคบ.คุมเช่าซื้อพ่นพิษ ลูกค้าแห่ยกเลิกคำสั่งซื้อ

04 พ.ย. 2565 | 15:35 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ย. 2565 | 22:35 น.
1.2 k

ดีลเลอร์รถร้อง ลูกค้าแห่ยกเลิกซื้อมอเตอร์ไซค์ เหตุรอประกาศ สคบ.คุมเช่าซื้อดอกเบี้ยไม่เกิน 23% ปีหน้า ด้านนอนแบงก์ท้องถิ่นดี๊ด๊าปรับดอกเบี้ยรถยนต์ใหม่ แตะเพดาน 10% สคบ.แจงทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภคก็ต้องปรับตัวในช่วงแรก

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเกี่ยวกับเรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาพ.ศ.2565 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 10 มกราคม 2566 หลังลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565

 

นายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ จำกัด ในฐานะประธานสมาคมเช่าซื้อไทย (THPA) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สมาคมเช่าซื้อไทยได้รับทราบจากสมาชิกว่า ขณะนี้สมาชิกดีลเลอร์มอเตอร์ไซค์ เช่น ซูซูกิจถูกลูกค้าที่จองซื้อรถมอเตอร์ไซค์ยกเลิกการซื้อไป 40 คัน เพราะต้องการที่จะรอให้ประกาศของสคบ.มีผลบังคับใช้ก่อน จึงเลื่อนและยกเลิกการจองซื้อออกไปก่อน 

นายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ จำกัด

 

“ประกาศสคบ.เริ่มส่งผลกระทบต่อดีลเลอร์รถมอเตอร์ไซค์เป็นด่านแรกแล้ว เพราะภายใต้ประกาศของ สคบ.พ.ศ. 2565 กำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไว้ไม่เกิน 23% ซึ่งไตรมาส 4 ของทุกปี ถือเป็นซีซันของการทำยอดการขายทั้งผู้ผลิต ดีลเลอร์ และไฟแนนซ์ รวมทั้งธนาคารต่างๆด้วย” นายวิสิทธิ์กล่าว

 

แหล่งข่าวจากผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อกล่าวว่า ประกาศของสคบ.เป็นดาบสองคม แม้เจตนาต้องการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค แต่ในทางปฏิบัติกลับส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค เพราะเวลานี้เกิดปรากฏการณ์ที่ผู้ให้บริการทางการเงินหรือไฟแนนซ์ท้องถิ่นได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้สอดรับการประกาศของสคบ. เช่นการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ใหม่ (ป้ายแดง) จะปรับดอกเบี้ยขึ้นมาใกล้เคียงเพดานเป็นอัตรา 8-10% จากเดิมเคยคิดในอัตรา 4-7% เช่นเดียวกับรถยนต์ใช้แล้ว

“ผลจากประกาศของสคบ.ที่จะมีผลในทางปฎิบัติต้นปีหน้า เท่ากับว่า ลูกค้าหรือผู้บริโภคในกลุ่มรถยนต์ใหม่กลับถูกชาร์จอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นจากเดิม ซึ่งเป็นประเด็นที่คงต้องว่าไปตามน้ำ เพราะต้องยอมรับว่าประกาศของสคบ.เป็นดาบสองคม”

 

ด้านนายศุภกิตติ์ มะลิ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า ทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภคต้องปรับตัวในช่วงแรกของการออกประกาศดังกล่าว ซึ่งยอมรับว่าผู้ประกอบการเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์จะต้องปรับตัวมากหน่อย ขณะที่ผู้บริโภคต้องปรับตัวเช่นกัน เช่น การวางเงินดาวน์เพิ่มขึ้น ซึ่งจากการรับฟังผู้บริโภคไม่ได้กังวลเรื่องเงินดาวน์ ถ้าอัตราดอกเบี้ยลดลง

 

“ส่วนตัวมองว่า ประกาศสคบ. พ.ศ. 2565 ใช้เวลารับฟังความเห็นนานมากที่สุด หากเทียบกับประกาศฉบับอื่นๆ เพราะเจตนารมณ์ของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาต้องการให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายไม่ว่าภาคธุรกิจหรือผู้บริโภค เพราะถ้าธุรกิจอยู่ได้ลูกค้าก็อยู่ได้” นายศุภกิตติ์กล่าว

 

ดังนั้นประเด็นที่เป็นไฮไลต์และมีการสอบถามกันประมาณ 4-5 ประเด็น เช่น การคิดอัตราดอกเบี้ย การคำนวณการให้ส่วนลด หรือติ่งหนี้และการคิดเบี้ยปรับ ประเด็นเหล่า นี้ สคบ. จะร่วมมือกับทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้ทั่วถึง โดยต้นเดือนพฤศจิกายนจะทำประชาสัมพันธ์อีก

 

ส่วนประเด็นร้องเรียนกรณีผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อรถไตรมาส 4 นั้น ทางสคบ.มองว่า ถ้าผู้บริโภคประสงค์จะซื้อรถอยู่แล้ว ภาพรวมผู้ที่มีกำลังทรัพย์ยังคงตัดสินใจซื้อ แต่อาจจะมีบางส่วนชะลอการตัดสินใจออกไป ทั้งนี้ภายใต้ประกาศของสคบ.2565 กำหนดให้ทบทวนได้ทุก 3 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหมาะที่สุด เพราะสามารถจะรับรู้ถึงผลของประกาศว่า ปฎิบัติได้หรือไม่ โดยหากเกิดผลกระทบรุนแรงอาจจะมีการพิจารณาตามความจำเป็น

 

อย่างไรก็ตาม การคิดดอกเบี้ยตามประกาศ สคบ. ฉบับใหม่ปี 2565 ทาง THPA ชี้แจงว่า การคิดดอกเบี้ยและแนวปฏิบัติการชำระหนี้เช่าซื้อรายงานไม่ได้แตกต่างจากประกาศฉบับที่ผ่านมา โดยยืนยันการคิดดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้สินเชื่อเช่าซื้อ มีการคิดแบบ flat rate ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยแบบคงที่ตลอดอายุสัญญาเพื่อให้การคำนวณอัตราการผ่อนชำระให้มีจำนวนเท่ากันทุกงวด โดยมีทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นในแต่ละงวด

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,832 วันที่ 3 - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565