สินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์อ่วม สคบ.กดดอกเบี้ยหาย10%

28 ต.ค. 2565 | 14:42 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2565 | 21:42 น.
1.0 k

ผู้ประกอบเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์อ่วม ประกาศสคบ.กดดอกเบี้ยหาย 10% ไม่คุ้มความเสี่ยง แถมเป็นลูกค้ากลุ่มเดียวกับนาโนไฟแนนซ์ พิโกไฟแนนซ์ หวั่งกระทบทั้งซัพพลายเชน พุ่งเป้าลูกค้ากลุ่มเสี่ยงต่ำ ลดต้นทุน-หนี้เสีย ผลักกลุ่มเสี่ยงสูงแบกรับภาระเพิ่ม

ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาพ.ศ. 2565  ของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะมีผลบังคับใช้วันที่ 10 มกราคม 2566 โดยมีสาระสำคัญคือ การกำหนดกรอบอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อ 3 ประเภทคือ รถยนต์ใหม่ไม่เกิน 10%ต่อปี รถยนต์ใช้แล้วไม่เกิน 15%ต่อปีและรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 23%ต่อปี

 

นายวิชิต พยุหนาวีชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล จำกัด หรือ SCAP(เอสแคป)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า SCAP ได้รับผล กระทบจากประกาศดังกล่าว เพราะบริษัทคิดดอกเบี้ยในอัตรา 30%ต่อปี ดังนั้นจึงต้องมีวิธีการบริหารจัดการเพื่อลดหนี้เสียและค่าใช้จ่ายให้ต่ำลง จากปัจจุบันที่มีเอ็นพีแอลอยู่ในระดับต่ำกว่า 2%

นายวิชิต พยุหนาวีชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล จำกัด

“เราจะเน้นทำตลาดลูกค้าในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำลง เพื่อลดต้นทุนของบริษัทและต้องบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่ายให้กระทบงบกำไรของบริษัทน้อยที่สุดหรือไม่กระทบเลย ซึ่งบริษัทศึกษาเรื่องนี้มาเป็นเวลา 1 ปีแล้ว” นายวิชิตกล่าว

 

ส่วนกรณีที่ธนาคาร ออมสินจะทำธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(Non-Bank) เต็มตัวในปีหน้า โดยจะปล่อยสินเชื่อบุคคล (P-Loan) คิดดอกเบี้ยที่อัตราต่ำกว่าตลาด 5% คือคิดดอกเบี้ยที่ 20% จากปัจจุบันในตลาดคิดดอกเบี้ยประมาณ 25% นั้น นายวิชิตกล่าวว่า ขณะนี้สินเชื่อส่วนบุคคลของ SCAP คิดดอกเบี้ยเพียง 19%ต่อปี และบริษัทยังเน้นลูกค้า กลุ่มเป้าหมายระดับไฮเอนด์ วงเงินก็แตกต่างกัน

 

“SCAP ไม่ปล่อยสินเชื่อผ่านดิจิทัลที่มีขนาดเล็กวเงินสินเชื่อ 2-3 หมื่นบาทต่อราย จึงเป็นการทำตลาดคนละกลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว และช่องทางการทำตลาดของบริษัทส่วนใหญ่เป็น Direct sell กับ Telesell” นายวิชิตกล่าว

 

อย่างไรก็ตามช่วง 8-9 เดือนปีนี้ ความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ ค่อนข้างสูง แม้ยอดการผลิตและส่งมอบทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ขาดตลาด แต่ทำให้ค่ายที่มีรถสามารถทำยอดขายได้ดี ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถมอเตอร์ไซด์ปีนี้น่าจะอยู่ที่ 1.6 ล้านคันจากปีที่แล้วกว่า 1.5 ล้านคัน

 

หากประเมินจากจำนวนรถมอเตอร์ไซค์ที่เข้าสู่กระบวนการเช่าซื้อหรือใช้บริการสินเชื่อเช่าซื้อในระบบ(ไม่รวมผู้ให้บริการท้องถิ่นหรือนอกระบบ)จะมีประมาณ 60% ของจำนวน 1.6 ล้านคันหรือประมาณ 9 ล้านคันดังนั้น มูลค่าตลาดรถมอเตอร์ไซค์เฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ 6-7 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยคาดว่า อัตราเติบโตทั้งระบบปีนี้อยู่ที่ 3-5%

 

สำหรับ SCAP ปีนี้ตั้งเป้าขยายสินเชื่อเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์ 1.1 หมื่นล้านบาท เติบโตมากกว่า 300% จากปีที่แล้วที่บริษัทเริ่มดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นการเติบโตจากฐานที่เล็กมาก โดยปล่อยสินเชื่อประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยส่งเสริมมาจากที่บริษัทมุ่งมั่นในการทำธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ นอกจากขยายทีมงานแล้ว บริษัทเข้าซื้อกิจการบริษัท คาเธ่ย์ลีสซิ่ง จำกัด เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาด้วย

 

“SCAP ทำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และอีก 2 บริษัทคือบริษัท เอส ลีสซิ่งกับบริษัท คาเธ่ย์ ลีสซิ่งทำธุรกิจเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ให้บริษัทเติบโตอันดับ 1 ในประเทศในธุรกิจเช่าซื้อจักรยานยนต์ โดยคาดว่า สิ้นปี 3 บริษัทรวมกันจะมีพอร์ตสินเชื่อสะสม 13,000-14,000 ล้านบาทรวมสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์กับสินเชื่อส่วนบุคคลด้วย” นายวิชิตกล่าว

 

ทั้งนี้ ภายใต้โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อของบริษัท สัดส่วน 90%เป็นสินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์อีก 10% เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลที่เน้นกลุ่มเป้าหมายไฮเอนด์ที่มีรายได้ 50,000-80,000 บาทต่อราย เฉลี่ยยอดสินเชื่อ  ต่อรายอยู่ที่ 5 แสนบาท

 

นายประพล พรประภา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวว่า ไตรมาส 4 เป็นไตรมาสของการทำยอดขายในทุกปี แต่ประกาศของสคบ.ที่กำกับเพดานดอกเบี้ยในปี 2566 จึงไม่แน่ใจว่า ผู้บริโภคจะชะลอการซื้อรถมอเตอร์ไซค์หรือไม่ และไม่แน่ใจว่า ภายใต้ประกาศสคบ.จะมีผลย้อนหลังหรือไม่

นายประพล พรประภา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน)

อย่างไรก็ตาม การลดเพดานดอกเบี้ยท่ามกลางทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น เห็นได้จากธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็น 5% ในปีหน้า ขณะที่ประเทศไทยกำกับเพดานดอกเบี้ยต่ำลง ซึ่งดอกเบี้ยไม่คุ้มความเสี่ยงที่เป็นลูกค้ากลุ่มเดียวกับนาโนไฟแนนซ์และพิโกไฟแนนซ์ จึงจะมีผลกระทบทั้งซัพพลายเชน ทั้งผู้ผลิต ดีลเลอร์ ผู้ใช้บริการทางการเงินและประชาชนผู้ใช้งาน ซึ่งมีแรงงานจำนวนมาก ซึ่งต้องดูว่า ผู้ผลิตจะลดกำลังการผลิตหรือไม่ โดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์ส่งออก 20% และมีการใช้ในประเทศสูง 80%

 

“การแทรกแซงกลไกตลาดที่ผ่านมา สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐต้องตอบสนองโยบาย ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นกันมาแล้ว เป็นการสร้างภาระกับธนาคารเหล่านั้นและในเวลาต่อมา ก็ไม่พ้นที่จะตกเป็นภาระกับรัฐบาลที่ต้องเข้ามาอุดหนุนอยู่ดี” นายประพลกล่าว

 

นายมงคล เพียรพิทักษ์กิจ อดีตนายกสมาคมธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทยกล่าวว่า ความต้องการสินเชื่อไตรมาส 4 ปีนี้ยังมีเข้ามาต่อเนื่อง จากช่วง 9 เดือน ที่มียอดขายรถมอเตอร์ไซค์ 1.35 ล้านคันและแนวโน้มสิ้นปี 2565 คาดว่า ยอดขายรถมอเตอร์ไซค์จะอยู่ที่1.6-1.65 ล้านคัน

นายมงคล เพียรพิทักษ์กิจ อดีตนายกสมาคมธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทย

ทั้งนี้ ผู้ให้บริการทางการเงินแต่ละแห่งจะเริ่มปรับตัวทั้งเรื่องสัญญา ระบบงาน และเพดานดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับประกาศของสคบ. โดยเฉพาะไตรมาส 4 ปีนี้ ผู้ให้บริการทาง การเงินบางแห่งจะเริ่มทดลองทำตลาด โดยเฉพาะประเด็นเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ ไม่เกิน 23% เท่ากับดอกเบี้ยหายไป 10% จากในระบบคิดดอกเบี้ย 33%ต่อปี

 

“ผลกระทบต่อรายได้ ขึ้น  กับราคารถ ยี่ห้อรถ หากคิดที่ระดับราคา 6 หมื่นบาท ที่รายได้ดอกเบี้ยจะหายไปเฉลี่ยคันละ 6,000 บาท” นายมงคลกล่าว 

 

ดังนั้นผลกระทบจากประกาศของสคบ.แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีเอกสารและประวัติทางการเงินชัดเจนน่าจะตัดสินใจซื้อรถ มอเตอร์ไซค์ ส่วนกลุ่มที่ไม่มีเอกสารหรือประวัติทางการเงินและรายได้ไม่ชัด กลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบเต็มๆ เพราะกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อความสามารถในการผ่อนชำระ จำเป็นที่ทางผู้ให้บริการทางการเงินจะเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น เพื่อคัดกรองคุณภาพลูกค้าให้มีความสามารถในการผ่อนชำระ เช่น เพิ่มเงินดาวน์มากกว่า 10% หรือ 30% เพราะกลุ่มนี้เป็นลูกค้าที่มีอาชีพอิสระ

 

“ปีหน้ากลุ่มคนที่ไม่มีประวัติทางการเงินหรือรายได้ไม่ชัดเจนจะเข้าถึงสินเชื่อยาก ทำให้ภาพรวมตลาด อาจได้รับผลกระทบยอดสินเชื่อมอเตอร์ไซค์หายไป 20-30% เหตุคนเข้าไม่ถึงสินเชื่อ” นายมงคลกล่าว