คุมสัญญาเช่าซื้อรถ เริ่ม ม.ค.66 กระทบผู้ประกอบการลีสซิ่งต้องปรับตัว

02 พ.ย. 2565 | 16:56 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ย. 2565 | 23:58 น.
702

ลีสซิ่ง กสิกรไทย ชี้ เกณฑ์สัญญาเช่าซื้อ สคบ. ดีเดย์ 10 ม.ค. 66 ไม่กระทบสินเชื่อรถใหม่ แต่กระทบผู้บริโภคขอสินเชื่อรถเก่าบางส่วน แนะซื้อรถใหม่ไม่ต้องรอเพราะดอกเบี้ยไม่ได้ปรับลดลงตามที่เข้าใจ

2 พ.ย.2565 - นายธีรชาติ จิรจรัสพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่ง กสิกรไทย จำกัด กล่าวใน เวที The Big Issue 2022 : คุมสัญญาเช่า ลิสซิ่งสะเทือน ซึ่งจัดโดย ฐานเศรษฐกิจ หัวข้อ ธุรกิจลิสซิ่ง จะอยู่อย่างไร ภายใต้กฎกติกา สคบ.ใหม่ ที่จะเริ่มบังคับใช้ 10 ม.ค.2566 ว่า การกำหนดเพดานดอกเบี้ย แบ่งตามประเภทเช่าซื้อแบบลดต้นลดดอก โดยระบุ รถยนต์ใหม่ คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 10% ,รถยนต์มือสอง 15% และ รถจักรยานยนต์ 23%  แทบจะไม่กระทบสินเชื่อรถใหม่เพราะดอกเบี้ยปัจจุบันต่ำกว่าเพดานดอกเบี้ยที่ สคบ กำหนดอยู่แล้ว

คุมสัญญาเช่าซื้อรถ เริ่ม ม.ค.66  กระทบผู้ประกอบการลีสซิ่งต้องปรับตัว

โดย Flat rate ของรถยนต์ใหม่สูงสุด อยู่ที่ 5.5% ต่อปี  (เฉลี่ย 2.55 - 5.5%) ซึ่งจะไม่สูงกว่าเพดาน Effective rate ที่ 10%  มีเพียงกรณี ดาวน์ต่ำกว่า 10% ผ่อนนาน 84 เดือนที่กระทบแต่คิดเป็นเพียง 1% เท่านั้น ดังนั้นลูกค้าที่ต้องการซื้อรถใหม่ โดยเข้าใจว่าดอกเบี้ยจะลดลงนั้น แนะนำว่าไม่ต้องรอ เพราะอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มขาขึ้นจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น และการจองรถใหม่บางรุ่นต้องใช้เวลารอรับรถนาน จึงไม่ควรชะลอการตัดสินใจ

คุมสัญญาเช่าซื้อรถ เริ่ม ม.ค.66  กระทบผู้ประกอบการลีสซิ่งต้องปรับตัว

ขณะกลุ่มรถยนต์มือสอง Flat rate  อยู่ที่ 2.99-9%  อาจได้รับผลกระทบบางส่วน เช่น รถยนต์ปีเก่าๆอายุมากกว่า 15 ปี  ที่ดอกเบี้ยปัจจุบันสูงกว่าเพดาน ผู้ประกอบการจะต้องลดดอกเบี้ยตรงส่วนนี้ลงมาให้สอดรับกับเกณฑ์ แต่อาจนำไปสู่ กระบวนการปล่อยสินเชื่อที่เข้มข้นมากขึ้น  ส่วนในแง่ของรถจักรยานยนต์ ดอกเบี้ยปัจจับันที่ Flat rate 18-24% เกินเพดาน  ยกเว้น Big bike ที่ต่ำกว่าเพดานดอกเบี้ย 

คุมสัญญาเช่าซื้อรถ เริ่ม ม.ค.66  กระทบผู้ประกอบการลีสซิ่งต้องปรับตัว

นายธีรชาติ ยังกล่าวว่า ประเด็นที่สำคัญ และน่าจะกระทบต่อตลาดลิสซิ่งมากสุด คือ การกำหนดให้เมื่อลูกค้าโปะเงินก้อนปิดบัญชีก่อนครบกำหนด บริษัทลิสซิ่ง ต้องให้ส่วนลดตามขั้นบันไดที่สูงกว่าเกณฑ์เดิม ซึ่งเป็นเรื่องดีสำหรับผู้บริโภค แต่น่าจะกระทบต่อผู้ประกอบการสูง เพราะปัจจุบัน มีลูกค้าราว 1 ใน 3 หรือสัดส่วนราว  30% ของลูกค้า มีพฤติกรรม โปะปิดบัญชี ก่อนครบกำหนดสัญญาเป็นจำนวนมาก เพราะส่วนนึงมาจากความต้องการเปลี่ยนรถรุ่นใหม่ๆ ตามเทรนด์ตลาด หรือ ขายรถเก่า ซื้อรถคันใหม่


" ถ้าลูกค้าซื้อรถใหม่ กู้ 5 แสนบาท ผ่อน 60 งวด   จำนวนดอกเบี้ย จะอยู่ที่ราว 62,500 บาท แต่ถ้าลูกค้าอยากปิดบัญชี ในขณะที่ผ่อนมา 1ใน 3 ดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ คิดเป็นจำนวนประมาณ 44,000 บาท ตามเกณฑ์เดิมก็จะได้ลดส่วนดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงหนด 50% หรือ ประมาณ 22,000 บาท ส่วนเกณฑ์ใหม่กำหนดให้ส่วนลดเพิ่มขึ้นเป็น 60% เกิดส่วนต่างจากเกณฑ์เดิม ราว 4,400 บาท "


กรณีนี้ นายธีรชาติ กล่าวว่า ยอมรับ ผู้บริโภค ลูกค้าที่มีพฤติกรรมว่าจะปิดบัญชีล่วงหน้าก็จะได้ประโยชน์ โดยผู้ประกอบการเป็นผู้แบกภาระแทน ในขณะที่ผู้ประกอบการยังมีความเสี่ยง ต้นทุนทางการเงิน ที่จะผันผวนตามอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง ในปัจจุบัน และ อนาคต เนื่องจากในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ ไม่ได้ใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว เหมือนสินเชื่อบ้าน แต่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดสัญญา

“ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัว และปรับระบบงานให้เข้ากับเกณฑ์ใหม่ ทั้งด้านการสื่อสารทำความเข้าใจกับลูกค้า การบริหารความเสี่ยง ปรับปรุงระบบไอที กระบวนการทำงาน จนถึงการนำนวัตรกรรมด้าน Digital มาให้บริการเพื่อลดต้นทุนและตอบพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลง”

สำหรับพอร์ตสินเชื่อทั้งระบบรถยนต์ของไทยนั้น  มีมูลค่าต่อปี ที่ 2.4-2.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น รถใหม่ 70% และ รถใช้แล้วและแลกเงิน 30% ส่วนพอร์ตของกสิกรไทย มีสัดส่วนรถใหม่ 80% และ รถใช้แล้วและรถแลกเงิน 20%