“เฮงลิสซิ่ง” ลั่นสคบ.คุมเพดานดอกเบี้ย ไม่กระทบ

11 ต.ค. 2565 | 14:32 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ต.ค. 2565 | 21:45 น.

HENG มั่นใจสินเชื่อขยายตัวต่อเนื่องไตรมาส 3ปี2565 ย้ำ “สคบ.คุมดอกเบี้ยเช่าซื้อไม่กระทบการดำเนินงาน”คาดทั้งปีสินเชื่อรวมเติบโต 30% ตามเป้าหมาย

‘บมจ. เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล’ หรือ HENG หนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อรายใหญ่ของประเทศไทย ภายใต้แบรนด์ ‘เฮงลิสซิ่ง’ ย้ำชัด สคบ. กำหนดกรอบเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อไม่กระทบการดำเนินงาน พร้อมประเมินแนวโน้มผลงานไตรมาส 3ปี2565 ขยายตัวต่อเนื่อง

 

นางสุธารทิพย์   พิสิฐบัณฑูรย์   ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG หนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อรายใหญ่ของประเทศไทยภายใต้แบรนด์ ‘เฮงลิสซิ่ง’ เปิดเผยว่า จากนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ที่ต้องการควบคุมอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อ

 

คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในไตรมาสแรกของปี 2566 หลังจากที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาและคณะกรรมการ สคบ. เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเตรียมประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งกำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อต่อปีสำหรับรถยนต์ใหม่ไม่เกิน 10% ส่วนรถยนต์มือสองไม่เกิน 15% และรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 23%

HENG ประเมินว่า หากประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ อย่างมีนัย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ HENG เรียกเก็บจากลูกค้าใกล้เคียงและต่ำกว่าเพดานโดยเฉลี่ยอยู่แล้ว จึงมั่นใจว่าจะบริหารจัดการต้นทุนให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าวของ สคบ.ได้ เพื่อผลักดันการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อให้ขยายตัวตามแผนที่วางไว้

 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เตรียมความพร้อมเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการ โดยการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าพร้อมมุ่งบริหารจัดการความเสี่ยงจากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่ง HENG ได้รับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากสถาบันการเงิน ทำให้ต้นทุนการเงินลดลงช่วยส่งเสริมขีดความสามารถการให้บริการสินเชื่อแก่ลูกค้าในท้องถิ่นได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นผลดีต่อภาพรวมการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปีนี้ ที่คาดว่าจะขยายพอร์ตสินเชื่อรวมเติบโต 30% ได้ตามเป้าหมาย

 

ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2565 คาดว่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากความสามารถในการให้บริการสินเชื่อแก่ลูกค้าในท้องถิ่นที่มีความต้องการแหล่งเงินทุนเพิ่มขึ้น ภายหลังจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการมุ่งเน้นควบคุมคุณภาพลูกหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพิจารณาสินเชื่อและการจัดเก็บหนี้ จึงคาดว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs จะมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง