SAWAD รุกสินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซด์หมื่นล้านบาท

10 ส.ค. 2565 | 17:21 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ส.ค. 2565 | 00:21 น.

SAWAD รุกสินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซด์ ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อใหม่ 1 หมื่นล้านบาทในปี 65 หลังผู้ถือหุ้นไฟเขียวปรับโครงสร้างธุรกิจ ส่ง BFIT แลกหุ้นกับ SCAP จัดทัพกลุ่มศรีสวัสดิ์ให้ชัดเจน ยันทำธุรกิจถูกต้อง อธิบายได้ทุกข้อร้องเรียน

 หลังประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มศรีสวัสดิ์ ด้วยการปรับกลยุทธิ์หลักของบริษัทเงินทุน ศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ BFIT ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD  ถือหุ้นอยู่ 81.6% ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2565

 

นางสาวธิดา แก้วบุตตา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงสร้างใหม่จะทำให้เกิดการแยกธุรกิจอย่างชัดเจน โดย SAWAD จะดูแลธุรกิจจำนำเป็นหลัก ขณะที่ BFIT จะรุกธุรกิจด้านสินเชื่ออื่นๆ อาทิ ธุรกิจเช่าซื้อทุกประเภทแบบครบวงจร และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

นางสาวธิดา แก้วบุตตา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

สำหรับธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ เน้นลูกค้าที่ต้องการซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ โดยปัจจุบันมีพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ 5-7 พันล้านบาท และตั้งเป้าปีนี้จะปล่อยสินเชื่อรถจักรยานยนต์ใหม่ให้ได้ 1 หมื่นล้านบาท โดยจะปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์หลากหลายประเภทและยี่ห้อ มีระยะเวลาการให้สินเชื่อตั้งแต่ 12-60 งวด อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 30% และให้วงเงินสินเชื่อสูงสุดถึง 58,000 บาทต่อคัน

SAWAD รุกสินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซด์หมื่นล้านบาท

ส่วนกรณีที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) อยู่ระหว่างการหารือการนำธุรกิจให้เช่าชื้อ (ลิสซิ่ง) เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาและดูแลผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาเช่าซื้อด้วยการกำหนดเพดานดอกเบี้ยนั้น นางสาวธิดากล่าวว่า เท่าที่ทราบก็ยังไม่มีข้อสรุปว่า สคบ.จะกำหนดเพดาดอกเบี้ยของธุรกิจเช่าซื้อเท่าไหร่ แต่ไม่ว่าจะอัตราไหน บริษัทก็พร้อมที่จะปฏิบัติตาม และต้องไปบริหารความเสี่ยงเอง

 นอกจากนั้น BFIT ยังจะให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลด้วย เพราะสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ยังคงเติบโตขึ้นในทุกประเภท จึงเป็นโอกาสของธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ยังมีโอกาสในการเติบโตอย่างมาก

 

ส่วนกรณีที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้จัดงานแถลงข่าวในหัวข้อ “เปิดกลลวงบริษัทสินเชื่อ” โดยอ้างอิง SAWAD นั้นบริษัทฯ จะทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสคบ. หลังจากที่สคบ.ได้ทำหนังสือสอบถามเข้ามา และจะไปชื้แจงกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในสัปดาห์หน้าด้วย เพราะในประเด็นที่ถูกกล่าวถึงมีประเด็บการบังคับการทำประกันภัยด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นการทำประกันภัยนั้น บริษัทยืนยันว่า ไม่เคยบังคับขายประกันภัย เพียงแต่รูปแบบการให้สินเชื่อนั้นจะจัดเป็นแพกเกจไว้ เพื่อความรวดเร็วของลูกค้า ซึ่งก็จะมีทั้งที่ให้ซื้อประกันภัยและไม่ให้ซื้อประกันภัย ซึ่งลูกค้าที่มีกว่า 1 ล้านราย ก็มีกว่าครึ่ง หรือ  5 แสนรายที่ได้เงินกู้ไป โดยที่ไม่ได้ซื้อประกันภัย

 

“เราจัดแพกเกจการปล่อยกู้เป็นชุดไว้ให้ลูกค้าเลือก อาจจะมีเรื่องการสื่อสารผิดพลาดบ้าง พนักงานดูแลไม่ดี เพราะสาขาเรามีกว่า 5 พันสาขาทั่วประเทศและจำนวนพนักงานกว่า 1.5 หมื่นคนและการปล่อยสินเชื่อเราเน้นความรวดเร็วไม่ได้ตรวจสอบเครดิตบูโร ไม่มีบุคคลค้ำประกัน แค่มาหาเราพร้อมโฉนดที่ดิน ก็สามารถได้เงินกู้ได้ได้เลย เพราะเราเชื่อว่ามีสินทรัพย์อยู่แล้ว” นางสาวธิดากล่าว

 

ขณะที่การปล่อยสินเชื่อบ้านและที่ดินไม่จดจำนองนั้น เป็นการปล่อยกู้แบบคลีนโลน คือ ลูกค้าไม่ต้องโอนหรือจดจำนองที่ดินแต่อย่างใด ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถยึดหลักประกันได้ โดยจะปล่อยกู้ตามมูลค่าหลักประกันประมาณ 20-30% สูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาทต่อราย 

 

ส่วนประเด็นที่มีการโฆษณาว่าจะไม่คิดค่าธรรมเนียมนั้น เป็นกรณีที่มีการกู้เกิน 12 เดือนจะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม แต่รายที่ร้องเรียนนั้นเป็นการทำธุรกกรม 6 เดือน จึงถูกคิดค่าธรรมเนียมไปด้วย

 

สำหรับประเด็นที่มีการคิดดอกเบี้ย 24% ต่อปี ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด นั้นอาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของลูกค้า เนื่องจากการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก หรือ effective rate ทำให้ลูกค้าจะไม่ได้รับเงินกู้เต็มจำนวน เพราะจะมีการหักดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายออกจากเงินกู้ ทำให้ลูกค้าไม่มีภาระในการหาเงินมาจ่ายก่อน แต่ก็อาจทำให้ลูกค้าเข้าใจคลาดเคลื่อนได้

 

 “หลังเกิดปัญหาร้องเรียน เราพยายามที่จะติดต่อลูกค้า เพื่อทำความเข้าใจ แต่ไม่สามารถเข้าถึงตัวลูกค้าได้เลย แต่ด้วยปณิธานในการดำเนินธุรกิจว่า บริษัทจะให้บริการสินเชื่อโดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำที่สุดตามเงื่อนไขของสินเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของบริษัทเพื่อให้ประชาชนผู้ต้องการรับบริการสินเชื่อได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับราคาตลาด” นางสาวธิดากล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,808 วันที่ 11 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565