อนาคต CMO ในมือ ‘โทนี่-กิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์’

04 มี.ค. 2565 | 15:59 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มี.ค. 2565 | 23:09 น.
1.8 k

2 ปีของการระบาดโควิด-19 เปรียบ เสมือนคลื่นยักษ์ที่ถาโถมธุรกิจ อีเว้นต์ ออแกไนเซอร์ให้ตกอยู่ในภาวะยากลำบาก งานอีเว้นต์ต่างๆ เป็นศูนย์ ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายซุ่มเก็บตัว รอวันผงาดอีกครั้ง

หนึ่งในนั้นคือ “CMO” บิ๊กเพลย์เยอร์ในอุตสาหกรรม ที่ตั้งใจกลับมาเฉิดฉายอีกครั้งในปีนี้ ภายใต้ผู้นำทัพคนใหม่ “กิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์” หรือ “บิ๊กโทนี่” นักบริหารมือฉมัง ที่มารับไม้ต่อจาก “เสริมคุณ คุณาวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) ที่กุมบังเหียนมายาวนานถึง 35 ปี

 

“กิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ซีเอ็มโอ มาพร้อมกับเป้าหมายการเปลี่ยน CMO แบบ 360 องศา จากธุรกิจอีเว้นต์โลกเก่า สู่ “EXPERIENCE-TECH CREATOR”

 

“บิ๊กโทนี่” เล่าเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่า เรารู้สึกว่า CMO เป็นมากกว่าธุรกิจอีเว้นต์ พอเข้ามาศึกษาอย่างละเอียดจะเห็นว่าสิ่งที่เป็นรากฐานเดิมมันต่อยอดได้ในสิ่งที่ CMO ยังไม่ได้ทำ เช่นเรื่องของเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ เรามีทีมงานที่มีความชำนาญรู้เรื่องของคอนเสิร์ตเกาหลีเป็นอย่างดี มีความเข้าใจในเรื่องของตลาด คอนเสิร์ตในอเมริกา เรื่องออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง และสุดท้ายเทคโนโลยี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ CMO ไม่มี นี่คือ สาเหตุที่ทำไมเราถึงเข้ามา เพราะเชื่อว่าสามารถเอาฐานรากของธุรกิจเดิมมาต่อยอดในสิ่งเหล่านี้ได้

กิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์

“การเติบโตหลังจากนี้ไปของ CMO คือ การเปลี่ยนแปลงเรื่องของ “โครงสร้างธุรกิจ” คือต้องมาทางเทคโนโลยี นั่นคือสิ่งที่ตอบโจทย์ ต่อมาคือ “โครงสร้างผู้บริหาร” แน่นอนว่าจะต้องเปลี่ยนเพราะถ้าไม่เปลี่ยนจะกำหนดทิศทางไปต่อไม่ได้ และสุดท้ายการ “รีแบรนด์” เนื่องจากภาพลักษณ์เดิมๆไม่ตอบโจทย์ความทันสมัยและเทคโนโลยี ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และทำมาตลอดระยะเวลา 3เดือนที่เข้ามาใน CMO”

 

นอกจากนี้ CMO ยังมีเป้าหมายสู่การเป็น High growth company ซึ่ง “บิ๊กโทนี่” บอกว่าเป็นเป้าหมายหลัก โดย CMO จะทำธุรกิจรอบด้าน 360 องศา ครบทุกมิติของการให้บริการทางธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ นั่นหมายความว่าเมื่อเดินมาที่ CMO จะครบทุกบริการตั้งแต่ offline online marketing และเน้นเรื่องของเทคโนโลยีบนโลกเสมือนจริงหรือโลกอนาคต ซึ่ง “บิ๊กโทนี่” ยํ้าว่า CMO มีพร้อมทั้งบริการและทีมงาน

CMO

“ต้องบอกว่าวันนี้ที่นี่มีความพร้อมตั้งแต่ฐานรากเดิมที่ดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ขาดก็คือเรื่องของเทคโนโลยีเรากล้าพูดว่าเราพร้อมเรื่องของ connection และทีมงานของเราเอง รวมถึงผู้บริหารชุดใหม่ ผมเชื่อว่ามีศักยภาพที่จะรองรับการขยายธุรกิจและเติบโตจากนี้รวมทั้งเรื่องของ networking ต่างๆในต่างประเทศซึ่งมีความพร้อมมาก เราวางเป้าที่จะกลายเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี สิ่งที่เราต้องการคือคนที่ทำงานที่มีชีวิตชีวาและมีคุณภาพเพิ่มขึ้นนั่นก็คือต้นแบบของซิลิคอนวัลเลย์จะเกิดขึ้นที่ CMO”

ซีเอ็มโอ

อีกหนึ่งกลเม็ดสำคัญที่ “บิ๊กโทนี่” นำมาใช้สร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดคือ โฟกัส การเข้าไป M&Aในธุรกิจหรือเข้าไปซินเนอยี่กับธุรกิจ ซึ่ง “บิ๊กโทนี่” ให้เหตุผลว่า วันนี้ CMO ไม่มีเวลาที่จะปั้นธุรกิจ ดังนั้นวิธีเทคโอเวอร์ธุรกิจทั้งในและต่างประเทศจึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ โดยเริ่มต้นจากบริษัทที่ไม่ได้ใหญ่มากนัก แต่เป้าหมายที่ชัดเจนคือ ต้องมีรายได้ มีกำไร ทำให้บริษัทเปลี่ยนแปลงและสร้างกำไร และหลังจากนี้จะขยายเข้าไปดูบริษัทที่ใหญ่ขึ้น ซึ่ง “บิ๊กโทนี่” เล็งบริษัทในต่างประเทศเอาไว้แล้ว

 

“ธุรกิจไม่ว่าจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ไม่สามารถทำได้ภายในวันนี้ พรุ่งนี้ แต่วันนี้เราสัญญาว่าเราจะทำให้ดีกว่าเดิม CMO เดิมมีรายได้สูงสุดปีละประมาณ 1,300 -1,400 ล้านบาท แต่ปีนี้ตั้งใจจะทำให้ได้ไม่ตํ่ากว่าเดิม 1,400 - 1,500 ล้านบาท ในส่วนธุรกิจเดิม ในขณะเดียวกันจะมีธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ เข้ามาเพิ่มซึ่งน่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 500-800 ล้านบาท เพราะทุกอย่างอยู่ในไลน์อัพแล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานจากอเมริกาที่จะเข้ามาในเมืองไทย รวมทั้ง BU ฝั่งของเทคโนโลยีเข้ามาอีก 400-500 ล้านบาท

 

ถ้าพูดถึงสัดส่วนแล้วจะเป็นธุรกิจเดิม 70 % เนื่องจากยังทำของใหม่ไม่ทัน ของใหม่ที่จะเกิดได้ง่ายที่สุดและเร็วที่สุดคือเรื่องของเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ซึ่งจะมีสัดส่วนประมาณ 20% และอีก 10 % เป็นเทคโนโลยี แต่เชื่อว่าหลังจากที่เซ็ทอัพทุกอย่างลงตัวหมดแล้วเรามั่นใจว่าธุรกิจทั้งหมดใน 100% นี้จะมาจากเทคโนโลยีมากกว่า 60% นี่คือ สิ่งที่เห็นจาก CMO ในอนาคตอย่างแน่นอน”

ซีเอ็มโอ

อย่างไรก็ตาม “บิ๊กโทนี่” ตอกยํ้าความพร้อมในการรับมือสถานการณ์และมาตรการควบคุมโควิดของภาครัฐในปีนี้ว่า CMO มีความพร้อมในองค์กรและสามารถทำธุรกิจในเรื่องของออนไลน์ได้ดี หรือในเรื่องของเทคโนโลยีต่างๆก็มีความพร้อม ดังนั้นมั่นใจอย่างยิ่งว่าปีนี้ CMO จะมี Market Cap ไม่ตํ่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งมากกว่าที่เคยทำได้สูงสุด 1,300- 1,500 ล้านบาทในปี 2562

 

นอกจากนี้การที่โควิดกำลังจะถูกผลักดันให้เป็นโรคประจำถิ่น นั่นแปลว่าเป็นโรคปกติไปแล้ว ดังนั้นการจัดอีเว้นต์ต่างๆก็จะกลับมาแน่นอน ตอนนี้ CMO เริ่มมีงานเข้ามาตั้งแต่มกราคม ซึ่งทยอยเซ็นสัญญาอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่ากลางปีนี้ ธุรกิจอีเว้นต์ จะคัมแบ็ก ได้อย่างแน่นอน

 

ฟังดูแล้วเหมือนว่านี่คือภาพในอนาคตที่จะเห็นหลังจากนี้ของ CMO ที่จะไม่เป็นแค่ “อีเว้นต์ ออแกไนเซอร์” เพียงอย่างเดียว CMO ที่เปรียบเสมือนพี่ใหญ่ในธุรกิจเริ่มเปลี่ยนทิศทางการเดิน ในอนาคตอันใกล้เราอาจได้เห็นผู้เล่นอื่นๆ ตามมาในทิศทางนี้เช่นเดียวกัน

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,762 วันที่ 3 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2565