ธุรกิจอีเว้นต์ หืดขึ้นคอ ดิ้นปรับรูปแบบจัดงาน

15 ม.ค. 2565 | 15:00 น.
1.0 k

พิษโควิด-19 ลากยาว ฉุด “อีเว้นต์” ทรุด เร่งปรับแผนรองรับ ผวามาตรการรัฐล็อกดาวน์ หลังตลาด 1.4 หมื่นล้าน สูญไปแล้วกว่า 60%

ภาพความเป็นจริงของธุรกิจอีเว้นต์ ยังคงได้รับผลกระทบหนักจากพิษโควิด-19 ด้วยข้อจำกัดของการเข้าร่วมอีเว้นต์ทำให้จำนวนของอีเว้นต์ลดลงขณะเดียวกันผลกระทบจากโควิดและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ทำให้ลูกค้าหั่นลดงบประมาณในการจัดงานตามไปด้วย ส่งผลให้มูลค่าตลาดอีเวนต์ที่มีอยู่ราว 1.4 หมื่นล้านบาท สูญหายไปกว่า 60%

 

พิษโควิด-19 ที่ลากยาว ส่งผลให้ปี 2564 งานอีเว้นต์ รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ต้องชะงักไป ไม่ว่าจะเป็นอีเว้นต์ให้ความรู้ แสดงสินค้า รวมไปถึงภาคบันเทิง ชนิดที่เรียกว่าแทบจะไม่มีคอนเสิร์ตหรือ entertainment ที่มีผู้เข้าร่วมเกินหลักพันให้เห็น

ธุรกิจอีเวนต์

ถือว่าเป็นปีที่สาหัสที่สุดสำหรับธุรกิจอีเว้นต์ เพราะนอกจากมาตรการสกัดกั้นโควิด ไม่ว่าจะเป็นการปิดสถานที่จัดเลี้ยง กฎการจำกัดจำนวนคนเข้าร่วม ไปจนถึงมาตรการล็อกดาวน์ล้วนเป็นปราการเหล็กที่ทำให้ธุรกิจอีเว้นต์ต้องจำยอมจำศีลอยู่เงียบๆ ขณะที่ผู้ประกอบการแบรนด์ต่างๆ เองยังไม่กล้าจัดงานอีเว้นต์ เพราะกลัวการติดเชื้อและแพร่ระบาดในงานจนเกิดคลัสเตอร์ให้ผู้คนประณามว่าไม่รับผิดชอบต่อสังคม

 

เมื่อย่างก้าวเข้าสู่ปี 2565 หลายฝ่ายเริ่มขยับหลังรัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการให้หลายกิจกรรมกลับมาเดินหน้าได้ แต่หากย้อนมาดูประเด็นที่เป็นปัญหาหลักที่ทำให้ธุรกิจอีเว้นต์ยังไม่สามารถพลิกอัพขึ้นมาได้ น่าจะมาจากมาตรการของภาครัฐที่ขยันเปลี่ยนแปลงอย่างคาดเดาไม่ได้ ทำให้แบรนด์ต่างๆ ไม่สามารถวางแผนงานอีเว้นต์ของตัวเองได้ จึงเลือกที่จะ “Play Safe” ไม่วางแผนจัดงานแบบออนกราวด์และหันไปจัดแบบเวอร์ชวลแทน

อีเวนต์

“เกรียงไกร กาญจนะโภคิน” เจ้าพ่ออีเว้นต์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินเด็กซ์ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) สะท้อนให้ฟังว่า แม้อีเว้นต์จะจัดไม่ได้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าบริษัทอีเว้นต์คงไม่ได้ปิดตัวลง แต่จะสเกลดาวน์ลงหรือหยุดไปชั่วคราวและนั่งเลียแผลเก่าไปก่อน ส่วนเทรนด์อีเว้นต์ตอนนี้น่าจะยังเป็นเวอร์ชวลเป็นหลัก ส่วนอีเว้นต์แบบเอาท์ดอร์ก็คงต้องแล้วแต่ว่าแบรนด์จะกล้าลุกขึ้นมาจัดหรือไม่

 

“ปีนี้จะเป็นการกลับมาของอีเว้นต์ มาร์เก็ตติ้ง แต่จะเป็นการกลับมาในรูปแบบที่มีข้อจำกัด ไม่ได้กลับมาแบบปกติ สิ่งที่เราอยากจะบอกก็คือกติกาของศบค.ไม่เคยเปลี่ยนแล้วถามว่าจะช่วยผู้ประกอบการยังไง การจำกัดคน 500 คนต่ออีเว้นต์ควรจะต้องยกเลิกไป ควรใช้การกำหนดจำนวนคนเข้าร่วมงานต่อพื้นที่จัดงานแทนไม่อย่างนั้นก็เจ๊งกันหมดปีนี้อีเว้นต์ออนกราวน์น่าจะกลับมาจัดได้ประมาณ 30-40% จากช่วงปกติ”

เกรียงไกร กาญจนะโภคิน

สำหรับอินเด็กซ์ มีจุดยืนชัดเจนว่าจากนี้ไป อินเด็กซ์ จะไม่อยู่ภายใต้การตัดสินใจของลูกค้าว่าจะจัดงานหรือไม่จัดงาน แต่จะลุกขึ้นมาเป็นพ่องานด้วยตัวเองภายใต้ กลยุทธ์“creating for now”

 

ปีที่ผ่านมา อินเด็กซ์จัดงาน 6 อีเว้นต์ ดึงคนเข้ามาร่วมงานรวมกัน 1 แสนคนบนออนกราวน์ และ 3 ล้านคนบนออนไลน์ ส่งผลให้ทั้งปีอินเด็กซ์ปิดรายได้ที่ 580 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 33% จาก 3 ธุรกิจ คือ กลุ่มครีเอทีฟ บิซซิเนส ดีเวลลอปเม้นท์ เพิ่มขึ้น 158% กลุ่มมาร์เก็ตติ้งเซอร์วิส ลดลง 26% และกลุ่มโอน-โปรเจค (Own-Project) เพิ่มขึ้น 54%

 

จากความสำเร็จนี้ อินเด็กซ์ ได้วางงานปีนี้ จะจัดงานอีเว้นต์มากถึง 20 อีเว้นต์ต่อเนื่องตลอดทั้งปีและตั้งเป้าผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างน้อย 2 เท่าจากปีก่อน

อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ

แม้จะดูเหมือนเป็นภารกิจที่จะสำเร็จไม่ง่าย แต่ผู้บริหารเชื่อว่า ด้วยกลยุทธ์อีเว้นต์แบบ “Experience and Content Platform” จะทำให้อินเด็กซ์ ไปถึงฝันแน่นอน เพราะอิงตามเทรนด์ “FOMO-FOTO” หรือการที่คนไม่อยากตกกระแส และต้องอยู่ในเทรนด์ตลอดเวลา การร่วมงานอีเว้นต์จึงไม่ใช่แค่หาประสบการณ์ แต่ต้องมีคอนเทนต์ที่จะไปอยู่บนโซเชียลมีเดียได้ด้วย ดังนั้นรูปแบบอีเว้นต์ที่จะออกมาหลังจากนี้ นอก จากคอนเซ็ปท์งานดี บรรยากาศต้องสวย เอื้อต่อการสร้างคอนเทนต์ของผู้ร่วมงาน

 

ท้ายที่สุด โอกาสที่ ปี2565 จะเป็น “ฟ้าใหม่” จากมาตรการผ่อนคลายเปิดสถานที่ เปิดประเทศ ก็อาจทำให้ใจชื้นขึ้นมาได้บ้างว่า ปีนี้น่าจะเป็นปีแห่งการเริ่มต้นใหม่ของธุรกิจ event หรือไม่ เพราะอย่าลืมว่าแม้จะไม่มีการล็อกดาวน์ แต่เงื่อนไขของการกักตัวทำให้การจัดงานในระดับอินเตอร์เนชั่นแนลหลายๆ งานก็ต้อง “เบรค” ไว้ก่อน