เอกชนไม่หวั่น ‘โอมิครอน’ เดินหน้าจัดอีเว้นท์ เชื่อรัฐเอาอยู่

08 ธ.ค. 2564 | 14:01 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ธ.ค. 2564 | 21:13 น.

เอกชนเมินโควิดสายพันธุ์ “โอมิครอน” ระบาด เชื่อมั่นรัฐบาลเอาอยู่ หลังพบผู้ติดเชื้อเร็ว ไม่ลุกลามเดินหน้าจัดบิ๊กอีเว้นท์ กระตุ้นกำลังซื้อ หวังดันเศรษฐกิจสะพัด สมาพันธ์เอสเอ็มอีชง 8 มาตรการรับมือ THA วอนอย่าล็อกดาวน์ อย่าปิดประเทศเหตุกระทบหนักแบกรับภาระไม่ไหว

หลังประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ “โอมิครอน” (Omicron) รายแรก เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.64 ซึ่งเป็นชายไทยสัญชาติอเมริกันเดินทางจากสเปนถึงกรุงเทพฯเมื่อวันที่ 30 พ.ย.64 ขณะที่ผลการตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงทั้งหมด 19 ราย พบว่าเป็นลบ และนายกรัฐมนตรียังเชื่อมั่นระบบสาธารณสุขไทย มีกระบวนการการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และคัดกรองที่มีประสิทธิภาพและเข้มข้นสูง สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว จึงยังไม่มีการเปลี่ยนแนวทางหรือนโยบายเรื่องของการเปิดประเทศแต่อย่างใด

 

การเดินหน้าเปิดประเทศต่อ ส่งผลมายังการจัดกิจกรรมขนาดใหญ่หรือบิ๊กอีเว้นท์ ของทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่เตรียมจัดขึ้นตลอดเดือนธันวาคมต่อเนื่องถึงเดือนมกราคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นที่มีการจับจ่ายสูง และต่างคาดหวังจะสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจให้สะพัด
 

อีเว้นท์


จากการสำรวจของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่าอีเว้นท์ใหญ่ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นงานเคาน์ดาวน์ที่จัดโดยททท. หรือห้างยักษ์อย่างเซ็นทรัลเวิลด์ ไอคอนสยาม สยามพารากอน ก็ยังคงมีอยู่ เช่นเดียวกับอีเว้นท์ที่จัดในศูนย์แสดงสินค้าใหญ่อย่างอิมแพ็คเมืองทองธานี ไบเทค รวมถึงศูนย์การค้าต่างๆ ก็ยังคงมีอยู่ ไม่ได้ยกเลิกหรือเลื่อนการจัดงานแต่อย่างใด โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า มีความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถตรวจคัดกรองและป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดรุนแรงได้

 

เดินหน้าบิ๊กอีเว้นท์ทั่วไทย

นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เซ็นทรัลพัฒนายังเชื่อมั่นการดำเนินงานด้านสาธารณสุขของไทย โดยในศูนย์การค้าเซ็นทรัลทุกสาขายังจัดแคมเปญใหญ่ Forwarding Happiness 2022 เนรมิตศูนย์การค้าเซ็นทรัลทั่วประเทศเป็น The Best Thailand’s Happiness Landmark และเทศกาลของขวัญยิ่งใหญ่ในหลายสาขาทั่วประเทศด้วยงบการตลาดถึง 400 ล้านบาทในไตรมาส 4 เช่นเดิม

 

“ทุกศูนย์การค้าของเซ็นทรัลยังคงเดินหน้าจัดงานและตกแต่งต้นคริสต์มาสให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขให้เป็นแลนด์มาร์กและสะท้อนเอกลักษณ์ประจำจังหวัด รวมทั้งจัดงานอีกกว่า 100 อีเว้นท์ เพื่อส่งเสริมภาพรวมการจับจ่ายใช้สอยและการท่องเที่ยวของคนไทยอย่างเต็มที่ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ด้วย”

อีเว้นท์


ชง 8 มาตรการสกัดโอมิครอน

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า หลังจากตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทยแล้ว ถ้าควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศได้ดีและการแพร่ระบาดไม่มีความรุนแรง คาดว่าภาคการท่องเที่ยว การค้า การบริการจะคึกคักขึ้นในช่วงปลายปี และรัฐต้องมามุ่งเน้นเศรษฐกิจชุมชนฐานราก หรือ Local Economy มากขึ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่สำคัญต้องทบทวนการใช้มาตรการแจกเงินพยุงเศรษฐกิจที่ต้องร่วมกับการสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนว่างงาน รายได้น้อย แก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน รวมทั้งให้ลดการพึ่งพาภาครัฐในระยะยาว
 

แสงชัย ธีรกุลวาณิช


อย่างไรก็ดี ภาครัฐควรเร่งวางมาตรการรับมือสายพันธุ์โอมิครอน โดยเน้นสร้างความตระหนักที่ไม่ตื่นตระหนก พร้อมยกระดับการเฝ้าระวัง ทันต่อสถานการณ์การกลายพันธุ์ ประกอบไปด้วย

 

1. Seal ป้องกันคนเข้าเมืองผิดแบบกฎหมายอย่างเข้มงวดในทุกช่องทาง

 

2. Screening ปรับแผนการคัดกรองนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องแม่นยำ รวดเร็ว

 

3. Tracking มีระบบและกระบวนการติดตามนักท่องเที่ยวให้ความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน และสามารถควบคุมพื้นที่เสี่ยงได้ทันที

 

4. Vaccine เตรียมพร้อมวัคซีนให้เพียงพอ เร่งฉีดวัคซีน 100% ให้กับทั้งคนไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในไทย

 

5. ATK ควบคุมราคา ชุดตรวจโควิดด้วยตนเองให้มีราคาไม่เกิน 40 บาท ต้องจัดปริมาณให้เพียงพอ เข้าถึงง่ายกระจายทั่วถึง และควรมีบางส่วนสนับสนุนกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางให้ตรวจได้ฟรีตามสถานพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ เพื่อลดการแพร่ระบาด

 

6. Public health system เตรียมความพร้อมสถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ เครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์ และยารักษาโรคที่เพียงพอ

 

เอกชนไม่หวั่น ‘โอมิครอน’ เดินหน้าจัดอีเว้นท์ เชื่อรัฐเอาอยู่


7. Communication จัดช่องทางการสื่อสารให้ประชาชนตระหนัก รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รวดเร็ว เชื่อถือได้ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ลงในระดับชุมชนให้เป็นทิศทางเดียวกัน

 

8 Internal Control มาตรการควบคุมภายในประเทศ การดูแลสุขภาพส่วนบุคคล แผนบริหารความเสี่ยงของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาให้มีความปลอดภัย เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจภายในประเทศสามารถขับเคลื่อนไปได้ตามปกติ เพื่อภาครัฐจะไม่เป็นภาระงบประมาณในการเยียวยา บรรเทาวิกฤติซ้ำซ้อนที่รุนแรงขึ้นไปอีก

 

วอนรัฐอย่าล็อกดาวน์-ปิดประเทศ

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า การพบโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนของไทย หวังว่ารัฐบาลจะไม่ใช้วิธีการล็อกดาวน์ในไทยรอบใหม่หรือปิดประเทศอย่างที่ผ่านมา แต่ควรจะเน้นไปที่การออกมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาเฉพาะจุด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโอมิครอน ซึ่งคงต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาล รวมถึงข้อมูลการระบาดด้วย ว่า การติดที่รวดเร็ว และวัคซีนที่ฉีดไปแล้วเบาเทาอาการของการติดเชื้อได้หรือไม่ คาดว่ารัฐบาลจะมีความชัดเจนภายใน 1-2 สัปดาห์นี้

 

โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการโรงแรมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเป็นอย่างดีในการเปิดประเทศ มีการดำเนินการตามขั้นตอนและมาตรการของรัฐทุกอย่าง เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินควบคู่ไปกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ธุรกิจโรงแรมที่เปิดอยู่หรือกลับมาเปิด ส่วนใหญ่ก็ยังมีการดำเนินงานกระท่อนกระแท่น พนักงานที่กลับมาทำงานก็ยังได้รับเงินเดือนไม่เต็ม ธุรกิจยังขาดทุน เงินทุนหมุนเวียนมีน้อย หากมีการล็อกดาวน์ประเทศรอบใหม่ ธุรกิจโรงแรมหรือท่องเที่ยวคงไม่ไหวแล้ว และจะกระทบรุนแรงจนอยู่ต่อไปไม่ได้แน่นอน

 

เชื่อศก.ปี65 ยังขยายตัว

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้โควิดสายพันธุ์ “โอมิครอน” อยู่ในสายพันธุ์ที่น่ากังวลและมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตาว่าจะเกิดการระบาดใหญ่อีกครั้งจนนำไปสู่การล็อกดาวน์ครั้งใหม่หรือไม่ ทั้งนี้หากไม่รุนแรงถึงขั้นล็อกดาวน์หรือปิดประเทศอีก คาดเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวได้ดีขึ้นจากปีนี้

 

“รัฐบาลจะต้องคุมเข้มเพื่อป้องกันและควบคุมโควิดไม่ให้กลับมาระบาดใหม่ โดยเฉพาะความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลักลอบเข้าเมืองที่ผิดกฎหมายของแรงงานต่างด้าว และต้องมีมาตรการเฝ้าระวังที่เคร่งครัดจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่”

 

ด้านนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า หากสถานการณ์โควิดกลับมาวิกฤติอีก รัฐบาลจะล็อกดาวน์ก็ควรจะล็อกบางส่วนในกิจกรรมที่มีความเสี่ยง แต่ในกลุ่มร้านอาหาร ร้านค้า ตลาดนัด ไม่เคยเกิดคลัสเตอร์ ก็ไม่ควรจะสั่งล็อกดาวน์ ส่วนการเปิดประเทศที่เปิดแล้วก็ต้องมีแบบมีแผน มีวิธีการทำงาน ไม่ใช่เปิดแบบเสรีไร้ขีดจำกัด ที่สำคัญเศรษฐกิจชุมชนและฐานรากไม่ควรไปแตะ เพราะตรงนี้เป็นความมั่นคงด้านอาหาร และความมั่นคงของชาติ ถ้าฐานรากพัง เศรษฐกิจข้างบนจะพังไปด้วย ขอให้รัฐบาลดูแลเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง