เทรนด์ท่องเที่ยวปี 65 ซื้อ "วอเชอร์" ก่อน เที่ยวทีหลัง มาแรง!

10 ม.ค. 2565 | 16:47 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2565 | 23:54 น.

" มาคาเลียส" สตาร์ทอัพธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ ชี้ "เทรนด์ท่องเที่ยวปี 65" คุณภาพต้องมาก่อน พบ รูปแบบ การซื้อวอเชอร์ที่พัก (voucher) ก่อน แล้วเที่ยวทีหลัง มาแรง เหตุยืดหยุ่นเรื่องเวลาได้ ขณะการท่องเที่ยวเมืองใกล้ พัทยา หัวหิน รับประทานอาหารบนเรือ ได้รับความนิยมสูงขึ้น

10 ม.ค.2565 - นางสาวณีรนุช ไตรจักร์วนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาคาเลียส ประเทศไทย จำกัด (Makalius) กล่าวว่า "ภาพรวมด้านธุรกิจการจัดจำหน่าย วอเชอร์ (voucher) ท่องเที่ยว ของมาคาเลียส ในปี 2564 ที่ผ่านมาอยู่ในระดับคงที่ มียอดจำหน่ายวอเชอร์รวมกว่า 20,000 วอเชอร์ หรือประมาณ 50 ล้านบาท 

 

แม้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่กลุ่มลูกค้ายังคงให้การตอบรับเป็นอย่างดีใน การซื้อวอเชอร์ทั้งที่พักและร้านอาหาร อันเป็นผลมากจากพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป ประกอบกับความไม่แน่นอนของนโยบายด้านการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 

“ซื้อก่อนเที่ยวที่หลัง” มาแรง 

 

ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่หันมาใช้บริการในรูปแบบ วอเชอร์ “ซื้อก่อนเที่ยวที่หลัง” เพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจัยสำคัญคือเรื่องของความยืดหยุ่นด้านเวลา หากเกิดความไม่แน่นอนก็สามารถเลื่อนการท่องเที่ยวออกไปได้ 

 

นอกจากนี้ มาคาเลียสยังพบพฤติกรรมที่น่าสนใจจากการทำผลสำรวจความเพิ่งพอใจของกลุ่มลูกค้าที่มาใช้บริการกว่า 10,000 คน พบว่า 65% นิยมท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ใกล้ตัว อย่างเช่น พัทยา หัวหิน เขาใหญ่ กาญจนบุรี เป็นต้น เพราะมองว่าการท่องเที่ยวในพื้นที่ใกล้ๆ ไม่ต้องวางแผนอะไรมากนัก และช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ง่าย 50% ลองท่องเที่ยวแบบใหม่เพื่อเพิ่มประสบการณ์ อาทิ การรับประทานอาหารค่ำบนเรือบนเรือสำราญ เป็นต้น 

พร้อมพบว่า 48% นิยมท่องเที่ยวแบบกลุ่มเล็กกับเพื่อนหรือครอบครัว จำนวนไม่เกิน 5-10 คน เพราะเชื่อว่าการเที่ยวกับบุคคลใกล้ตัวจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ และที่สำคัญที่สุดคือ กว่า 80% มองหาที่พัก ร้านอาหารที่มีความสะอาดและถูกสุขอนามัย มีตราสัญญาลักษณ์รับรองมาตรฐาน 

 

มาคาเลียส ดัน แพกเกจการท่องเที่ยว 

ส่งผลให้แผนการตลาดของมาคาเลียสในปี 2565 จะมุ่งใช้กลยุทธ์ "Customize & Quality Traveler" เพื่อให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวในรูปแบบฐานวิถีใหม่ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ ผลิตภัณฑ์ หรือ แพคเกจ (Product) ถือเป็นหัวใจสำคัญของมาคาเลียสที่สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง คือการจำหน่ายวอเชอร์แบบแพกเกจ รวมที่พัก อาหาร สถานที่ท่องเที่ยว

 

โดยจะมีการพัฒนาแพคเกจให้มีความแตกต่างและช่วยเพิ่มประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวใหม่ๆ ให้กับลูกค้า รวมถึงการเพิ่มบริการออกแบบแพคเกจการท่องเที่ยวที่ต้องกับความต้องการของลูกค้าโดยเฉพาะ อาทิ Makalius Senior travel หรือการท่องเที่ยวฉบับผู้สูงวัย 

 

เน้นโรงแรมที่มีพื้นที่กว้างขวาง มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับรถเข็น และมีจุดท่องเที่ยวในพื้นที่ไม่ใกล้กัน Makalius family travel แพคเกจสำหรับครอบครัว ก็จะเน้นห้องพักแบบครอบครัว ที่มาพร้อมบัตรสวนสนุก หรือจะเป็น Makalius Mutelu travel เอาใจสายมูที่ชอบเสริมดวง กับเส้นทางท่องเที่ยวบูชาสิ่งศักสิทธิ์ชื่อดังในประเทศไทย เป็นต้น

 

ต่อมาคือ พันธมิตร (Partner) ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ ดังนั้นการหาพันธมิตรใหม่ๆ ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร และเรือสำราญ ต้องพิจารณาจากคุณภาพและต้องตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่เปลี่ยนไป เช่น ความแปลกใหม่ของโรงแรมที่พัก ความเป็นส่วนตัว ความสะอาด และกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มประสบการณ์ท่องเที่ยว เป็นต้น พร้อมทั้งต้องมีการหารือร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์บริการใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำแบบใครให้กับลูกค้า ซึ่งปัจจุบันมาคาเลียสมีพันธมิตรร่วมเปิดให้บริการในระบบทั้งสิ้นกว่า 200 ราย และตั้งเป้าภายในปี 2565 จะต้องมีจำนวนพันธมิตรเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10-20%

 

นางสาวณีรนุช กล่าวต่อว่า  “การปรับแผนการตลาดของมาคาเลียสในครั้งนี้ คาดว่าจะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี ประกอบกับการคาดการณ์ภาพรวมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยปี 2565 จะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญด้วยปัจจัยต่างๆ  คือ ภาครัฐบาลในการกระตุ้นด้านการท่องเที่ยว ความเชื่อมั่นและมั่นใจของคนไทยต่อสถานที่ท่องเที่ยว การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ทั่วถึง จะเห็นได้ว่าประเทศที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฟื้นตัวเร็ว คือประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนที่สูง”