บทเรียนโควิด-19 ที่ธุรกิจท่องเที่ยวต้องเรียนรู้

10 ม.ค. 2565 | 15:35 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2565 | 22:37 น.

บทเรียนโควิด-19 ที่ธุรกิจท่องเที่ยวต้องเรียนรู้ : คอลัมน์ ยังอีโคโนมิสต์ โดยธรรมทัช ทองอร่าม ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี

นับตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 ปี 2563 เป็นต้นมา ได้ส่งผลเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจของไทยค่อนข้างมากและต่อเนื่อง กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศหยุดชะงัก ประชาชนเดินทางน้อยลง การบริโภคลดลง ภาคธุรกิจก็เจ็บหนักกันไปตามๆ กัน โดยภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ภาคท่องเที่ยว

 

ฉบับนี้ ขอนำเสนอผลกระทบการระบาดโรคโควิด-19 ต่อภาคการท่องเที่ยวในแต่ละช่วงเวลาที่มีการระบาดรุนแรงจนภาครัฐใช้มาตรการควบคุมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดใน 3 ระลอก ดังนี้

 

บทเรียนโควิด-19 ที่ธุรกิจท่องเที่ยวต้องเรียนรู้

  • ระลอกที่ 1 ช่วงเดือนเมษายน 2563 – มิถุนายน 2563 เป็นช่วงที่การระบาดเกิดขึ้นอย่างรุนแรงครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับความร้ายแรงของโรคมากนัก ภาครัฐจึงประกาศล็อกดาวน์ประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลให้อัตราการเข้าพักโรงแรมลดลงทันทีเหลือร้อยละ 2-13 ในช่วงเวลาดังกล่าว จากระดับอัตราการเข้าพักปกติอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60 ในปี 2562

 

ทำให้รายได้จากท่องเที่ยวของไทยที่เคยทำได้เฉลี่ย 2.3 แสนล้านบาทต่อเดือน ลดลงเหลือร้อยละ 96 เหลือเพียงเฉลี่ย 1.3 หมื่นล้านบาทต่อเดือน จากนั้นเดือนพฤษภาคม 2563 แนวโน้มการติดเชื้อลดลง ภาครัฐจึงผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ภาคการท่องเที่ยวสามารถฟื้นตัวกลับมาได้เล็กน้อย โดยอัตราการเข้าพักโรงแรมปรับตัวขึ้นมาร้อยละ 25 แต่ทว่า รายได้ส่วนใหญ่ก็มาจากนักท่องเที่ยวไทย เนื่องจากการคลายล็อกดาวน์ยังไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทย 

  • ระลอกที่ 2 ช่วงเดือนธันวาคม 2563 – มกราคม 2564 เป็นช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่มาจากแรงงานต่างด้าวที่จังหวัดสมุทรสาคร ภาครัฐจึงประกาศล็อกดาวน์แบบเข้มเฉพาะพื้นที่ที่มีการระบาดหนัก การระบาดในช่วงดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยวจำกัดในบางพื้นที่เท่านั้น ทำให้อัตราเข้าพักโรงแรมทั้งประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 11-16 รายได้จากการท่องเที่ยวเฉลี่ยอยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท

 

การระบาดในระลอกที่ 2 ผลกระทบน้อยกว่า เนื่องจากภาครัฐมีการจำกัดพื้นที่ล็อกดาวน์เฉพาะส่วนที่มีการระบาดมาก อย่างไรก็ดี รายได้จากการท่องเที่ยวก็ยังต่ำกว่าระดับปกติในปี 2562 ประมาณ 87% แยกเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยหายไป 65% ในขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศหายไปทั้งหมด

 

  • ระลอกที่ 3 ช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 - กันยายน 2564 เป็นช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่ค่อนข้างรุนแรง และขยายวงกว้างทั่วประเทศ ภาครัฐประกาศล็อกดาวน์ และแยกพื้นที่ตามความรุนแรงของการระบาดเป็น “สีแดงเข้ม สีแดง สีเหลือง สีเขียว” เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาพรวมทั้งประเทศ และลดผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ทว่า การแพร่ระบาดระลอกนี้ค่อนข้างรุนแรง มีการติดเชื้อหลายคลัสเตอร์ในแต่ละพื้นที่ ทำให้มีการยกระดับพื้นที่ความรุนแรงจากสีเขียว และสีเหลือง เป็นสีแดง สีแดงเข้มในหลายจังหวัด

 

การระบาดในช่วงนี้ อัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ 5 - 9% และรายได้เฉลี่ยจากการท่องเที่ยวก็ลดลงเหลือเพียง 4.4 พันล้านบาทต่อเดือน ซึ่งลดลงจากระดับปกติในปี 2562 ถึง  98.9% นับว่าเป็น 4 เดือนที่ธุรกิจท่องเที่ยวไทยเจ็บหนักที่สุดนับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19  

 

ทั้งนี้ อาจไม่สามารถกล่าวถึงบทสรุปการแพร่ระบาดต่อภาคการท่องเที่ยวไทยได้ เนื่องจากแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ได้เกิดขึ้นอีก ดังนั้น ในปี 2565 ภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทยจะยังคงเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 ต่อไป จากสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ที่สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว

 

ในข่าวร้ายยังพอมีข่าวดีอยู่บ้างจากผลวิจัยเบื้องต้นชี้ว่าความรุนแรงของอาการจะน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า แต่ก็ยังประมาทไม่ได้เนื่องจากสายพันธุ์  “โอมิครอน” เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ต้องติดตามความรุนแรงการแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด เพราะหากเชื้อเพิ่มความเจ็บป่วยรุนแรง จะทำให้มีโอกาสที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้น  ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขไทยทำงานได้ยากลำบากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ไทยมีประสบการณ์มากขึ้นเกี่ยวกับการระบาดของโรคโควิด-19 ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน สามารถเรียนรู้ที่จะอยู่กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรู้เท่าทัน หากเปรียบ โรคโควิด-19 เป็นงู และมีคนเอามาให้เลี้ยงโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

สิ่งที่ทำได้ คือ คนเลี้ยงต้องคอยระมัดระวังตัว ถ้าไม่ระวังมันก็กัดได้ตลอดเวลา ฉะนั้น การระบาดของโรคโควิด-19 ต้องระมัดระวัง ป้องกันการแพร่ระบาด ภาครัฐควรเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทั้งประเทศ และเร่งฉีดเข็ม 3 ให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่เปราะบาง รวมถึงเตรียมระบบสาธารณสุขให้พร้อม

 

ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ ไทยคงไม่สามารถจะล็อกดาวน์แบบเข้มข้นได้เหมือนครั้งก่อน ๆ เพราะภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการซบเซามา 2 ปีติดต่อกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้ประสบการณ์การแก้ไขวิกฤตที่ผ่านมา นำมาปรับใช้ต่อสู้กับสถานการณ์โควิด-19 ด้วยความระมัดระวัง

 

ขณะที่ผู้ประกอบการต้องร่วมมือทำตามมาตรการความปลอดภัย (Covid Free Setting) เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด ได้แก่

  1. ทำความสะอาดพื้นที่ทันที ทั้งก่อนและหลังการเข้าบริการ
  2. พนักงานทั้งหมดต้องฉีดวัคซีนเข็ม3  และตรวจ ATK ให้พนักงานทุก 7-14 วัน  
  3. จัดทำระบบการเข้ารับบริการและจัดพื้นที่เข้าใช้บริการ
  4. คัดกรองผู้เข้าใช้บริการโดยต้องผ่านการฉีดวัคซีนอย่างน้อยสองเข็ม

 

สำหรับภาคประชาชนต้องตั้งการ์ดให้ดี ใส่หน้ากากเมื่อเข้าแหล่งชุมชน เว้นระยะห่างทางสังคม และล้างมือเป็นประจำ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคโควิด-19 ได้  หากทุกคน “ป้องกัน ระมัดระวัง และผ่อนคลาย(ล๊อก)” ก็จะเป็นทางรอดของธุรกิจท่องเที่ยวไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การช่วยเหลือกันจะทำให้ประเทศไทยสามารถเดินฝ่ามรสุมระลอกใหม่นี้ต่อไปได้ เพื่อรอคอยการกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง