วัคซีนป้องกันฝีดาษลิงได้ชื่ออะไร ต้องฉีดยังไง มีประสิทธิภาพแค่ไหน อ่านเลย

25 พ.ค. 2565 | 09:11 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ค. 2565 | 15:12 น.
1.7 k

วัคซีนป้องกันฝีดาษลิงได้ชื่ออะไร ต้องฉีดยังไง มีประสิทธิภาพแค่ไหน อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หลังพบวัคซีนป้องกันฝีดาษคนสามารถใช้ได้

วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงได้มีจริงหรือไม่ เป็นคำถามที่หลายคนกำลังให้ความสนใจ เนื่องจากเวลานี้โรคฝีดาษลิงพบผู้ป่วยแล้วในหลายประเทศ ทั้งในทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลียนั้น


"ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปไขคำตอบเรื่องของวัคซีนป้องกันฝีดาษลิงได้ว่ามีชื่อว่าอะไร และประเทศใดที่เป็นผู้พัฒนา ใช้ได้ผลดีหรือไม่


น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ ว่า


วัคซีนป้องกันฝีดาษคน สามารถป้องกันฝีดาษลิงได้ราว 85%
 

และจากการตรวจสอบล่าสุดพบว่า นอกจากวัคซีนเก่า (ACAM2000) ที่เคยใช้ได้ผลดีเมื่อหลายสิบปีก่อน โดยวิธีการที่เรียกว่าปลูกฝีคือ หยดวัคซีนหรือหนองฝีลงไป แล้วสะกิด
 

พบว่ามีวัคซีนชนิดใหม่ ที่ไม่ใช่การหยดแล้วสะกิด แต่เป็นการฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง (Subcutaneous) ไม่ใช่การฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (Intradermal) ที่ผลิตสำเร็จและใช้อยู่ก่อนแล้วเป็นของบริษัทเดนมาร์ก

 

และได้รับการรับรองจากอย.สหรัฐอเมริกา(USFDA)


สำหรับรายละเอียดของวัคซีนที่เป็นความหวังในการป้องกันฝีดาษลิงนั้น ประกอบด้วย 

 

  • วัคซีนชื่อการค้า JYNNEOS

 

  • ผลิตโดยบริษัท Bavarian Nordic A/S ของเดนมาร์ก

 

วัคซีนป้องกันฝีดาษลิงได้ชื่ออะไร ต้องฉีดยังไง

 

  • เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น ผลิตจากไวรัสสายพันธุ์ใกล้เคียงกับฝีดาษคนชื่อ MVA-BN : Modified Vaccinia Ankara-Bavarian Nordic
     

 

  • ขั้นตอนการผลิต เลี้ยงไวรัสในเซลล์ไข่ไก่ฟัก (CEF :  Chicken Embryo Fibroblast)
  • ฉีด 2 เข็ม เข้าชั้นใต้ผิวหนัง ห่างกัน 28 วัน
     
  • ขนาดที่ฉีด 0.5 CC
     
  • ฉีดในคนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
     
  • ผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ แดง เจ็บบริเวณที่ฉีด มีอาการร้อน คัน และอาจปวดเมื่อยได้
     
  • วัคซีนได้ผลดี กระตุ้นทั้งระบบน้ำเหลือง (Humoral) และระบบเซลล์ (Cellular)
     
  • ป้องกันได้ทั้งโรคฝีดาษคนและฝีดาษลิง
     
  • กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าวัคซีนแบบเดิมถึงสองเท่าคือ 152.8 GMT(PRNT) เทียบกับของเดิม 84.4  GMT
     

ที่น่าสนใจคือการปลูกฝีแบบเดิม ซึ่งทำมาหลายสิบปีแล้วนั้น พบว่าภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานนับสิบปี โดยมีค่าครึ่งอายุนานถึง 92 ปี
 

ส่วนวัคซีนใหม่นี้ กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงกว่า แต่เป็นวัคซีนใหม่จึงต้องศึกษาต่อไปว่า ภูมิคุ้มกันจะอยู่ได้นานเพียงใด