Full Endo TLIF เป็นทางเลือกใหม่ในการผ่าตัดกระดูกสันหลังเคลื่อนสำหรับ “ผู้สูงอายุ”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยด้านอายุถือเป็นข้อจำกัดในการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด แต่ถ้ามีการวางแผนที่ดีร่วมกับการรักษาอย่างตรงจุด เรื่องของ “อายุ” จะไม่มีผลต่อการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดแต่อย่างใด
วันนี้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผ่าตัดพัฒนาก้าวล้ำขึ้นมาก โดยการผ่าตัดแบบแผลเล็กจะช่วยลดระยะเวลาของการผ่าตัด ลดการบาดเจ็บ ลดการเสียเลือด ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน และผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ทำให้การผ่าตัดกระดูกสันหลังในผู้สูงอายุ มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงอย่างแรกในการผ่าตัดกระดูกสันหลังเคลื่อนในผู้สูงอายุคือ ข้อมูลทางการแพทย์ ประเด็นที่ว่าอันตรายหรือไม่อันตราย ขอย้ำว่าถ้ามีข้อมูลทางการแพทย์ที่เพียงพอ การวินิจฉัยและการวิเคราะห์อย่างละเอียด ก็แทบจะไม่มีความเสี่ยงเลย” นพ.วิศิษฐ์ แซ่ล้อ แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาท บอกอีกว่า
ในอดีตการผ่าตัดกระดูกสันหลังเคลื่อนจะต้องเปิดแผลให้กว้างเพื่อให้ศัลยแพทย์สามารถเข้าไปนำหมอนรองกระดูกที่เสื่อมออกมา และก็สามารถสอดใส่หมอนรองกระดูกเทียมอันใหม่เข้าไปแทนได้ จากนั้นก็จะใส่โลหะชนิดยึดตรึงกระดูกเพื่อยึดข้อต่อที่เสื่อม ซึ่งต้องยอมรับว่าการผ่าตัดแบบเดิมนี้แผลค่อนข้างใหญ่
มีการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อเยอะ ส่งผลต่ออาการปวด หลังการผ่าตัดทำให้คนไข้หลายๆ รายมีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีนัก และยังมีผลต่อเรื่องของการฟื้นฟู เพราะหลังการผ่าตัดจะต้องทำกายภาพบำบัดเคลื่อนไหวร่างกาย และอาจส่งผลทำให้รู้สึกกังวล
“Full Endo TLIF” เป็นเทคนิคใหม่ ที่ใช้กล้องเอ็นโดสโคปเข้ามาช่วยเปลี่ยนข้อยึดตรึงกระดูก ในกรณีกระดูกสันหลังเคลื่อนซึ่งเปลี่ยนจากกล้องแบบสมัยก่อน มาเป็นกล้องเอ็นโดสโคป หรือกล้องส่องทางรูแผล อาการปวดจากแบบประเมินทางการแพทย์แสดงให้เห็นว่า ลดลงจากเดิมครึ่งหนึ่งหากเปรียบเทียบกับภาพรวมของระบบเดิม กับการทำแบบใช้กล้องเอ็นโดสโคป อาการปวดแผลของคนไข้ลดลงประมาณ 25% เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดแผล หากใช้แบบประเมินความปวดจะเหลืออยู่ที่ระดับ 2-3 คะแนน เท่านั้นจากระดับของความปวดทั้งหมด 10 คะแนน
หลังการผ่าตัดวันรุ่งขึ้น คนไข้ก็สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ สามารถลุกเดินจากเตียงเข้าห้องน้ำเพื่อทำกิจวัตรประจำวันได้ภายในคืนเดียว ซึ่งถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติวงการผ่าตัดแบบเดิม เทคนิคใหม่นี้ทำให้ประสบการณ์การรักษาของคนไข้เปลี่ยนไป และต่างชื่นชมว่าเป็นการผ่าตัดที่ได้ผลลัพธ์ที่ดีภายในวันเดียว เพราะส่วนใหญ่ไม่บาดเจ็บกล้ามเนื้อและอาการปวดบาดแผลก็มีน้อย
หลังจากทำการรักษาคนไข้ส่วนใหญ่จะดีขึ้น และสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ แต่ในบางรายอาจจะต้องใช้เวลามากกว่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของผู้ป่วย แม้ว่าจะรู้สึกดีขึ้นหลังจากทำการผ่าตัด แต่ถ้าหากยังปฏิบัติตัวเหมือนเดิม เช่น ก้มตัว นั่งกับพื้น นั่งยองๆ หรือยกของหนัก ก็มีโอกาสที่จะต้องกลับมาผ่าตัดใหม่ได้ในอนาคต
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,956 วันที่ 11 - 13 มกราคม พ.ศ. 2567