อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว หรือภาวะ Post Vacation Blues ไม่ใช่โรคทางจิตเวช ปกติจะเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งและสามารถหายไปเองได้ โดยสาเหตุมักเป็นอาการที่เกิดขึ้นหลังจากได้หยุดยาว เช่น หลังหยุดยาวช่วงเทศกาล หรือหลังจากวันลาพักร้อน และยิ่งเดินทางนานเท่าไร ภาวะอาการนี้ก็จะยิ่งมากขึ้น
ถึงแม้การท่องเที่ยวจะช่วยให้ได้พักผ่อนเหมือนชาร์จพลังงานชีวิตอีกครั้ง แต่เมื่อเข้าสู่สภาวะปกติของโหมดชีวิตประจำวันที่ต้องเผชิญกับความเครียด ความกังวล ความเร่งรีบต่าง ๆ อาจทำให้รู้สึกหม่นหมอง เศร้ามากขึ้นกว่าเดิม
อาการที่พบคือ รู้สึกหงุดหงิดง่าย, สมาธิลดลง, ขาดแรงจูงใจในการทำงาน การเรียน หรือการใช้ชีวิตตามปกติ, มีปัญหาการนอน, เกิดความเหนื่อยล้าทางจิตใจ, หวนคิดถึงช่วงเวลาแห่งความสุขในวันหยุดยาวที่ผ่านมา และหมกมุ่นกับการมองหาวันหยุดครั้งต่อ ๆ ไป อาการเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้น 2-3 วันแรก หลังจากหยุดยาวขึ้นอยู่การปรับสภาพจิตใจของแต่ละคน
นายแพทย์โยธิน วิเชษฐวิชัย แพทย์ชำนาญเฉพาะด้าน โรคสมองเสื่อม, โรคอารมณ์แปรปรวณ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท อธิบายว่า การหากิจกรรมที่ตัวเองชอบทำ การออกกำลังกาย ฟื้นฟูร่างกายด้วยอาหารจำพวกโปรตีน ผลไม้และผักสด หรือวิตามินต่างๆ รวมถึงการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยจัดการกับ อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาวได้
หากต้องการปรับสภาพจิตใจสามารถทำงานอดิเรกที่ชอบ เช่น ปลูกต้นไม้ ดูหนัง ฟังเพลง ทำอาหาร วาดภาพ เล่นกับสัตว์เลี้ยง ออกกำลังกาย หรือกิจกรรมใดๆ ที่มีความสุขและทำได้ไม่เบื่อ แต่ถ้าไม่มีสิ่งชอบ ก็สามารถจัดบ้าน ทำความสะอาดบ้าน อาจช่วยให้คุ้นเคยและอยู่กับบ้านมากขึ้น ผลพลอยได้คือ บ้านก็สะอาดขึ้นด้วย
สำหรับผู้ที่ยังรู้สึกเหนื่อยล้าและอ่อนเพลียมากเกินไป สามารถมองหาอาหารจำพวกโปรตีนปราศจากไขมัน เช่น เนื้อสัตว์ ไก่ ปลา ผลไม้และผักสดที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ในปริมาณสูง รวมทั้งไขมันที่ดีต่อสุขภาพจากแหล่งต่างๆ น้ำมันมะกอกและถั่วในปริมาณที่เหมาะสม
อีกสิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับหลายคน ก็คือการเที่ยวในช่วงวันหยุดทำให้เหนื่อยมากขึ้น เพราะกิจกรรมที่ได้วางแผนไว้ และการนอนหลับที่ไม่เป็นเวลาสำหรับ รวมถึงต้องรีบรับประทานอาหารมากๆ ในเวลาใกล้กัน อาจส่งผลทำให้นอนหลับไม่สนิท หรือหลับไม่เต็มที่
ดังนั้นการนอนหลับให้เพียงพอในช่วง 2-3 วันแรกหลังเที่ยว เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ต่อสุขภาพ เพราะขณะหลับร่างกายจะมีการซ่อมแซมและปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง เพื่อกลับมาสู่โหมดภาวะปกติ ดังนั้นจึงควรนอนในเวลาที่เหมาะสมประมาณ 22.00 น. ทุกคืน และควรนอนหลับให้ได้ 7-8 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูกลับสู่สภาวะเดิมได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,955 วันที่ 7 - 10 มกราคม พ.ศ. 2567