แม้โลกธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ธุรกิจครอบครัวมักเป็นสัญลักษณ์ของความยืนยาวและมั่นคง จากการบริหารจัดการที่เน้นผลระยะยาว แต่จุดอ่อนร้ายแรงที่อาจสั่นคลอนเสถียรภาพนี้ก็คือการส่งต่ออำนาจระหว่างรุ่น ซึ่งงานวิจัยชี้ชัดว่า มีเพียง 30% ของธุรกิจครอบครัวเท่านั้นที่รอดพ้นยุคผู้ก่อตั้ง สาเหตุหลักเกิดจากความยากลำบากในการหาผู้สืบทอดที่พร้อมทั้งทักษะในการขับเคลื่อนธุรกิจต่อยอดความฝันของตระกูล และรักษาจิตวิญญาณองค์กรให้คงอยู่ท่ามกลางคลื่นลมแห่งการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกนั่นเอง
ปัญหาหลักของการส่งมอบธุรกิจคือ ความยึดติดสูตรเก่า ของผู้ก่อตั้ง ที่ยังคงใช้กลยุทธ์ล้าสมัย ทั้งที่เคยได้ผลในอดีต สิ่งนี้ไม่เพียงทำให้องค์กรหยุดนิ่ง แต่ยังปิดกั้นโอกาสเติบโตแบบก้าวกระโดดอีกด้วย อย่างไรก็ตามช่วงเปลี่ยนผ่านนี้เอง คือโอกาสสำหรับการ รีเซ็ตธุรกิจ หากผู้สืบทอดมีวิสัยทัศน์และทักษะที่เหมาะสม จะสามารถปรับกลยุทธ์ให้ทันสมัย ปรับโครงสร้างองค์กร และสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ โดยมี 3 กับดักที่ต้องก้าวข้ามให้ได้ ประกอบด้วย
1. ผู้ก่อตั้งครองบัลลังก์นานเกินไป การอยู่ในตำแหน่งยาวนานทำให้ความคิดตีบตัน ขาดการอัปเดตเทรนด์โลก งานวิจัยชี้ว่า ซีอีโอที่ทำงานเกิน 10 ปี มักนำพาธุรกิจให้ขาดนวัตกรรมและเสียโอกาสแข่งขัน
2. ทักษะเดิมตามไม่ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว สถานการณ์บางอย่างต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น ช่วงเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงที่จำเป็นต้องมีซีอีโอที่เชี่ยวชาญการฟื้นฟูธุรกิจแทนที่จะเป็นผู้ก่อตั้งที่เชี่ยวชาญแค่การขยายกิจการ เป็นต้น
3. กับดักความสำเร็จ (Icarus Paradox) ความสำเร็จในอดีตอาจกลายเป็นกับดักทางความคิด ผู้ก่อตั้งที่หลงใหลในความสำเร็จเดิมทำให้มองไม่เห็นว่าธุรกิจเริ่มไม่ตอบโจทย์ตลาด
การส่งต่ออำนาจต้องเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมโดยผู้ก่อตั้งควรปรับบทบาทจากผู้บัญชาการไปเป็นผู้อำนวยความสะดวกขณะที่รุ่นลูกหลานค่อยๆ ก้าวจากมือใหม่หัดขับไปสู่กัปตันทีมซึ่งการมีคณะกรรมการหรือกลไกบริหารช่วยกำหนดกรอบกติกาจะลดความขัดแย้งและสร้างความโปร่งใสได้
สิ่งที่ต้องทำทันทีหลังได้ซีอีโอใหม่ คือเริ่มจากจัดตั้งทีมที่ปรึกษารุ่นเก่า-ใหม่ เพื่อผสานมุมมองต่างยุคให้เกิดพลังร่วม ต่อด้วยการตั้งกฎกติกาการตัดสินใจที่ชัดเจน เช่น ใช้ระบบโหวตหรือมีคณะกรรมการตรวจสอบ และที่ขาดไม่ได้ คือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทดลองเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากโครงการเล็กก่อนขยับสู่การปรับโครงสร้างใหญ่
โดย 3 คุณสมบัติต้องมีใน DNA ของผู้สืบทอด ได้แก่
1. ทักษะครบเครื่อง ต้องมีทั้งภาวะผู้นำ ความรู้ลึกในอุตสาหกรรม และประสบการณ์ทำงาน เพื่อตัดสินใจเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้ทันกระแส
2. ใจนักสู้รับมือความขัดแย้ง กล้าทำสิ่งใหม่ที่แตกต่างจากรุ่นก่อน แต่ยังคงความสัมพันธ์อันดีกับเครือข่ายเดิม โดยเฉพาะครอบครัว พนักงาน และชุมชน
3. สมดุลระหว่างนวัตกรรมกับรากเหง้า ปรับกลยุทธ์ให้ทันสมัยโดยไม่ทิ้งคุณค่าครอบครัวเช่น ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความมั่นคง และวัฒนธรรมองค์กร
ข้อควรระวังบนเส้นทางการเปลี่ยนผ่าน
ความจริงที่ต้องยอมรับ คือการเปลี่ยนผู้นำมักมาพร้อมความขัดแย้งเป็นธรรมดา โดยเฉพาะเมื่อรุ่นลูกหลานนำเสนอไอเดียใหม่ที่อาจขัดแย้งกับแนวทางเดิมของรุ่นก่อน แต่นี่คือบททดสอบสำคัญ เพราะความกล้าท้าทายธรรมเนียมเดิมคือหัวใจของธุรกิจครอบครัวที่อยากยืนยาวผ่านยุคสมัย และมีข้อควรระวังได้แก่
รักษาจิตวิญญาณขององค์กรไว้ให้มั่น เช่น ความสัมพันธ์กับชุมชนหรือความเป็นพี่น้องในทีม สื่อสารด้วยความเข้าใจ แม้ปรับนโยบายใหม่ก็ต้องให้เกียรติภูมิปัญญารุ่นก่อน ผิดพลาดได้ แต่ต้องกล้าลงมือทำ เพราะไม่ใช่ทุกการเปลี่ยนแปลงจะสำเร็จในครั้งแรก
สรุปได้ว่าการสืบทอดธุรกิจครอบครัวไม่ใช่แค่การ ส่งมอบกุญแจสำนักงาน แต่คือการ ส่งต่อไฟแห่งความหวัง ที่ต้องผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาเดิมกับนวัตกรรมใหม่ ซึ่งหากทำได้อย่างลงตัว นอกจากจะรักษามรดกตระกูลแล้ว ยังอาจสร้างอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่กว่ายุครุ่นพ่อแม่เสียอีก
ที่มา: Riefolo, M., Özkara, S., Istipliler, B., & Ahrens, J.-P. (2024, August 22).Renewing the empire: A family firm's succession and refit journey. Family Business.org.https://familybusiness.org/content/renewing-the-empire-a-family-firms-succession-and-refit-journey