thansettakij
จีนเพิ่มผลิตภาพการเกษตร ด้วยเทคโนโลยีการเพาะเมล็ดพันธุ์ (4)

จีนเพิ่มผลิตภาพการเกษตร ด้วยเทคโนโลยีการเพาะเมล็ดพันธุ์ (4)

16 เม.ย. 2568 | 01:00 น.

จีนเพิ่มผลิตภาพการเกษตร ด้วยเทคโนโลยีการเพาะเมล็ดพันธุ์ (4) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4088

ที่น่าสนใจอีกประเด็นก็คือ การขยายความร่วมมือของศูนย์วิจัยเมล็ดพันธุ์และองค์กรที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และกับองค์กรของจีนและต่างประเทศ ซึ่งช่วยดึงดูดนักวิจัยต่างชาติให้ไปเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนความชำนาญการและเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมมากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2023 ความร่วมมือในการวิจัยระหว่างสถาบันฯ กับสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรเขตร้อนของจีน (Chinese Academy of Tropical Agricultural Sciences) และผู้ผลิตมันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดในโลก จำแนกตามขนาดพื้นที่การเพาะปลูกจากไนจีเรีย ยังนำไปสู่นวัตกรรมพันธุ์มันสําปะหลังที่ทนทานต่อศัตรูพืช 

โดยทีมวิจัยในโครงการอาศัยการผนวกการศึกษาถึงความต้านทานต่อแมลงและยาฆ่าแมลง และความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสู่ผลผลิตที่สูงด้วยแนวทางสีเขียว ความสำเร็จดังกล่าวยังนำไปสู่การพัฒนาพันธุ์มันสําปะหลังและเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกนําไปใช้ในอีกหลายประเทศในเวลาต่อมา เช่น ไนจีเรีย สาธารณรัฐคองโก ยูกันดา และ กัมพูชา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 4 ล้านไร่ ซึ่งช่วยบรรเทาความยากจนและความหิวโหยได้ในวงกว้าง

นอกจากนี้ จีนก็ยังขยายผลการวิจัยเมล็ดพันธุ์อื่นและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอื่น อาทิ การทำฟาร์มอัจฉริยะครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกรวมหลายร้อยล้านไร่ในหลายประเทศ อาทิ บราซิล เม้กซิโก ตุรกี เกาหลีใต้ เวียตนาม และ ลาว 

ไทยก็นับเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนในเรื่องเหล่านี้ เช่น การใช้โดรนกับการทำสวนยางพารา และระบบการบังคับเลี้ยวอัจฉริยะของรถแทรกเตอร์ ที่นำทางด้วยดาวเทียม และการติดตั้งเซ็นเซอร์แทนการมองเห็นของมนุษย์ รวมทั้งระบบชลประทานแบบประหยัดน้ำอัจฉริยะในการทำนาข้าว ไร่อ้อย มะเขือเทศ และ มันสำปะหลัง รวมทั้งผลไม้เมืองร้อน

นอกจากการดำเนินการผ่านหน่วยงานภาครัฐที่ร่วมมือกับองค์กรของจีนและต่างประเทศแล้ว จีนยังให้ความสำคัญกับการปนับปรุงเมล็ดพันธุ์ผ่านองค์กรเอกชน 

จีนตระหนักดีถึงความสำคัญของบริษัทเมล็ดพันธุ์ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการผลิตเมล็ดพันธุ์ การมีอยู่ของบริษัทที่มีความสามารถในการบูรณาการนวัตกรรมเข้ากับความต้องการของตลาดจะมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ

ยิ่งหากพิจารณาจากซัพพลายเออร์เมล็ดพันธุ์ระดับโลก ที่เกือบทั้งหมดอยู่บนรากฐานของกิจการเอกชนด้วยแล้ว จีนก็เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการเร่งยกเครื่องอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ภายในประเทศ โดยหวังให้กิจการเอกชนจะได้รับการส่งเสริมให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการวิจัยและพัฒนา โดยได้รับการสนับสนุนด้านการวิจัยพื้นฐานและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจากภาครัฐ

เราจึงเห็นรัฐบาลจีนกำหนดนโยบาย และมาตรการที่ให้รางวัลแก่กิจการขนาดใหญ่ที่ลงทุนในการผสมพันธุ์ การขยายพันธุ์ การดัดแปลงพันธุกรรม และอื่นๆ นับแต่ปี 2011 อาทิ การยกระดับมาตรฐาน การผ่อนคลายขั้นตอนการตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ และการเพิ่มวงเงินอุดหนุนการผสมพันธุ์ 

สิ่งนี้ทำให้เกิดการร่วมลงทุนระหว่างกิจการเมล็ดพันธุ์ของจีนและต่างชาติ นำไปสู่การพลิกโฉมตลาดเมล็ดพันธุ์ โดยในระหว่างปี 2011-2018 จำนวนกิจการท้องถิ่นลดลงราวครึ่งหนึ่ง และนำไปสู่การควบรวมกิจการขนาดใหญ่หลายราย อาทิ ไชน่าเคม (ChinaChem) กับซินเจนต้า (Syngenta) ในปี 2017

ขณะที่ หลงผิงไฮเทค (Longping High-tech) ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่อีกรายของจีนและอยู่ที่อันดับ 9 ของโลก ก็เทคโอเวอร์ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดของโดว (Dow) ในบราซิล และขยายการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาจากข้าวไปสู่ข้าวโพด ถั่วเหลือง และข้างฟ่าง ส่งผลให้จีนกลายเป็นที่ตั้งของบริษัทจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก

                                             จีนเพิ่มผลิตภาพการเกษตร ด้วยเทคโนโลยีการเพาะเมล็ดพันธุ์ (4)

อย่างไรก็ดี โดยที่ในช่วงหลายปีหลัง ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ 2 อันดับแรกของจีนมีสัดส่วนทางการตลาดไม่ถึง 10% ของตลาดโดยรวม ซึ่งถือว่าน้อยเกินกว่าจะปกป้องอุปทานเมล็ดพันธุ์ในประเทศได้ นั่นเท่ากับว่า จีนอาจต้องเผชิญกับการผูกขาดทั่วโลกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น 

ระดับการแข่งขันและการกระจุกตัวในตลาดเมล็ดพันธุ์โลกทำให้ผู้กำหนดนโยบายของส่วนกลางและชาวจีนกังวลใจอยู่ไม่น้อย ปักกิ่งจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนจีนในอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ ซึ่งตามมาด้วยการกำหนดนโยบายและมาตรการในหลายรูปแบบ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันกับมหาอำนาจด้านเมล็ดพันธุ์ของโลก โดยมุ่งลดการเติบโตในเชิงปริมาณและหันไปมุ่งเน้นการพัฒนาในเชิงคุณภาพ 

ในแง่ของการพัฒนาโดยรวม จีนตระหนักดีว่า เกษตรกรต้องที่มีที่ดินและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม รัฐบาลจีนจึงเดินหน้า “ปฏิรูปภาคการเกษตร” ครั้งใหญ่ ไล่ตั้งแต่การปลดล็อกการถ่ายโอนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ไม่ต้องจำกัดอยู่เฉพาะกับทายาท และพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์ด้านการเกษตร รวมทั้งการสร้างระบบสินเชื่ออัตราดอกเลี้ยต่ำที่คล่องตัวเพื่อสนับสนุนธุรกิจเอกชนและดึงดูดให้คนหนุ่มสาวกลับมาสู่ภาคการเกษตร

ในปี 2011 คณะรัฐมนตรีจีนได้กำหนดมาตรการสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาความสามารถในการเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์ธัญพืชหลัก และราว 3 ปีต่อมา คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) ยกระดับการควบคุมราคาเมล็ดพันธุ์เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในตลาด 

ในปี 2016 รัฐบาลจีนก็ยังประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์การเข้าสู่ตลาดเพื่อลดจำนวนบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ จีนยังกล้าเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ โดยมุ่งเน้นไปที่พืชตัดต่อพันธุกรรมผ่านเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพืชสำหรับผลิตเป็นอาหารสัตว์ อาทิ ข้าวโพด และ ถั่วเหลือง ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มบทบาทในตลาดเมล็ดพันธุ์โลกในอนาคตอันใกล้

ผลจากการนี้ ทำให้เราเห็นการเติบใหญ่ของบริษัทเมล็ดพันธุ์ผุดขึ้นในหลายพื้นที่ด้านการเกษตรของจีนในยุคหลัง อาทิ ไฮเจนเทค (Higentec) และเย่วลู่ซานแลบอราทอรี (Yuelushan Laboratory) ในนครฉางซา (Changsha) มณฑลหูหนาน ที่มุ่งเน้นการพัฒนาการเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวและเรปซีด (ที่ใช้สกัดเป็นน้ำมันพืช)

รวมทั้งซานตงเติงไห่ซีด (Shandong Denghai Seed) ซัพพลายเออร์เมล็ดพันธุ์รายใหญ่สุดของจีนที่เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดของบริษัทถูกนำไปเพาะปลูกบนพื้นที่ 600 ล้านไร่ทั่วจีนในปัจจุบัน ถึงขนาดว่า หลี่ เติงไห่ (Li Denghai) ประธานกิตติมศักดิ์ของบริษัทได้รับการขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งข้าวโพดพันธ์ผสม” เฉกเช่นเดียวกับ ดร.หยวน หลงผิง (Yuan Longping) “บิดาแห่งข้าวพันธุ์ผสม” ของจีน

นโยบายและมาตรการส่งเสริมที่คลอดออกมาอย่างต่อเนื่องเหล่านี้ ยังเปิดโอกาสให้แก่ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ของต่างชาติ ขณะที่จีนก็ให้ความสำคัญกับการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาด้านการเกษตรควบคู่ไปด้วย ซึ่งผมจะขอชวนคุยกันต่อในตอนหน้า ...