“กระดูกพรุน” ป้องกันได้

13 เม.ย. 2568 | 05:26 น.

“กระดูกพรุน” ป้องกันได้ : Tricks for Life

เมื่ออายุเพิ่มมาก ภาวะกระดูกบางลง และนำไปสู่ “ภาวะกระดูกพรุน”

การเกิด “ภาวะกระดูกพรุน” จะไม่ส่งสัญญาณเตือนใด รู้อีกทีเมื่อภาวะกระดูกหักแล้ว หรือบางคนรู้สึกว่าความสูงลดลงเพราะกระดูกสันหลังค่อยๆ ยุบตัว ซึ่งภาวะกระดูกพรุน ถ้าตรวจพบเร็วช่วยให้วางแผนป้องกันและรักษาได้

โรคกระดูกพรุนเป็นภาวะที่มีการเสื่อมสลายของเนื้อกระดูกทำให้เนื้อกระดูกบางลงเรื่อยๆ โดยทั่วไปมวลกระดูกจะหนาแน่นที่สุดในช่วงอายุ 30 ปี และมวลกระดูกจะค่อยๆ ลดลง และจะพบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 50 ปี โดยจะพบผู้ป่วยผู้หญิงได้ในอัตราส่วน 1 ใน 2 คน ขณะที่ผู้ชายพบได้ 1 ใน 5 คน

ผู้ป่วยภาวะกระดูกพรุน จะเสี่ยงกระดูกหักได้ง่าย เมื่อกระดูกเคยหักแล้ว ก็มีโอกาสที่จะหักซ้ำได้อีกเรื่อยๆ วิธีการที่จะป้องกันได้ดี และรวดเร็วที่สุด คือ การตรวจหามวลกระดูก เป็นการใช้รังสีที่มีความเข้มข้นน้อยมาก ผ่านไปที่บริเวณกระดูกเพื่อตรวจหาความหนาแน่นของกระดูก

ปริมาณรังสีที่ใช้จะน้อยกว่าการเอกซ์เรย์ปอด โดยจะมีการตรวจในตำแหน่งต่างๆ ที่มีโอกาสหักได้ง่าย ได้แก่ กระดูกสะโพก กระดูกสันหลังส่วนเอว และกระดูกส่วนปลาย เช่น ข้อมือหรือข้อเท้า การตรวจใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที สามารถทราบผลและแปลผลได้ทันทีหลังตรวจ

“กระดูกพรุน” ป้องกันได้

สำหรับผู้ที่ควรตรวจมวลกระดูก ได้แก่ คนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป, ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว, ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุนหรือกระดูกหักง่าย, คนที่มีรูปร่างผอมบาง ก็ยิ่งมีความเสี่ยงกระดูกหักได้ง่าย, คนที่ใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานานก็สามารถทำให้กระดูกบางได้

กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว บางโรคก็อาจจะทำให้มวลกระดูกลดลงได้ เช่น โรคไตวาย โรคข้อต่างๆ โรคเบาหวาน หรือคนที่มีโรคเกี่ยวกับต่อมพาราไทรอยด์ผิดปกติ, พฤติกรรมเสี่ยง เช่น คนที่ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่เป็นประจำ คนที่ดื่มชากาแฟน้ำอัดลมก็มีความเสี่ยงเช่นกัน และผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะมีภาวะกระดูกพรุนได้ง่าย

สำหรับคนที่อายุยังไม่มาก สามารถป้องกันให้ห่างไกลจากโรคกระดูกพรุนด้วยการเริ่มดูแลตนเอง แบบง่ายๆ คือ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และอาหารที่ให้แคลเซียมสูง เช่น นมหรือปลาแห้งตัวเล็กๆ ผักใบเขียว เช่น ผักโขม ผักคะน้า ใบชะพลู หรือพวกเต้าหู้ งาดำก็ช่วยได้, รับประทานอาหารที่มีวิตามินดีเพื่อช่วยในการดูดซึมแคลเซียม, ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์, หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ และ การตรวจสุขภาพและตรวจมวลกระดูกอย่างน้อยปีละครั้ง

 

ขอบคุณ : Addlife Medical Center ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี)

 

Tricks for Life หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,087 วันที่ 13 - 16 เมษายน พ.ศ. 2568