เทคนิคพิชิต “โรคกลัวเครื่องบิน”

23 ธ.ค. 2566 | 14:35 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ธ.ค. 2566 | 14:40 น.
589

เทคนิคพิชิต “โรคกลัวเครื่องบิน” : Tricks for Life

วันหยุดยาว หลายคนเลือกที่จะท่องเที่ยวไกลบ้านทั้งในและต่างประเทศ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถขึ้นเครื่องบิน เดินทางท่องเที่ยวไกลๆ ได้ เพราะเป็น “โรคกลัวเครื่องบิน”

“โรคกลัวเครื่องบิน” เป็นอาการกลัวหรือวิตกกังวลอย่างรุนแรงเมื่อต้องขึ้นเครื่องบิน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย แต่มักพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก สาเหตุของอาการกลัวเครื่องบินนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากหลายปัจจัย

ไม่ว่าจะเป็น ประสบการณ์ที่ไม่ดีในการขึ้นเครื่องบิน เช่น เคยประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกหรือเคยรู้สึกไม่สบายขณะอยู่บนเครื่องบิน, การรับชมสื่อที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเครื่องบินตกหรืออุบัติเหตุทางอากาศ รวมไปถึงความกลัวความสูงหรือความกลัวการถูกจำกัดพื้นที่

เทคนิคพิชิต “โรคกลัวเครื่องบิน”

วันนี้จึงมีเทคนิคพิชิตอาการกลัวเครื่องบิน ที่สามารถกระทำได้ง่ายๆ ดังนี้

1. กล้าที่จะเริ่มต้นออกเดินทาง : การมองข้ามช็อตไปถึงสถานที่ที่เราอยากจะไป การโฟกัสที่ปลายทาง หรือความตื่นเต้นที่จะได้ไปเห็นสถานที่ในฝันด้วยตัวคุณเอง ทำให้เราเริ่มมองการเดินทางเป็นจุดเริ่มต้นของความสุข ไม่ใช่สิ่งที่สร้างความวิตกกังวลหรือความกลัวให้กับตัวคุณ

 

2. เริ่มเดินทางด้วยเครื่องบินระยะใกล้ : จากที่เมื่อก่อนเดินทางไปเที่ยวในประเทศด้วยการขับรถส่วนตัว นั่งรถไฟ หรือนั่งรถโดยสาร ลองเปลี่ยนมาขึ้นเครื่องบินท่องเที่ยวในประเทศสักครั้ง ที่ใช้ระยะเวลาการเดินทางโดยเครื่องบินไม่เกิน 1 ชั่วโมง จะทำให้รู้สึกไม่นานหรือตึงเครียดจนเกิดความวิตกกังวลมากเกินไป ซึ่งหากมีครั้งแรกแล้วผ่านไปด้วยดี ครั้งต่อไปอาจติดใจการนั่งเครื่องบินแล้วก็ได้

3. เลือกที่นั่งให้เหมาะสม : สำหรับมือใหม่ที่มีความกังวลมาก อาจเลือกนั่งใกล้คนที่ไปด้วย เลือกที่นั่งติดกัน หรืออาจเลือกที่นั่งติดทางเดิน เพราะการที่มีคนเดินไปเดินมาใกล้ ๆ และพร้อมจะลุกออกได้ง่าย อาจทำให้รู้สึกสงบใจได้ง่ายมากขึ้น และถ้าเป็นคนที่กลัวความสูงมาก ควรหลีกเลี่ยงนั่งริมหน้าต่างเพื่อเป็นการป้องกันความวิตกกังวลที่อาจจะเกิดในช่วงการเดินทาง

4. อย่าปล่อยเวลาไปเฉยๆ หาอะไรมาทำ : การนั่งนิ่ง ๆ เฉย ๆ อาจดูน่าเบื่อหรือบางครั้งก็สร้างความกังวลมากเกินไป แนะนำให้ลองพกหนังสือที่ชอบซักเล่มขึ้นไปนั่งอ่านหรือดาวน์โหลด podcast ที่ชอบไปนั่งฟังก็จะทำให้การเดินทางในแต่ละครั้งผ่านไปได้อย่างรวดเร็ว

5. คิดในแง่บวก : หากเกิดตกหลุมอากาศขึ้นมา อย่าเพิ่งตกใจจนเกินไป เพราะกัปตันบนเครื่องบินถูกฝึกมาอย่างดี กำลังพยายามนำทุกคนกลับสู่สภาวะปกติอีกครั้ง ปัจจุบันเครื่องบินสมัยใหม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และยังมีอุปกรณ์ช่วยติดตามการเดินทาง ทำให้ความปลอดภัยของการเดินทางด้วยเครื่องบิน ปลอดภัยมากขึ้นกว่าเดิมและท่องคาถาในใจว่า หนึ่งในล้านหรือน้อยกว่านั้นที่จะเกิดอุบัติเหตุได้

6. ทำจิตใจให้สงบ : เมื่อพยายามทำทุกข้อ แต่ถ้าสุดท้ายยังมีความวิตกกังวลอยู่ ลองฝึกหายใจเข้าออกอย่างช้าๆ จะรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น บางคนอาจลองสวดมนต์บทสั้นๆ หรือทำสมาธิเป็นช่วงๆ อาจช่วยทำให้ลดความวิตกกังวลลงไปได้

หากปฏิบัติครบ 6 ข้อแล้วอาการไม่ดีขึ้นแนะนำให้มาปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม โดยการรักษาโรคกลัวเครื่องบินเริ่มจากการบำบัดทางจิตที่จะช่วยปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความกลัวเครื่องบิน รวมไปถึงการรักษาด้วยยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการทางกายที่เกี่ยวข้องกับความกลัวเครื่องบิน เช่น อาการใจสั่น หายใจถี่ หรือเหงื่อออก

ขอบคุณ : โรงพยาบาล BMHH - Bangkok Mental Health Hospital

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,951 วันที่ 24 - 27 ธันวาคม พ.ศ. 2566