เกิดจากความบกพร่องของตับอ่อน และฮอร์โมนอินซูลินในร่างกาย ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อาการสำคัญที่สังเกตได้ด้วยตนเอง คือ ปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน หิวบ่อย มีอาการชาปลายมือ ปลายเท้า บาดแผลหายช้า หากเกิดภาวะแทรกซ้อน อาจส่งผลให้จอประสาทตาเสื่อม เกิดแผลกดทับติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะติดเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของความพิการตามมา
หลักการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยโรคเบาหวานและการป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย จะเน้นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เพื่อปรับให้ร่างกายเกิดสมดุล โดยปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ลดปริมาณแป้งและน้ำตาลซึ่งการลดระดับน้ำตาลในเลือด สิ่งสำคัญอยู่ที่ การเลือกรับประทานอาหาร ซึ่งกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้นำเสนอถึงการเลือกรับประทานผักพื้นบ้านที่มีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ได้แก่
1. มะระขี้นก สมุนไพรรสขม มีสรรพคุณ แก้ไข้ ช่วยเจริญอาหาร และมีสารสำคัญที่ชื่อ charantin ที่มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ถึงแม้จะมีรสขม แต่สามารถนำมาประกอบเมนูได้หลากหลายและช่วยลดความขมลงได้ เช่น แกงคั่วมะระขี้นก มะระขี้นกผัดไข่ มะระขี้นกลวกจิ้มน้ำพริก หรือนำมาทำเป็นเครื่องดื่มสมูทตี้ผักรวม ดื่มแก้ดับกระหายและสดชื่น
2. ตำลึง เป็นสมุนไพรรสเย็น ใบและเถาของตำลึง มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด และยังมีคุณค่าทางด้านอาหารสูงนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ทั้งแกงจืด แกงเลียง และต้มเลือดหมู
3. เตยหอม มีรสหวานหอมเย็น ต้นและรากใช้ขับปัสสาวะ แก้ไข้ แก้พิษร้อน แก้ร้อนใน กระหายน้ำ และ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากจะใช้แต่งกลิ่น แต่งสีในเมนูขนมแล้ว ยังสามารถนำมาทำเป็นน้ำเตยหอม ดื่มแก้กระหายน้ำ ทำให้สดชื่น อีกด้วย
4.ผักเชียงดา เป็นผักพื้นบ้านของทางภาคเหนือ นำมาปรุงอาหาร ทำเป็นชาชง ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
5.ช้าพลู หรือชะพลู มีรสเผ็ดร้อน ใช้ขับลมในลำไส้ ช่วยเจริญอาหาร และ ลดระดับน้ำตาลในเลือด การนำช้าพลูมารับประทานสามารถรับประทานได้ทั้งสุกหรือใบดิบ แต่ไม่ควรรับประทานใบสดมากเกินไป เพราะอาจเกิดอาการเวียนศีรษะ และ อาจทำให้ เกิดนิ่วในไตหรือทางเดินปัสสาวะได้
นอกจากการรับประทานสมุนไพรผักพื้นบ้าน ที่มีสรรพคุณ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดแล้ว ยังมีตำรับยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณลดน้ำตาลในเลือดได้ดี คือ ตำรับยามธุระเมหะ สรรพคุณ ลดน้ำตาลในเลือด การใช้ยาสมุนไพรรักษาผู้ป่วยเบาหวาน จะต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ ในสถานพยาบาล
เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงย่อมหนีไม่พ้น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเหมาะสมกับร่างกาย เช่น กายบริหารท่าฤๅษีดัดตน การว่ายน้ำ รำมวยไทเก๊ก เดินเบาๆ และที่สำคัญควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และผู้ที่มีโรคประจำตัวควรได้รับการตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,941 วันที่ 19 - 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566