“มะเร็งเต้านม” ทำไมต้องทำ “แมมโมแกรม-อัลตร้าซาวด์”

29 ต.ค. 2566 | 14:25 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ต.ค. 2566 | 14:30 น.

“มะเร็งเต้านม” ทำไมต้องทำ “แมมโมแกรม-อัลตร้าซาวด์” : Tricks for Life

หลายคนเคยตั้งคำถามว่า ทำไมผู้เสี่ยงเป็น “โรคมะเร็งเต้านม” ต้องทำ “แมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์” ซึ่งการตรวจทั้ง 2 วิธีนั้นจำเป็นแค่ไหน

มะเร็งเต้านม” เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดของผู้หญิงทั่วโลกพบได้ประมาณ 1 ใน 8 ของประชากรหญิง และยังคงมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก ขณะเดียวกันโรคมะเร็งเต้านมสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากพบในระยะแรกๆ แต่มะเร็งเต้านมระยะแรกๆ มักไม่มีอาการ ดังนั้น การตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

อาการเสี่ยง

การตรวจหามะเร็งเต้านม สามารถทำได้โดยการคลำบริเวณเต้านมหรือใต้รักแร้ หากพบก้อนเนื้อซึ่งอาจกดเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้ ส่วนมีอาการอื่น ๆ ได้แก่

• เต้านมมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างหรือขนาด

• เต้านมหรือหัวนมมีรอยบุ๋มหรือแตก

• หัวนมมีการเปลี่ยนแปลง เช่น หัวนมชี้ลง หัวนมมีผื่นแดงหรือเลือดออก

• มีน้ำเหลืองหรือของเหลวไหลออกจากหัวนม

• รู้สึกเจ็บหรือปวดบริเวณเต้านม

หากพบอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเต้านมอย่างละเอียด ซึ่งปัจจุบันสามารถตรวจได้ด้วยการทำแมมโมแกรม ควบคู่กับการทำอัลตราซาวด์เต้านม หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก ๆ ก็จะมีโอกาสรักษาหายขาดได้

“มะเร็งเต้านม” ทำไมต้องทำ “แมมโมแกรม-อัลตร้าซาวด์”

ผู้ที่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้หญิงทุกคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีประวัติอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น มีประวัติทางพันธุกรรมในครอบครัว หรือมีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือรังไข่ อาจเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางเป็นรายๆ ไป และตรวจคัดกรอง“มะเร็งเต้านม” อย่างสม่ำเสมอ

รู้จัก “แมมโมแกรม-อัลตร้าซาวด์”

การทำแมมโมแกรมเป็นการตรวจภาพเต้านมโดยการใช้ภาพถ่ายทางรังสี โดยเครื่องตรวจจะปล่อยรังสีในระดับต่ำ ปริมาณรังสีเมื่อเทียบกับการตรวจเอกซเรย์ปอดพบว่าสูงกว่าเพียงเล็กน้อย หรือคิดเป็น 1 ใน 6 ของปริมาณรังสีตามธรรมชาติที่อยู่รอบตัว

ในปัจจุบันโรงพยาบาลเวชธานีมีเทคโนโลยีการตรวจด้วยแมมโมแกรม 3 มิติ ใช้เวลาถ่ายภาพเอกซเรย์เพียง 3.7 วินาทีต่อท่า ช่วยให้สามารถแยกรอยโรคออกมาจากการทับซ้อนกันของเนื้อเต้านมได้ ส่งผลให้เห็นก้อนเนื้อหรือหินปูนที่ผิดปกติได้ชัดเจนขึ้นและยังได้ภาพที่ละเอียดมากกว่าเดิม

โดยเฉพาะในคนไข้ที่มีเนื้อเต้านมที่แน่น (dense breast) การตรวจเต้านม โดยการทำแมมโมแกรมปีละ 1 ครั้งจึงถือว่ามีความปลอดภัย และช่วยให้สามารถตรวจพบความผิดปกติของเต้านมได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม

การทำอัลตราซาวด์ จะทำให้เห็นก้อนเนื้อหรือถุงน้ำในเต้านมได้ หากพบว่ามีก้อนเนื้อจะสามารถบอกขนาดและขอบเขตของก้อนเนื้อได้ว่าเรียบร้อยดี หรือค่อนไปทางมะเร็ง ซึ่งจะช่วยให้วินิจฉัยได้ละเอียดและแม่นยำยิ่งขึ้น

มะเร็งเต้านมถือเป็นภัยเงียบใกล้ตัว การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์จึงมีความสำคัญและจำเป็นสำหรับผู้หญิงทุกคนที่มีข้อบ่งชี้ เพราะมะเร็งเต้านม รู้เร็ว รักษาหายขาดได้

ขอบคุณ: โรงพยาบาลเวชธานี

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,935 วันที่ 29 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566