โภชนาการกับผู้สูงวัย

29 มิ.ย. 2567 | 04:30 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มิ.ย. 2567 | 20:21 น.
2.0 k

โภชนาการกับผู้สูงวัย คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

มีเพื่อนท่านหนึ่งได้ถามผมมาว่า คุณแม่เขามีอายุแปดสิบกว่าแล้ว ควรจะให้อาหารตามหลักโภชนาการของการดูแลผู้สูงวัยอย่างไร? เขาคงเห็นผมมีบ้านพักคนวัยเกษียณ “คัยโกเฮาส์” อยู่ ในใจผมก็คิดว่า เพื่อนผมคนนี้คงคิดว่าผมเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ หรือว่าอยากลองภูมิผมหรือไง?(คิดในใจนะครับ แต่วันนี้เขาคงรู้แล้วละว่าผมคิดเช่นนี้) 

ซึ่งอันที่จริงแล้ว เขาเองก็รับดูแลคุณแม่มาก่อนแล้วตั้งหลายปี อาหารการกินของคุณแม่ของเขา ก็ได้รับการดูแลจากผู้ช่วยภรรยา(คนใช้)อยู่ก่อนแล้ว ผมก็เห็นว่าไม่ได้แปลกประหลาดแต่อย่างไร? ทำไมเพิ่งจะนึกได้และนำมาถามเอาตอนนี้ แต่ก็เอาเถอะ...ถามมายังดีกว่าไม่ยอมถาม....ฮา
 

ที่สถานบ้านพักคนวัยเกษียณของผม เรามีนักโภชนาการประจำอยู่หนึ่งท่าน คือคุณอ้อย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ วันนี้ผมคงต้องขออนุญาตตอบคำถามเพื่อนผมด้วยตัวเองก็แล้วกัน ถ้าผิดถูกอย่างไรก็ขออภัยคุณอ้อยมาด้วยแล้วกันนะครับ
         
คนเราทุกคนเมื่ออายุมากขึ้น ล้วนแล้วแต่ต้องการอาหารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการด้วยกันทุกคน แต่เมื่ออายุยิ่งมากความต้องการด้านโภชนาการ ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนไปตามสภาพของร่างกาย การดูแลเรื่องโภชนาการจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงวัย เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี ซึ่งจะส่งผลทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั่นเองครับ

อย่างไรก็ตาม ความต้องการพลังงานและสารอาหารของผู้สูงวัย มักจะมีการเผาผลาญพลังงานลดลง มากกว่าคนหนุ่มคนสาว จึงทำให้ความต้องการพลังงานลดลงตามไปด้วย แต่การลดปริมาณอาหารที่บริโภคก็ต้องทำอย่างรอบคอบ และน่าจะต้องมีการดูแลจากนักโภชนาการ เพื่อไม่ให้ผู้สูงวัยมีการขาดสารอาหารที่จำเป็น เนื่องจากการขาดสารอาหาร จะส่งผลทำให้สุขภาพของผู้สูงวัยเสื่อมลงอย่างรวดเร็วนั่นเองครับ
       
สารอาหารตัวแรกคือโปรตีน ซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญมาก ที่ช่วยในการสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อหรือกล้ามเนื้อ การบริโภคโปรตีนที่เพียงพอ จึงช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อสลาย (Sarcopenia) แหล่งโปรตีนมีอยู่ในเนื้อสัตว์ พืชประเภทหัวและถั่ว แต่โปรตีนที่เหมาะแก่ผู้สูงวัยนั้นน่าจะได้แก่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา ไข่ และผลิตภัณฑ์จากนม 

ที่สถานบ้านพักคนวัยเกษียณของผม ก็มีผู้ที่มีอาการเส้นเลือดในสมองแตก จนทำให้เป็นอัมพฤกษ์ นอนติดเตียงมานานกว่าสามปี ก่อนที่จะเข้ามาพักที่เรา ในช่วงที่มานั้นแขนและขาด้านขวาลีบ ด้วยภาวะกล้ามเนื้อสลาย (Sarcopenia) ดีว่าทางนักโภชนาการของเรา(คุณอ้อย) ได้เร่งให้ดื่มน้ำที่ละลายโปรตีนไข่ขาว วันละสองแก้วช่วงระหว่างมื้ออาหาร การโด๊ปด้วยโปรตีนไข่ขาวผงดังกล่าว ทำให้กล้ามเนื้อขาขวา ที่ตอนมามีขนาดเท่าแขนของผม ตอนนี้กลับมาเป็นปกติเกือบ 80% แล้วครับ ส่วนที่แขนก็กลับมาแล้วเช่นกัน เพียงแต่ประสาทแขนยังคงต้องฟื้นฟูต่อไป เพื่อให้ใช้การให้ได้ แต่พูดด้วยความสัตย์จริง แขนคงยากที่จะกลับมาได้เหมือนเดิมครับ
          
นอกจากโปรตีนแล้ว วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ก็มีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกายด้วยเช่นกัน ดังนั้นผู้สูงวัยจึงมีความจำเป็นต้องทานอาหารเสริมบ้าง แต่ก็ต้องให้นักโภชนาการช่วยให้คำแนะนำนะครับ เพราะปัจจุบันนี้อาหารเสริมต่างๆ มีจำหน่ายเยอะมากในบ้านเรา ถ้าหากทานเพราะความเชื่อ แม้ร่างกายจะได้รับวิตามิน แต่ตังค์จะหมดกระเป๋าเอา 

ดังนั้นควรปรึกษานักโภชนาการก่อนก็จะดีนะครับ อย่างไรก็ตามผู้สูงวัยส่วนใหญ่ มักจะมีอาการกระดูกเสื่อมจากสภาพของอายุขัย ดังนั้นควรจะต้องเสริมด้วยวิตามินบ้างก็จะเป็นการดี โดยเฉพาะวิตามินดีและแคลเซียม ที่ช่วยในการรักษากระดูกให้แข็งแรง การบริโภคอาหารที่มีวิตามินซี วิตามินอี และเบต้าแคโรทีน(Beta-Carotene) ก็อาจจะมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคเรื้อรังต่างๆ โรคหัวใจ และมะเร็งได้ด้วยครับ  
           
อีกตัวหนึ่งคืออาหารที่มีไขมันสูงก็ลดๆ บ้าง ซึ่งผู้สูงวัยส่วนใหญ่ที่ผมเคยเจอมา แม้แต่ตัวผมเองก็ชอบทาน โดยเฉพาะข้าวขาหมู ที่เป็น “คากิ” นี่ยิ่งชอบเลยครับ แต่ก็พยายามจะลดปริมาณลง และบังคับตัวเองให้ทานเดือนละไม่เกิน 2-3 ครั้ง เพราะหน้าท้องหรือพุงเรามันจะฟ้องครับ ดังนั้นควรลดการบริโภคไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์  ซึ่งส่วนใหญ่จะพบมากในอาหารประเภททอด อาหารสำเร็จรูป และขนมอบ ควรจะเลือกทานอาหารที่มีไขมันดี เช่น ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน และไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ที่พบในถั่ว น้ำมันมะกอก และปลา จะช่วยในการลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ด้วยครับ
        
อีกอย่างหนึ่งที่ผู้สูงวัยต้องระวัง ก็คือ “คาร์โบไฮเดรต” โดยเฉพาะอาหารประเภทแป้งทั้งหลาย เราในฐานะผู้สูงวัยควรเลือกคาร์โบไฮเดรตที่มีใยอาหารสูง เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืช ผลไม้ และผัก ช่วยในการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน 

เพื่อนบางคนที่ผมเห็นมา มักจะทานข้าวเยอะมาก ผมเองแม้จะเป็นคนที่ขายข้าว(เพราะมีโรงข้าวอยู่หนึ่งโรง) ก็มักจะเตือนเพื่อนว่า ทานข้าวให้น้อยๆ หน่อย ทานกับให้เยอะก็ได้ ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยเชื่อหรอกครับ คงเป็นเพราะว่า “ไม่เห็นเบาหวาน ไม่ยอมหยุดทาน” เสียเป็นส่วนใหญ่ครับ 
       
อีกอย่างหนึ่งที่มนุษย์เราขาดไม่ได้เลย นั่นคือ “น้ำ” เราอาจจะไม่เคยคิดถึงเลยว่าการดื่มน้ำนั้นมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตมาก นอกจากการบริโภคน้ำที่สะอาดไม่มีสิ่งปนเปื้อน เป็นเรื่องที่เราผู้สูงวัยควรจะต้องใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง แต่บางคนอาจจะแย้งผมว่า สมัยโบราณน้ำก็ไม่เห็นมีการกรองหรือกลั่นมาก่อน อย่างดีก็ดื่มน้ำฝนที่เก็บในไหในตุ่มเท่านั้น  แต่ทำไมปู่-ย่า ตา-ยายเราถึงได้อายุยืนกว่าคนปัจจุบันนี้ก็มีละ? 

ก็ต้องบอกว่าภูมิต้านทานของคนในอดีตนั้น น่าจะดีกว่าคนรุ่นใหม่นะครับ ดังนั้นก็คงไม่อยากจะเถียงครับ เอาเป็นว่าคงต้องให้คนที่เถียงเรื่องนี้ ลงไปถามปู่-ย่า ตา-ยายดูเองก็แล้วกัน ผมก็ได้แต่บอกว่าการดื่มน้ำให้เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากผู้สูงวัยมักมีความสามารถในการรับรู้ความกระหายน้ำลดลง การขาดน้ำอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของร่างกายและสมองได้ง่ายๆ ครับ
       
สุดท้ายที่อยากจะแนะนำ คือการปรับเมนูอาหารให้เหมาะสมกับผู้สูงวัยครับ เพราะว่าสภาพร่างกายของผู้สูงวัยนั้น ฟันเฟืองก็คงไม่เหมือนอดีตแล้ว หรือการย่อยของกระเพาะอาหารก็ไม่เหมือนเดิม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงสภาพฟัน การเคี้ยว การกลืนอาหารของผู้เฒ่าผู้แก่อย่างพวกเราบ้างก็จะดีนะครับ  ถ้าหากผู้สูงวัยมีปัญหาในการเคี้ยวหรือกลืนอาหาร  ลูกหลานหรือผู้ดูแลก็ควรเลือกอาหารที่อ่อนนุ่มหรือปั่นละเอียด เพื่อให้ง่ายต่อการบริโภคของผู้สูงวัย ก็จะเป็นพระคุณอย่างสูงครับ....สาธุ....แฮ่