กระดูกทับเส้นกับชายชรา

15 มิ.ย. 2567 | 04:55 น.

กระดูกทับเส้นกับชายชรา คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลายวันก่อน ภรรยาผมถามผมว่า ช่วงนี้คุณรู้สึกมั้ยว่าคุณเตี้ยลงไปหรือเปล่า? ผมก็ตอบไปว่า “หือ...ไม่นะ ผมปกติดี” ภรรยาผมจึงบอกว่า “คนแก่ทุกคนเตี้ยลงเมื่ออายุมาก ไม่เห็นจะผิดปกติตรงไหน คนนั้นก็เตี้ยลงคนนี้ก็เตี้ยลงคุณก็ยอมรับเสียเถอะ...”  ผมก็เลยบอกว่า “ก็เป็นเรื่องปกติ สาละวันยังเตี้ยลงเล้ย....”
           
อันที่จริงการหดตัวของหมอนรองกระดูก เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ร่างกายเราหดตัวหรือเตี้ยลงได้  เพราะเมื่อการที่หมอนรองกระดูก ระหว่างข้อกระดูกหดตัวเพราะน้ำไขข้อลดลง มักจะเกิดกับผู้สูงวัยเป็นส่วนใหญ่ เพราะเกิดจากความเสื่อมสภาพของร่างกายมนุษย์นั่นแหละครับ ซึ่งส่วนใหญ่หมอนรองกระดูกสันหลัง  ตรงข้อด้านล่างของกระดูกเอว เป็นจุดที่มีความเสื่อมสูงสุดตามสถิติมากที่สุด ซึ่งก็จะทำให้เกิดการกดทับของเส้นประสาทได้บ่อยมาก 

รวมถึงหมอนรองกระดูกสันหลังที่ส่วนต้นคอ ก็มักจะมีโอกาสเสื่อมมากเช่นกัน ส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจากการใช้งานหนัก หรือบางคนที่ชอบขยับบิดคอ ให้เกิดเสียงดังกรุบกรับ ตัวผมเองเมื่อตอนเป็นวัยรุ่น ก็ชอบที่จะขยับบิดคอตนเองเช่นกัน เพราะพอได้ยินเสียงดัง ก็จะรู้สึกว่าสบายตัวดี ยิ่งตอนที่ไปนวดแผนโบราณ หมอนวดจับคอเราหมุน ยิ่งดังยิ่งสะใจ หารู้ไม่ว่านั่นเป็นการสร้างปัญหาให้เราในภายหลัง เมื่อตอนร่างกายเราชราภาพแท้ๆ เลยครับ
      
อันที่จริงการนวดแผนโบราณนั้น ถ้าหากเป็นการนวดที่ไม่ใช้ความรุนแรงมากๆ เช่น ขยับบิดคอหรือหักเอวแรงๆ เพื่อทำให้เกิดเสียงดังกร๊อบแก๊บ ผมก็คิดว่าดีนะครับ แต่สำหรับคนแก่ๆ อย่างผม ที่กระดูกกระเดี้ยวไม่ค่อยแข็งแรงมากเหมือนตอนหนุ่มๆ ก็ไม่อยากให้หมอนวดทำอะไรรุนแรงมากนะครับ เพราะหากหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม ซึ่งมักจะมีอาการยุบตัวของกระดูกสันหลังลงมา ถ้าไม่มีอาการกดทับเส้นประสาท ที่จะทำให้เราเจ็บปวดก็ดีไปครับ แต่ถ้าเกิดโชคไม่ดีที่กระดูกเสื่อมมากๆ หรือบังเอิญไปกดทับเส้นประสาทก็จะมีอาการปวดตามมาเราก็แย่นะครับ
 

ที่บ้านพักคนวัยเกษียณของผม ก็มีผู้มาพักฟื้นจากอาการผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกในไขกระดูกสันหลังออก เพื่อรักษาอาการชาตามนิ้วมือนิ้วเท้า และนำเอาก้อนเนื้อไปพิสูจน์หาสาเหตุดูอยู่ท่านหนึ่ง ผมเคยสอบถามท่านว่า อาการเริ่มแรกของท่านมีอาการอย่างไร? ท่านก็ตอบว่า แรกๆ ก็มีอาการชาๆ ต่อมาเมื่อทิ้งเวลานานวัน ก็เริ่มเจ็บปวดตามมา ท่านก็อดทนมาโดยตลอด เพราะไม่คิดว่าจะรุนแรง จนกระทั่งทนอยู่นานหลายปี จึงทนไม่ไหวได้ตัดสินใจไปพบแพทย์ 

ซึ่งแพทย์ท่านได้ทำการถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์ CT Scan ทำให้พบว่ามีก้อนเนื้ออยู่ในไขสันหลัง จึงได้ทำการเจาะเอาก้อนเนื้อดังกล่าวออก ในช่วงที่มาพักฟื้นกับทางเราใหม่ๆ ก็มีปัญหาเรื่องของเดินเหินแล้ว อีกทั้งอาการชาที่ยังคงมีอยู่ ซึ่งก็ได้ไปพบแพทย์อยู่ตลอดเวลา จึงทำให้อาการดีขึ้น ไม่มีปัญหามากเหมือนตอนที่มาใหม่ๆ แล้วละครับ
       
ดังที่กล่าวมาแล้วว่า หากมีอาการผิดปกติบางอย่างในร่างกายของเรา เราในฐานะผู้สูงวัย ไม่ควรจะชะล่าใจเลยครับ ควรจะต้องไปพบแพทย์ ให้ท่านช่วยตรวจดูอาการ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้นานเกินควร อาจจะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนของโรคได้ โดยเฉพาะโรคกระดูกทับเส้น ที่เราชาวชายชราทั้งหลาย มักจะเจอกันอยู่เป็นประจำครับ
      
การที่เราจะสามารถรู้ได้ว่าเรามีอาการกระดูกทับเส้นหรือไม่ ก็สามารถตรวจเช็คหรือสังเกตดูได้ด้วยตัวท่านเองนะครับ วิธีการตรวจเช็คก็มีอยู่หลายวิธีเช่น มีอาการปวดสะโพกร้าวลงขาหรือไม่?  พวกเราคนแก่ทั้งหลาย หากมีอาการปวดสะโพกหรือเอว หรือมีอาการปวดร้าวลงขา ไม่ว่าจะเป็นข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง โดยลักษณะปวดร้าวลงขาส่วนใหญ่ มักจะร้าวไปที่ก้นหรือด้านหลังต้นขา ซึ่งอาจเกิดขึ้นพร้อมกับอาการชา และส่วนใหญ่อาการจะเป็นหนักมากๆ ในตอนที่เรานั่งนานๆ หรือยืนนานๆ นั่นก็จำเป็นไปพบแพทย์หน่อยก็จะดีนะครับ
       
อาการอ่อนแรงที่ขา ให้ตรวจเช็คง่ายๆ คือให้ลองกระดกข้อเท้าขึ้นหรือกระดกนิ้วโป้งเท้าขึ้นค้างไว้ หรือว่าถ้าคุณมีเพื่อนอาจจะลองให้เพื่อนใช้มือต้านแรงๆ ในขณะที่เรากระดกเท้าหรือนิ้วโป้งเท้าไว้ เทียบกับอีกข้างที่ปกติก็ได้ ถ้ารู้สึกว่าอ่อนแรงกว่าอีกด้าน นั่นก็เป็นสัญญาณอีกอย่างที่บอกว่า เราควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลแล้วครับ 
     
อีกหนึ่งคือให้สังเกตเวลา ไอ จาม เบ่ง ว่ามีอาการปวดหลังหรือสะโพกหรือไม่? นั่นอาจแสดงถึงการมีอาการของหมอนรองกระดูกเคลื่อนได้  ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะสายเกินแก้ครับ  
      
อาการชาที่ส่วนขา สามารถเช็คได้ง่ายๆ โดยการใช้ไม้จิ้มฟัน มาจิ้มบริเวณที่รู้สึกชาเทียบกับขาอีกด้านหนึ่ง หากรู้สึกแตกต่างกัน ก็อาจบ่งบอกได้ว่านั่นคืออาการชา(ไม่ใช่กาแฟ)แน่ๆครับ 
       
พวกเราชาววัยชราทั้งหลาย บางท่านพอปวดเมื่อยนิดๆ หน่อยๆ ก็มักจะบอกว่าเป็นโรคกระดูกทับเส้นเสียแล้ว ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งข้ออ้าง ที่สามารถนำมายื่นขอวีซ่าจากผู้บัญชาการสูงสุดในบ้าน เพื่อออกไปพบหมอ(นวด)ได้เช่นกัน แต่ต้องระวังนะครับ บางท่านอาจจะนวดเพลินไปหน่อย ทำให้กระดูกกระเดี้ยวเคลื่อนได้ง่ายๆครับ