การกลืนอาหารยากของผู้สูงวัย

18 พ.ค. 2567 | 05:25 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ค. 2567 | 06:40 น.

การกลืนอาหารยากของผู้สูงวัย คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ช่วงที่ผ่านมาปัญหาการกลืนอาหารลำบากของแม่ยายผม เป็นหัวข้อหนึ่งที่ภรรยาผมนำมาถกเถียงกับผมเป็นประจำ เพราะผมได้พาคุณแม่ยาย ที่มีอาการอัมพาตมายาวนานมาพักที่บ้านพักคนวัยเกษียณของผม แม่ยายผมท่านมีอายุ 94 ปีแล้ว ปกติท่านจะอาศัยอยู่กับน้องชายภรรยาของผมที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ตอนที่เราได้ไปรับท่านมาอยู่กับเรา ท่านได้มีอาการนอนติดเตียงแล้ว ไม่สามารถเดินด้วยตนเองได้ อีกทั้งยังมีอาการที่ไม่รู้สึกตัวและพูดไม่ได้แล้ว ช่วงที่ก่อนมาท่านได้พำนักอยู่ที่เชียงราย ที่นั่นพยาบาลต้องให้อาหารทางสายยางมาโดยตลอด 

เมื่อมาอยู่ในที่บ้านพักคนวัยเกษียณ “คัยโกเฮ้าส์” ของเรา ทางนักโภชนาการวิชาชีพ ได้สั่งให้แม่ครัวทำอาหารประเภทน้ำ (ไม่ให้มีอาหารที่เป็นชิ้นเป็นก้อนเลย) และให้อาหารด้วยสายยางเช่นกัน แต่มาอยู่ได้ไม่นาน เราก็พยายามให้เอาสายยางออก และมาให้รับประทานทางปาก แต่ยังคงเป็นอาหารบดละเอียดข้นนิดหน่อย  ลูกๆ โดยเฉพาะภรรยาผมดูแล้วก็มาขอให้ผม ให้สั่งแม่ครัวจัดทำอาหารที่เป็นชิ้นเป็นก้อนให้ท่านทานบ้าง เพราะสงสารท่าน คิดว่าท่านคงจะต้องการรับประทานอาหารประเภทปกติบ้าง ซึ่งผมก็คัดค้านมาโดยตลอด เพราะเกรงว่าจะเกิดอาการอันตรายต่อตัวท่าน และจะขอให้ค่อยเป็นค่อยไปก่อน เพราะอันตรายในภาวะกลืนลำบาก เป็นเรื่องที่ผู้สูงอายุควรจะต้องระวังเป็นอย่างยิ่งครับ หากมีอาการปัจจุบันทันด่วนขึ้นมา แล้วเราแก้ไขไม่ทันการ อาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ครับ
 

อาการภาวะกลืนลำบาก (Dysphagia) เมื่อหลายเดือนก่อน ผมได้อ่านพบในบทวิจัยฉบับหนึ่ง ซึ่งตัวผมเองจำไม่ได้แล้วว่าอ่านมาจากไหน ถ้าผมจำไม่ผิด น่าจะเป็นมาจาก PubMed ที่มีผู้วิจัยได้ทำการวิจัยแล้วว่า ส่วนใหญ่ต้นกำเนิดของอาการนี้ จะเกิดจากโรคสมองเกือบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน หรือเส้นเลือดในสมองแตก โรคเนื้องอกในก้านสมอง สารพัดของโรคสมอง เป็นต้น ทำให้เกิดความผิดปกติในการกลืนอาหาร 

ซึ่งเกิดการทำลายศูนย์ควบคุมการกลืนของประสาทสมอง ส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อของคอ และหลอดอาหารส่วนบน ส่งผลให้กล้ามเนื้อในการเคี้ยวและกลืน อันเนื่องมาจากความผิดปกติของเส้นประสาทสมอง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถปิดปากได้สนิทขณะเคี้ยวอาหาร รวมทั้งไม่สามารถผลักอาหารเข้าสู่หลอดอาหารได้ ทำให้เกิดภาวะกลืนลำบากในผู้สูงวัย ที่ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งได้แก่ภาวะขาดน้ำ ภาวะขาดอาหาร และที่สำคัญคือการสำลักอาหาร ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ภายใน 4-5 นาทีเมื่อหายใจไม่ออก ก็ส่งให้ผู้สูงวัยได้กลับบ้านเก่าในทันทีเลยครับ

ดังนั้นผู้ดูแลผู้สูงวัย จะต้องหมั่นระมัดระวังผู้สูงวัยเวลาที่ท่านทานอาหาร ไม่ควรจะคลาดสายตาโดยเด็ดขาด ผมเคยทราบเรื่องราวของคุณพ่อของเพื่อนท่านหนึ่ง ที่เกิดอาการเช่นนี้ และจำต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับ ดังนั้นการที่จะคิดแต่เพียงว่า ผู้สูงวัยคงอยากจะทานอาหารแบบปกติธรรมดาสามัญ แต่ถ้าเกิดมีอาการไอหรือจาม ในขณะทานอาหาร สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง อย่าได้เพียงแค่ตบหลังท่านเท่านั้น เพราะอย่าลืมว่าอาหารที่อยู่ในปากท่านผู้สูงวัยที่กำลังทานอยู่นั้น อาจจะกำลังอยู่ระหว่างช่องอาหารกับช่องหลอดลมก็เป็นได้ ดังนั้นควรจะให้ผู้สูงวัยก้มศีรษะลงให้มากที่สุด จากนั้นจึงค่อยตบไปที่หลังท่านเพื่อให้ท่านสำลักเศษอาหารออกมาทางปาก จึงจะปลอดภัย การที่ท่านไม่ได้ก้มศีรษะลง อาจจะทำให้เศษอาหารตกหล่นเข้าไปทางหลอดลมได้ครับ
          
การทำความเข้าใจกับภาวะการกลืนลำบากนี้ อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญ เพราะนี้อาจเป็นบ่อเกิดของโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ที่จะตามมา หรืออาจจะทำให้โรคสมองที่มีอยู่เดิมอยู่ จะส่งผลให้รุนแรงมากขึ้นได้เช่นกัน บางท่านอาจจะคิดว่า ภาวะการกลืนลำบาก (Dysphagia) คือการกลืนอาหารที่เป็นชิ้นๆ เท่านั้น ต้องบอกว่าไม่เพียงแต่อาหารที่เป็นชิ้นๆ ก้อนๆ เท่านั้น แม้แต่น้ำก็สามารถเป็นสิ่งที่ภาวะการกลืนลำบากได้เช่นกัน หากเราสังเกตให้ดี ผู้สูงวัยหลายๆ ท่าน แม้แต่ตัวผมเอง ก็เคยมีประสบการณ์ “สำลักน้ำ” มาก่อน เพียงแต่ไม่ได้รุนแรงมาก แต่นั่นก็คืออาการขั้นต้นของภาวะการกลืนลำบากเช่นกันครับ
               
อย่างไรก็ตาม ผู้สูงวัยที่อายุมากๆ ตัวอย่างเช่นแม่ยายผมเอง ที่ผมต้องดึงดันไม่ยอมให้ป้อนอาหารที่เป็นอาหารปกติทันทีตามที่ภรรยาร้องขอ แต่ผมค่อยๆ ปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมก่อน อีกทั้งยังปรึกษาพยาบาลที่เป็นหุ้นส่วนผม ว่าควรจะให้อาหารปกติได้หรือยัง? ซึ่งก็ได้รับคำตอบเหมือนเช่นความเห็นของผม แต่เมื่อเป็นความประสงค์ของผู้บัญชาการสูงสุดในบ้าน(ภรรยาผมเองครับ) เราก็เริ่มฝึกให้แม่ยายผม ด้วยการให้อาหารประเภทโจ๊ก ต่อมาก็จึงค่อยๆ ต่อด้วยข้าวต้มข้นๆ และธัญพืชที่บดหยาบผสมข้าวต้ม 

จนกระทั่งมาถึงวันนี้ ท่านก็เริ่มคุ้นเคยกับอาหารมากขึ้น เราจึงเริ่มหั่นผักใบเขียวผสมกับข้าวต้ม ฟักทองผสมข้าวต้ม หรือเผือกต้มเปื่อยๆ ให้ท่านทาน จนปัจจุบันนี้ทานสามารถทานอาหารได้มากขึ้น นับวันจึงดีวันดีคืนครับ สามารถพูดเป็นคำๆ ได้ ทุกครั้งที่ท่านได้เจอหน้าผม ก็จะบอกว่า “กลับบ้าน” ได้แล้ว ผมก็ได้แต่บอกท่านว่า ที่นี่ก็คือบ้านของเรานะ แม่ต้องทานอาหารให้เยอะๆ ถ้าอีกหนึ่งเดือนแม่แข็งแรงกว่านี้ ก็จะพากลับบ้านที่เชียงของให้ครับ