อากาศวิปริตกับความเสี่ยงของผู้สูงวัย

04 พ.ค. 2567 | 03:30 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ค. 2567 | 05:45 น.
676

อากาศวิปริตกับความเสี่ยงของผู้สูงวัย คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลายวันมานี้หากเราสังเกตให้ดี จะรู้สึกว่าโลกใบเบี้ยวๆ ของพวกเรา มีความผิดปกติของดินฟ้าอากาศที่ทั้งโลกจะไม่เหมือนเดิมเสียแล้ว ใครจะไปคิดว่าประเทศในตะวันออกกลางอย่างซาอุดิอาระเบีย ที่มองไปทางไหนก็มีแต่ทะเลทราย แต่กลับมีพายุถล่มจนเกิดน้ำท่วม หรือมณฑลกวางตุ้งประเทศจีน ทั้งๆ ที่เป็นต้นฤดูใบไม้ผลิอยู่ดีๆ แท้  ก็มีพายุเข้าฝนตกหนักและมีลูกเห็บลูกโตเท่าไข่เป็ดตกลงมากระหน่ำ 

ในขณะที่ทางฝั่งอาเซียนหลายๆ ประเทศ กลับมีอากาศร้อนอบอ้าวกันทั่วหน้า ที่ไทยเราเท่าที่ดูจากภาพข่าวของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่เพื่อนๆ ส่งลงไปในไลน์กลุ่มหลายๆ กลุ่ม ปรากฏว่ากรุงเทพมหานคร อากาศร้อนร่วม 40 องศาเลยทีเดียว ในขณะที่หลายๆ จังหวัดต่างก็มีอุณหภูมิเกินกว่า 40 องศาไปแล้วครับ หรือถ้าจะดูจากภาพที่เป็นแผนที่ประเทศไทย สีที่ใช้ทดแทนอุณหภูมิความร้อน เกือบทั้งประเทศจะเป็นสีแดงเถือกกันเต็มพื้นที่ เรียกว่าไม่ต้องคิดที่จะหลบลมร้อนไปต่างจังหวัดกันได้เลยครับ
 

ผมจำได้เมื่อหลายปีก่อน ผมไปร่วมออกบูทงานแสดงสินค้าไทยที่ดูไบ อากาศที่นั่นก็จะร้อนเหมือนบ้านเราในช่วงนี้แหละครับ คือประมาณ 40 องศา ซึ่งที่นั่นเขาจะให้ประชาชนทำงานกันตั้งแต่เช้า จนถึง 11 นาฬิกา ก็ให้พักกันจนถึงบ่ายสามโมง ถึงกลับมาทำงานกันใหม่ ส่วนตลาดจะคึกคักกันอีกทีก็ค่ำมืดแล้ว ซึ่งก็ดีเหมือนกันนะครับ มิเช่นนั้นประชาชนคงร้อนจนไม่เป็นอันทำมาหากินได้จริงๆ ในขณะที่บ้านเรายังไม่มีการกำหนดกฎกติกาอย่างนั้น ก็ไม่อยากให้มีหรอกครับ เพราะตัวผมเองก็อายุมากแล้ว ยังไม่ว่างที่จะไปเฝ้าพระอินทร์ด้วยเหตุที่ร้อนตายครับ
          
หากจะดูว่าสาเหตุของการเสียชีวิตจากอากาศที่ร้อน หรืออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุ แม้ว่าโรคร้ายต่างๆ ที่มากับอากาศร้อน ดังที่เคยกล่าวมาแล้วว่ามีหลายโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคลมแดด Heatstroke อหิวาตกโรค โรคบิด โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ โรคไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย โรคอุจจาระร่วง โรคไวรัสตับอักเสบ A เป็นต้น ซึ่งแต่ละโรคก็ล้วนแล้วแต่สามารถคร่าชีวิตผู้เฒ่าได้ทั้งนั้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่า แม้เราอยู่ในเขตภูมิอากาศที่ดีที่สุดในโลก แต่ก็จะมีโรคภัยไข้เจ็บที่ไม่ว่าจะเป็นฤดูกาลใด ก็มักจะมีโรคที่มากับฤดูเหล่านั้นเสมอ นั่นอาจจะเป็นเพราะว่า “เราแก่แล้ว สังขารล่วงเลยไปมากแล้ว” ก็เป็นได้ครับ

ในขณะที่อากาศร้อนๆ เช่นนี้ ผมเองก็รู้สึกว่าการอาบน้ำร้อน ซึ่งเป็นความเคยชินส่วนตัว แม้ทุกวันนี้ไม่ต้องใช้เครื่องทำน้ำอุ่น เพราะน้ำปะปาก็ร้อนพอแล้วก็ตาม แต่ในประเทศที่อยู่ในอากาศหนาว อย่างเช่นประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน หรือแถบยุโรป เขาก็คงเคยชินกับการแช่น้ำร้อนอยู่ดี ด้วยความที่เขาเคยชินกับวิธีการอาบน้ำด้วยการแช่น้ำอุ่นหรือออนเซ็น เพราะเขามีความรู้สึกว่า การอาบน้ำด้วยฝักบัวหรือตักราด เขาอาจจะมีความรู้สึกเสมือนว่าไม่ได้อาบน้ำ ในขณะที่เราชาวอาเชียน หากให้อาบน้ำด้วยการแช่น้ำร้อน ถ้าทำทุกวันก็คงไม่ไหวเหมือนกันครับ มันไม่คุ้นเคยครับ
       
ผมเคยได้เข้าไปค้นเจอบทวิจัยฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นการวิจัยเรื่องที่เกี่ยวกับอุณหภูมิความร้อนและความเย็น เรื่อง “อัตราการตายที่เกิดจากความร้อนและความเย็นของผู้สูงอายุในเมืองโซเฟีย ประเทศบัลแกเรีย” (Mortality attributable to heat and cold among the elderly in Sofia, Bulgaria) ซึ่งผู้วิจัยเขาวิจัยภายใต้ข้อสมมติฐานว่า ความร้อนมีผลต่ออัตราการตายของผู้สูงอายุชาวบัลกาเรียในเมืองโซเฟีย ในบทวิจัยดังกล่าว เขาทำการศึกษาทางระบาดวิทยา ซึ่งนำมาวิเคราะห์ผลกระทบของอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสมต่อการเสียชีวิตของผู้สูงวัย  

การศึกษานี้ทำให้ทราบถึงอัตราการเสียชีวิตของผู้สูงวัย ที่เกิดจากอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสมในผู้สูงวัยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ระหว่างปี 2000 ถึง 2017 เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิเฉลี่ยรายวันกับอัตราการเสียชีวิตในประชากรผู้สูงวัย ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และบุคคลที่มีอายุ 65-84 ปี และ 85 ปีขึ้นไป ที่เกิดจากอุณหภูมิที่ร้อนจัด ผลสรุปพบว่า อัตราการเสียชีวิตโดยรวมที่เกิดจากอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสมนั้น ในกลุ่มสตรีสูงวัยมีมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชาย และในบุคคลที่มีอายุ 85 ปีขึ้นไปมีมากกว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่มีอายุ 65 ถึง 84 ปี จากผลของการศึกษาครั้งนี้จะเห็นว่า อุณหภูมิที่ร้อนจะมีผลต่อการเสียชีวิตของผู้สูงวัยโดยตรง
              
อีกหนึ่งของบทวิจัยที่ผมได้อ่านพบมา เป็นการวิจัยของนักวิจัยชาวฮ่องกง ที่เป็นการวิจัยเรื่องอุณหภูมิร้อนต่อการเสียชีวิตของผู้สูงวัยเช่นกัน ผลของการวิจัยก็มีบทสรุปคล้ายๆ กัน จึงทำให้เชื่อได้ว่า อุณหภูมิที่ร้อนมากๆ สามารถส่งผลต่อการเสียชีวิตเช่นกัน ดังนั้นแม้จะไม่ได้มีการวิจัยในประเทศไทยเราในเรื่องดังกล่าว แต่บทวิจัยของทั้งสองประเทศ แม้ว่าอาจจะมีบริบทที่แตกต่างจากประเทศไทยเรา แต่ก็สามารถนำมาใช้เป็นข้อควรระวังในหมู่ผู้สูงวัยเช่นพวกเราได้ ด้วยการระมัดระวังเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ที่มีอากาศร้อนมากๆ ด้วยการหมั่นดูแลอุณหภูมิภายในที่อยู่อาศัย และไม่ควรจะออกไปนอกเคหะสถาน ในช่วงที่อุณหภูมิร้อนจัดมากๆ เพื่อป้องกันสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นนอกเหนือความคาดหมายได้ครับ