คนชรากับโรคพาร์กินสัน

08 มิ.ย. 2567 | 04:20 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มิ.ย. 2567 | 22:04 น.
683

คนชรากับโรคพาร์กินสัน คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อสองวันก่อน มีอาจารย์แพทย์ท่านหนึ่ง มาเยี่ยมเยือนผมที่บ้านพักคนวัยเกษียณ “คัยโกเฮ้าส์” เราได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกัน ท่านได้เล่าให้ผมฟังว่า ในปัจุบันนี้คนชราในประเทศไทยเรา มีอาการของโรคพาร์กินสัน(Parkinson’s disease) มากขึ้น สาเหตุอาจจะเกิดจากความผิดปกติสมองส่วนกลาง ซึ่งสมองส่วนนี้ทำหน้าที่ผลิตสารสื่อประสาทชนิดหนึ่ง ที่ชื่อว่า “โดพามิเนอร์จิก”(dopaminergic neuron) หรือเรียกย่อๆ ว่าโดพามีน 

ซึ่งโดพามีนจะทำหน้าที่เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของร่างกาย หากสมองส่วนกลางที่มีหน้าที่ผลิตโดพามีนมีความผิดปกติ ก็จะทำให้ผลิตโดพามีนได้ลดลง ส่งผลต่อทำให้การเคลื่อนไหวผิดปกตินั่นเอง โรคพาร์กินสันยังสามารถเกิดร่วมกับกลุ่มโรคสมองเสื่อม (Dementia) ได้เช่นกัน
 

ผมจึงได้บอกท่านไปว่า คนทั่วไปก็รู้จักโรคนี้มานาน แถวบ้านผมที่โคราชจะเรียกโรคนี้ว่า “โรคสันนิบาต” ตอนสมัยผมเป็นเด็กๆ จำได้ว่ามีพ่อของเพื่อนผมคนหนึ่ง เป็นโรคนี้ คือมือไม้สั่นเทาตลอดเวลา ซึ่งในความเข้าใจของผม คิดว่าในยุคนั้น การเดินทางเข้าเมืองก็ลำบากมาก อีกทั้งห่างไกลความเจริญ ท่านจึงไม่มีโอกาสได้รักษาครับ 
          
ผมได้ถามคุณหมอไปว่า โรคพาร์กินสัน มีสาเหตุจากความเครียดหรือเปล่า? เพราะว่าปัจจุบันต้องยอมรับว่า อาการเครียดไม่ว่าจะเป็นสาเหตุจากเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ล้วนแล้วแต่หนักๆ ทั้งนั้น หรือแม้แต่เรื่องบ้าๆ บอๆ หลายเรื่อง ที่มีทั้งเชื่อมจิต น้องหญิงท่านพี่ ฯลฯ น่าจะส่งผลให้เกิดอาการทางสมอง(บ้า)หรือเปล่า? คุณหมอท่านก็หัวเราะ....และบอกว่า อันที่จริงโรคนี้เกิดจากความเสื่อมของบริเวณสมองส่วนกลางและระบบประสาท เป็นโรคที่พบได้บ่อยรองจากโรคอัลไซเมอร์ และมักจะพบในผู้สูงวัย ที่มีอายุเกิน 65 ปีขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่  
 

ส่วนสาเหตุของโรคพาร์กินสัน คงไม่เกี่ยวกับน้องหญิงท่านพี่ หรือเชื่อมจิตหรอก แต่ที่แน่ๆ โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาให้อาการบรรเทาลง หรือไม่ให้ลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ถ้ามีอาการคล้ายๆ ว่าจะเป็นโรคนี้ เช่นมีอาการมือสั่น หลังงอ เดินก้าวยาวๆ ไม่ค่อยได้ พูดจาสั่นๆ ซ้ำๆ นอกจากนี้จะมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเเขน ขา และลำตัวร่วมด้วย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า เป็นอาการระยะแรกของโรคพาร์กินสัน ควรจะไปพบแพทย์ได้แล้วครับ
            
ส่วนระยะที่ 2 ก็จะมีอาการลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ โดยจะเริ่มหลังงอ เคลื่อนไหวช้า หรือเดินตัวโก่งไปข้างหน้า ไม่อยากสบตาหรือพูดคุยกับผู้คน ที่สถานบ้านพักคนวัยเกษียณของผม ก็มีชาวฝรั่งเศสท่านหนึ่ง อยู่ในระยะที่ 2 นี้เข้ามาพักหนึ่งท่าน วันแรกที่ท่านเข้ามาพัก มีน้องสาวของท่านพามา ผมไม่ทราบว่าท่านเป็นโรคพาร์กินสัน เห็นท่านแยกตัวออกไปเดินก้มหน้าก้มตาอยู่คนเดียว ก้าวขาสั้นๆ ตลอดเวลา ผมก็เข้าไปทักทายท่าน และพูดคุยกับท่านด้วยมิตรไมตรี แต่น้องสาวของท่านรีบมาดึงแขนผมออกมา และบอกว่าไม่ต้องไปคุยกับท่าน เดี๋ยวท่านจะอารมณ์ไม่ดี ผมก็งงงันไปชั่วขณะ เพราะไม่เคยพบเจออาการเช่นนี้มาก่อน ซึ่งต่อมาจึงเข้าใจ และเราได้ทำการดูแลจนอาการทุเลาจนเกือบจะปกติแล้วครับ 
               
ส่วนระยะที่ 3 ผู้ที่มีอาการป่วยมักจะมีอาการทรงตัวผิดปกติ มีโอกาสหกล้มได้ง่าย เวลาลุกยืนจะลำบาก ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง อาการสั่นลดลง แต่จะมีอาการเเข็งเกร็งและเคลื่อนไหวช้ากว่าเดิม ซึ่งบางครั้งถึงขั้นไม่สามารถยืนได้ด้วยตัวเองก็มีครับ ในระยะสุดท้ายของผู้ที่เป็นโรคนี้ ซึ่งถือว่าเป็นระยะที่รุนแรงที่สุด ก็จะมีอาการกล้ามเนื้อเเข็งเกร็งมากขึ้น จนเคลื่อนไหวไม่ได้เลย มือเท้าหงิกงอ เสียงแผ่วเบา ไม่มีการแสดงความรู้สึกทางสีหน้า ไม่สามารถรับประทานอาหารเองได้ ทำให้ร่างกายซูบผอมลง สุดท้ายก็จะกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงไปในที่สุด นอกจากนี้ยังส่งผลให้ทรวงอกเคลื่อนไหวได้น้อยลง เสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินหายใจ และจะจากไปในที่สุดครับ
        
พูดถึงผู้สูงวัยที่เป็นชาวฝรั่งเศสท่านนั้น ท่านยังนับว่าโชคดีมาก ที่น้องสาวท่านได้อนุญาตให้ทางเราพาท่านไปพบแพทย์เป็นประจำ อีกทั้งยังให้พาไปโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่ง ทำให้การรักษาท่านด้วยยารักษาโรค เป็นไปตามที่คุณหมอท่านสั่ง พวกเราได้ให้ยาควบคุมอาการโดยไม่ขาด และเรายังให้การรักษาด้วยกายภาพบำบัด  และการเสริมสมรรถนะทางสมองตลอดเวลา เช่น การวาดภาพ ทำกิจกรรมปะกระดาษ และเล่นเกมส์ง่ายๆ สำหรับฝึกสมอง 

จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ท่านสามารถที่จะพูดจากับพวกเราได้เป็นอย่างดี ทุกครั้งที่ผมไปที่คัยโกเฮ้าส์ ผมก็จะเข้าไปทักทายและพูดคุยกับท่าน เพื่อให้ท่านคุ้นเคยกับผู้คน บางครั้งถ้าผมมีแขกไปด้วย ก็จะแนะนำให้ท่านรู้จัก ทำให้ท่านได้มีการสนทนาปราศัยกับคนอื่นๆ ด้วย ซึ่งก็ทำให้การฟื้นฟูของท่าน ดีขึ้นเป็นลำดับครับ
          
ในความคิดของผม การให้ความรักด้วยใจ และให้ความสนิทสนมกับผู้ป่วยนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เขาเหล่านั้น มีความเชื่อมั่นว่าสักวันหนึ่ง เขาจะต้องกลับมาปกติเหมือนเดิมได้ แม้ว่าเราจะรู้ว่านั่นเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับโรคใดๆก็ตาม แม้จะทราบว่าไม่สามารถรักษาหายขาดได้ แต่ถ้าคนใกล้ชิดเช่นคนในครอบครัวให้กำลังใจแก่เขา ก็ไม่แน่.....อาจจะมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นก็ได้ครับ