สิบโรคร้ายของผู้สูงวัย

01 มิ.ย. 2567 | 04:40 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มิ.ย. 2567 | 22:21 น.
8.4 k

สิบโรคร้ายของผู้สูงวัย คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

วันศุกร์สิ้นเดือนพฤษภาคมหรือเมื่อวานนี้ ผมได้เดินทางไปดูงานที่เมืองพัทยา จึงทราบมาว่ามีโรงแรมหลายแห่งในเมืองพัทยา อยากจะปรับเปลี่ยนโรงแรมมาเป็นสถานพักฟื้นของผู้สูงวัย เนื่องจากปัจจุบันนี้ การท่องเที่ยวของไทยเรา แม้จะได้มีการเปิดประเทศรับชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวแล้ว ถึงแม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เป็นชาวต่างชาติจะเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ไม่เพียงพอต่อ Supply ที่มีอยู่ในขณะนี้ 

ปัญหาคือในช่วงที่เศรษฐกิจดี รวมทั้งยังไม่มี Covid-19 ระบาด การขยายการลงทุนด้านโรงแรมที่มีเท่าไหร่ก็ไม่พอ แต่พอเกิดการระบาดของโรคร้าย หลายๆโรงแรมที่ต้องกู้หนี้ยืมสินมาลงทุน ถ้าสายป่านไม่ยาวพอ ก็เกิดปัญหาขึ้นตามมา ปัญหาจึงรุมเร้าเข้ามาจนถึงปัจจุบันนี้ ดังนั้นผู้ประกอบการหลายแห่ง จึงต้องหาช่องทางในการดำเนินธุรกิจต่อไปให้ได้
 

ที่เล่ามาทั้งหมด ผมเพียงอยากให้พวกเราชาวผมขาวทั้งหลายได้เห็นว่า ในปัจจุบันนี้ “สังคมผู้สูงอายุ” ได้เข้ามาสู่ประเทศไทยแล้ว จึงได้มีการมองหาโอกาสในการปรับเปลี่ยนโรงแรมเพื่อมารองรับสถานการณ์นี้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผมเชื่อว่าการหาทางออกด้วยการปรับเปลี่ยนโรงแรม มาเป็นบ้านพักคนวัยเกษียณเช่นนั้น เป็นเรื่องที่ยากมากในการดำเนินการต่อได้ถ้าหากไม่มีความรู้ที่ดีพอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปัญหาทางด้านสุขอนามัยของผู้สูงวัย ที่ “ในร้อยคนชรา ก็มีร้อยโรคภัย” ซึ่งไม่ง่ายเลยสำหรับคนที่อยู่นอกวงการแพทย์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้ประกอบการโรงแรมส่วนใหญ่ จะเป็นคนที่อยู่นอกวงการแพทย์เกือบทั้งสิ้น 
      
ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันนี้สำหรับผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่เป็นเพศชาย โรคที่พบมากอันดับ 1-10 คือ 1.เส้นเลือดในสมองอุดตัน 2.ถุงลมโป่งพอง 3. มะเร็งตับและถุงน้ำดี 4.หัวใจขาดเลือด 5.เบาหวาน 6.มะเร็งปอด 7.หูหนวก 8.ต้อกระจก 9.สมองเสื่อม และ 10.ตับแข็ง 

ส่วนผู้สูงวัยที่เป็นเพศหญิง ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โรคที่พบมากที่สุดคือ 1.เส้นเลือดในสมองอุดตัน 2.เบาหวาน 3.ข้อเสื่อม 4.หัวใจขาดเลือด 5.ต้อกระจก 6. สมองเสื่อม 7.มะเร็งตับและถุงน้ำดี 8.หูหนวก 9.ถุงลมโป่งพอง 10.ไตอักเสบ (ที่มา : คณะทำงานพัฒนาดัชนีชี้วัดภาระโรค สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข) 
          
ดังข้อมูลเบื้องต้น จะเห็นว่าโรคที่ผู้สูงอายุอย่างพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นชายหรือเป็นหญิง ก็จะเป็นโรคเหล่านี้ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะอันดับหนึ่ง คือเส้นเลือดในสมองอุดตัน ซึ่งผู้สูงวัยในบ้านพักคนวัยเกษียณของผม ส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาทางด้านสมอง ซึ่งเป็นโรคที่สร้างความลำบากให้แก่ลูกหลาน เพราะสมองสั่งการไปทางอารมณ์ และยังส่งผลไปสู่การมีโรคแทรกซ้อนตามมาอีกมากมาย

ถึงแม้ทางบ้านพักคนวัยเกษียณของเรา จะมีผู้เชี่ยวชาญในการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้ แต่ทุกครั้งที่ผมเข้าไปพบเห็นมา ก็อยากจะภาวนาขออย่าให้คนใกล้ชิดทุกคน รวมทั้งคนที่รู้จัก อย่าได้มีปัญหานี้เลย ดังนั้นอยากจะขอให้ทุกคนต้องระวังดูแลตนเอง อย่ามีความชะล่าใจในการใช้ชีวิต ที่สำคัญที่สุดต้องจำไว้เสมอว่า โรคเกือบทุกโรค ส่วนใหญ่จะเข้าสู่ร่างกายทางปากเสมอ พวกเราหลายๆ คนมักจะมีทัศนะคติที่ว่า “เป็นผีที่อิ่มตาย ดีกว่าผีที่อดตาย” แต่ในความเป็นจริงแล้ว พระเจ้ามักจะไม่ยอมมาพาเราไปสวรรค์ง่ายๆ เสียด้วยสิ นอกเสียจากคนมีบุญหรือคนที่สั่งสมบุญมาแต่ปางก่อนเท่านั้นแหละ ที่จะล้มตัวลงนอนแล้วก็จากโลกเบี้ยวๆใบนี้ไปเลย 

ส่วนใหญ่มักจะต้องทนทุกข์ทรมานต่อโรคภัยไข้เจ็บเสียก่อน บางคนอาจจะต้องนอนติดเตียงเป็นมนุษย์ต้นไม้เสียก่อน แล้วจึงค่อยจากไปก็มี ผมจึงต้องบอกว่า หากเรายังไม่แน่ใจว่า ชาติปางก่อนเราสั่งสมบุญมามากพอหรือเปล่า? ดังนั้นเราต้องหมั่นดูแลตนเองไว้ก่อน เช่น ข้อที่หนึ่ง หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (ข้อนี้ตัวผมเองก็ไม่ได้ทำครับ.....แฮ่) ข้อที่สอง ต้องทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งข้อนี้ผมคิดว่า ไม่ว่ายากดีมีจน ก็สามารถทำได้ ไม่จำเป็นต้องทานหูฉลามหรือเป๋าฮื้อทุกวันหรอกครับ ขอเพียงแต่ทานสิ่งที่ไม่ทำลายสุขภาพตนเอง ก็เป็นการทานอาหารที่เป็นประโยชน์แล้วครับ 

ข้อที่สาม ต้องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ซึ่งหมายถึงทั้งสภาพแวดล้อมที่มีทั้งสิ่งที่มีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต ที่มีชีวิตผมหมายถึงสภาพแวดล้อมที่เป็นทั้งญาติสนิทมิตรสหาย หรือสัตว์เลี้ยงต่างๆ สิ่งที่ไม่มีชีวิต ที่เป็นทั้งบ้านช่องห้องหอ สภาพอากาศรอบกาย เป็นต้น ข้อที่สี่คือ สังคมที่ดี ที่ประกอบด้วยสังคมที่รายรอบตัวเรา ซึ่งจะสามารถทำให้เรามีความสุขได้เสมอ 

ข้อที่ห้า คืออารมณ์ที่ดี ต้องรู้จักปล่อยวาง อย่ายึดเอาตัวกูของกูเป็นศูนย์กลางของโลก ซึ่งจะทำให้อารมณ์ของเราเศร้าหมอง ร่างกายก็จะอ่อนแอเสมอ ข้อสุดท้าย ที่สำคัญที่สุดคือ “ใกล้หมอเชื่อหมอ” เข้าไว้ ซึ่งหมายถึงต้องหมั่นเข้าหาแพทย์ในการตรวจสุขภาพร่างกายเสมอ ข้อนี้อาจจะมีเพื่อนผมคนหนึ่งที่เคยเรียนมาด้วยกัน พี่ท่านอาจจะบอกว่า “ไม่เชื่อ!! เพราะชั้นเองก็มีสามีเป็นหมอมาก่อน ไม่เห็นจะมีความสุขเลย ทะเลาะกันทุกวันไม่จบ สุดท้ายก็หย่ากัน!!” ก็ต้องขอโทษเจ้นะครับ ที่เอาเจ้มาล้อเล่น....ฮา