วันมาฆบูชา​ ธรรมนูญ​ พุทธศาสนา​ ที่ชาวพุทธ​ต้องศึกษา​และปฏิบัติ​

22 ก.พ. 2567 | 02:15 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.พ. 2567 | 07:09 น.

วันมาฆบูชา​ ธรรมนูญ​ พุทธศาสนา​ ที่ชาวพุทธ​ต้องศึกษา​และปฏิบัติ​ คอลัมน์ สังฆานุสติ โดย บาสก

ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่​ 24​ กุมภาพันธ์​ 2567 ตามประวัตินั้น เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ได้​ 9​ เดือน​โดยประทับที่อิสิปตนมฤคทายวัน เพื่อโปรดปัญจวัคคีย์​ จากนั้นได้เสด็จจากพาราณสี​ กลับสู่แคว้นมคธ โปรด(ปราบ)​ ชฎิล​ 3​ พี่น้อง​ที่มีบริวารรวมกัน​ 1,000​ ที่คยาสีสะ​ เสร็จสิ้น​โดยทั้งหมดยอมรับพระพุทธองค์​เป็นศาสดา

จากนั้นโปรดพระเจ้าพิมพิสาร​ ​พระราชาแห่งแคว้นมคธ​ พร้อมทั้งบริวาร และทรงรับการถวายเวฬุวัน​จากพระเจ้าพิมพิสาร​ ซึ่งเป็นอารามแรกแห่งพระพุทธศาสนา

ในขณะเดียวกัน​ก็ทรงได้​ พระสารีบุตร​ และพระโมคคัลลานะ​ เป็นอัครสาวกขวา​ ซ้าย​ ​โดยมีบริวาร​ของทั้งสอง ออกบวชตามมาด้วย​ 250 องค์​ วันที่พระสารีบุตรบรรลุอรหันต์ผลนั้น​ ตรงวันมาฆปุณณมี​ ราตรีนั้นมีจาตุรงคสันนิบาต​ พระพุทธ​องค์​ จึงทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ในที่ประชุมพระอรหันต์​ 1,250 รูป จาตุรงคสันนิบาต​ คือองค์​ประกอบสำคัญ​ 4​ ประการ

  1. แสดงแก่พระอรหันต์​ 1,250​ องค์
  2. พระอรหันต์​นั้น​ได้รับการอุปสมบทตรงจากพระพุทธ​เจ้า​ ที่เรียกว่า​ เอหิภิกขุอุปสัมปทา​ และมาจากทิศทั้งสี่
  3. มาพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมายล่วงหน้า​ (มีใจตรงกัน)​
  4. เป็นวันพระจันทร์เต็มดวง

 

วันมาฆบูชา​ ธรรมนูญ​ พุทธศาสนา​ ที่ชาวพุทธ​ต้องศึกษา​และปฏิบัติ​

 

ส่วนโอวาทปาฏิโมกข์ ธรรมนูญ​ หรือหัวใจพระ​พุทธ​ศาสนา​ เป็นพุทธวจนะ​ 3​ คาถา​ครึ่ง ที่​ อ.ประยงค์​ สุวรรณบุบผา​ กล่าวในหนังสือธรรมาภินันท์ลำดับที่​ 2 ​(สำนักพิมพ์​มหามกุฏฯ) ว่า​ต่อมาพระสงฆ์​ต้อง​ ฟังสวดโอวาทปาฏิโมกข์นี้​ ทุกกึ่งเดือน​ นานถึง​ 20​ ปี​ ก่อนจะเปลี่ยนมาสวดพระปาโมกข์อย่างทุกวันนี้

โอวาทปาฏิโมกข์ ประกอบด้วย​ หลักการ​ 3​ คือ

สัพพปาปัสสะ​ อะกะระณัง​

กุสะลัสสูปปสัมปทา

สะจิตตะ​ปริโยทะปนัง

เอตัง​ พุทธสาสะนัง

แป​ลว่า​ พระพุทธเจ้าตรัสสอนอย่างนี้ว่าไม่ทำบาปทั้งปวง​ ทำแต่กุศลกรรม​ ความดี​ และชำระจิตใจให้สะอาด

 

อุดมการณ์​ 4

ขันตี​ ปะระมัง​ ตะโป​ ตีติกขา​ นิพพานัง​ ปะระมัง​ วะทันติ​ พุทธา

คือ 1.ความอดทน ​ 2.ไม่เบียดเบียน 3.ความสงบ 4.พระนิพพาน

 

วิธีการ​ ​6​ (หลักเผยแผ่)​

นะ​ หิ​ ปัพพะชิโต​ ปะรูปฆาตี

สมะโณ​ ​โหติ​ ปะรัง​ วิเหฐยันโต

ผู้ทำร้ายผู้อื่น​ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเบียดเบียนผู้อื่น​ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

 

อนูปาาโท​ อนูปฆาโต​ ปาฏิโมเข  จ​ ส๋วโร

มตฺตญฺญุตา​ จ​ ภตฺตสฺสมิํ​ ปนฺตญฺฺ​  จ​ สยนาสนํ

อธิจิตเต จ​ อาโยโค  เอตํ  พุทธสาสนํ

การไม่กล่าวร้าย​ การไม่ทำร้าย​ ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์​ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร​ นั่งนอนในที่สงัด ทำความเพียรในอธิจิต​(สมาธิ)​ นี่เป็นคำสอนของพระพุทธศาสนา

ธรรมนูญ​ นี้​ ส่วนมากจะเรียกกันว่าหัวใจพระพุทธศาสนา​ สามารถประมวลเข้ากับ​ ศีล​ สมาธิ​ และปัญญา​

ในวันสำคัญ​นี้มีการบูชา​ รักษาศีล​ และฟังธรรม

การบูชาของเราชาวพุทธ​ ที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ​คือ​ การปฏิบัติ​

ถามว่า​ปฏิบัติอะไร​ คำตอบง่ายๆ​  คือ

  1. ทาน​ การให้​เช่นทำบุญ​ ตักบาตร​ หรือสงเคราะห์​ ผู้ที่ขาดแคลน
  2. ปฏิบัติ​ตามหลักของศีล​ที่​ ท่านก็จัดเป็น​ 3​ ระดับ​ คือ​ ศีล 5,​ ศีล​ 8, ศีล​10​ (สำหรับฆราวาส​ และอนุ​ปสัมบัน)​ ส่วนอุปสัมบัน​ (ภิกษุ)​ ต้องปฏิบัติ​ยิ่งยวด​ ได้แก่​ ศีล​ 227​ ข้อ
  3. ภาวนา​ ข้อนี้นอกจากภาวนาให้จิตสงบแล้ว​ การสวดมนต์​ ไหว้พระ​ ตอนเช้า​ ตอนค่ำ​ หรือก่อนนอน​ ก็เป็นภาวนา​ ที่สำคัญอย่างหนึ่ง

วันสำคัญ​เช่นนี้​เราปฏิบัติกันมาตั้งแต่รัชกาลที่​ 4​  ถึงรัชกาลปัจจุบัน

ในส่วนราชการ​ ท่านให้เป็นวันหยุด​ เพื่อให้เข้าวัด​ ทำบุญ​ทำทาน​ รักษาศีล​ และภาวนา โปรดใช้ให้ได้ตามประสงค์ของราชการ​ เทอญ