ยุทธศาสตร์การทำธุรกิจ การค้า การลงทุนของไทย ในกลุ่มประเทศแถบภูมิภาคทะเลแดง (1)

05 ต.ค. 2566 | 11:43 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2566 | 11:43 น.

ยุทธศาสตร์การทำธุรกิจ การค้า การลงทุนของไทย ในกลุ่มประเทศแถบภูมิภาคทะเลแดง (1) : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย... รศ.ดร.มนชยา อุรุยศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,928 หน้า 5 วันที่ 5 - 7 ตุลาคม 2566

ศักยภาพของเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในแถบภูมิภาคทะเลแดงที่สามารถเป็น กลุ่มประเทศเป้าหมายในการขยายฐานการค้าการลงทุนของประเทศไทย (ต่อเนื่องจาก เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ 29 มีนาคม 2566 เรื่องความน่าสนใจของกลุ่มประเทศภูมิภาคทะเลแดง (Red Sea) ประกอบกับประเภทอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกสูง เป็นประเภทอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขัน

ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสำคัญให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายการค้าการลงทุนไปยังประเทศกลุ่มดังกล่าวได้ ส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มทั้งเงินตราต่างประเทศ และช่วยกระจายการความเสี่ยงทางด้านการค้าการลงทุน

 

 

โครงการวิจัยนี้ได้พัฒนายุทธศาสตร์การทำธุรกิจการค้าและการลงทุนของประเทศไทยในกลุ่มประเทศแถบภูมิภาคทะเลแดง คือ ซาอุดีอาระเบีย เยเมน อียิปต์ ซูดาน เอริเทรีย และ จิบูตี 

เป้าหมายแรกคือ ประเทศไทยควรจะเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมใดในภูมิภาคทะเลแดง พบว่า ประเทศที่มีความพร้อมรองรับการลงทุนมากที่สุด และผ่านการคัดเลือกให้เป็นกลุ่มประเทศเป้าหมายนำร่องสำหรับการส่งเสริมการลงทุนไทยในแถบภูมิภาคทะเลแดง 3 ประเทศ คือ อียิปต์ ซูดาน และ ซาอุดีอาระเบีย

 

 

 

โดยอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร คือ อุตสาหกรรมที่ประเทศไทย มีศักยภาพสูงในการผลิตและลงทุน โดย ซูดาน มีความเหมาะสมในการลงทุนด้านต้นนํ้าในอุตสาหกรรมเกษตร เนื่องจากมีที่ดินและนํ้าอย่างพอเพียง และมีค่าแรงราคาถูก

โดยประเทศซูดานสามารถนำเข้าเครื่องจักรเทคโนโลยี ปุ๋ย และสารเคมี จากประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งอยู่ใกล้ และมีศักยภาพในการผลิตเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร และส่งสินค้าทางการเกษตรที่ผลิตได้ไปแปรรูปที่ประเทศอียิปต์ เนื่องจากอียิปต์มีจำนวนโรงงานแปรรูปอยู่พอสมควร และให้ประเทศซาอุดีอาระเบีย และ อียิปต์ ซึ่งมีช่องทางการกระจายสินค้า และมีการทำการตลาดที่กว้างขวางกว่าซูดานเป็นคู่ค้า

โดยอาจอยู่ในรูปการร่วมทุน 2-4 ฝ่าย เพื่อใช้ประโยชน์จากจุดแข็งและโอกาสทางการค้าการลงทุนของผู้ร่วมทุนแต่ละฝ่าย โดยประเทศไทยมีศักยภาพในสิ่งที่ซูดานและซาอุดีอาระเบีย ขาดคือ ความชำนาญในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร

ส่วนซูดานและซาอุดีอาระเบีย มีสิ่งที่ไทยขาด คือ เงินทุน ตลาด และทรัพยากร ที่สำคัญคือ ทั้งรัฐบาลของประเทศซูดาน และซาอุดีอาระเบีย เปิดรับการเข้าไปลงทุนของประเทศไทย โดยเฉพาะซูดาน ที่ต้องการให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนมาก

จุดอ่อนที่สำคัญของผู้ประกอบการไทย คือ การขาดความตระหนักในด้านการออกไปลงทุนต่างประเทศ เนื่องจาก ไม่ทราบถึงโอกาสและผลประโยชน์มหาศาลจากการไปลงทุนยัง ต่างประเทศ และไม่ทราบว่าตนมีศักยภาพ 

กลุ่มรายการสินค้าใดควรเป็นเป้าหมายเพื่อการส่งออกหรือลงทุนด้านการผลิตในกลุ่มภูมิภาคทะเลแดง งานวิจัยได้ศึกษาโอกาสทางการค้าระดับรายสินค้า โดยใช้แบบจำลองการกรองรายการสินค้าด้วยข้อมูลทุติยภูมิด้านการค้าระหว่างประเทศ ได้รายการสินค้าเป็น 4 กลุ่ม คือ

กลุ่ม 1 ควรรักษาระดับการส่งออก กลุ่ม 2 ควรทำการขยายการค้าหรือพิจารณาส่งเสริมการลงทุนกลุ่ม 3 ควรเจรจาเพื่อลดข้อจำกัดทางการค้า กลุ่ม 4 ควรส่งเสริมการลงทุน หากรายการสินค้ามีมูลค่าการนำเข้ารวมจากทุกประเทศในภูมิภาคทะเลแดงสูงกว่า 15 ล้านเหรียญสหรัฐ จะนับว่าเป็นรายการสินค้าที่มีความต้องการในภูมิภาคทะเลแดงสูง และคุ้มค่าในการลงทุน (หากตํ่ากว่า 15 ล้าน ควรขยายการค้าโดยเจรจาเพื่อลดข้อจำกัดทางการค้ากับประเทศปลายทาง (กลุ่ม 3))

นอกจากนี้ กลุ่มที่ควรส่งเสริมการลงทุนยังจำแนกเป็น กลุ่มย่อยๆ ได้อีก อาทิ กลุ่มที่ไม่มีอุปสรรคทางการค้า ควรใช้กลยุทธ์เจาะตลาด เนื่องจากรายการสินค้าในกลุ่มนี้ประเทศคู่ค้าเดิมไม่มีสิทธิประโยชน์ทางการค้า และไม่ได้เปรียบด้านต้นทุนการขนส่ง

แต่หากประเทศคู่ค้าเดิมมีสิทธิประโยชน์ทางการค้าเหนือประเทศไทย หรือมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการขนส่ง ควรใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น โดยงานวิจัยได้สรุปรายการสินค้าในแต่ละกลุ่มในเล่มรายงานฉบับสมบูรณ์

 

 

ยุทธศาสตร์การทำธุรกิจ การค้า การลงทุนของไทย ในกลุ่มประเทศแถบภูมิภาคทะเลแดง (1)

 

นอกจากนี้ในโลกปัจจุบัน ที่การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ (E-Commerce) มีการเติบโตสูงมาก โดยประเทศหลักๆ ที่เริ่มมีการพัฒนาตลาดออนไลน์ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ ประเทศอียิปต์ ที่มีจำนวนผู้เข้าซื้อสินค้าในแพลตฟอร์มต่างๆ ถึงกว่า 20 ล้านคน

งานวิจัยได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับตลาดกลางออนไลน์ (E-marketplace) และช่องทางออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ที่กระจายอยู่ในแต่ละภูมิภาค มารวมไว้ในยุทธศาสตร์การทำธุรกิจการค้าและการลงทุนของประเทศไทย

โดยได้ทำการสังเคราะห์ข้อกำหนดของตลาด 4 ตลาดกลางออนไลน์ (Souq.com, Jumia.com, Noon.com และ Jollychic.com) พบว่า กลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพมากที่ผู้ประกอบการสามารถนำผลิตภัณฑ์ไปจัดจำหน่ายในตลาดกลางออนไลน์ได้ทันที ได้แก่ ข้าวสาร อุปกรณ์กีฬาไทย เครื่องประดับเงิน ซอสปรุงรส ไม้ และ ของทำด้วยไม้ เสื้อผ้าผู้ชาย หมอนทำจากคอตตอน กระเป๋าทำมือ และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าตลาดกลางออนไลน์ในแต่ละแห่ง จะมีการออกเครื่องมือต่างๆ อาทิ วิดีโอสอนการเข้าใช้บริการ คอร์สเรียน หรือ คู่มือแนะนำในการจัดร้านค้าออนไลน์ แต่ทัศนคติและความพร้อมของกลุ่มผู้ประกอบการ ในการรับรู้ความเสี่ยงในการเข้าสู่ตลาดกลางออนไลน์ และรับรู้ความแตกต่างด้านกฎระเบียบ และข้อกำหนดของตลาดกลางออนไลน์เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการ จำเป็นต้องศึกษาให้รอบคอบก่อนเข้าตลาด 

นอกเหนือจากด้านสินค้าแล้ว งานวิจัยได้เพิ่มการศึกษามิติทางด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการด้วย โดยอุตสาหกรรม Healthcare ได้ถูกคัดเลือกให้เป็นอุตสาหกรรมนำร่องของการบุกเบิกภาคบริการ

โดยได้ทำการศึกษาประเทศ อียิปต์ และ ตุรกี เนื่องจาก อุปสงค์ของ Healthcare ของผู้สูงอายุในตุรกีเอง และผู้สูงอายุชาวยุโรปขยายตัวสูงมาก และตุรกีเปรียบเสมือนประตูสู่ทวีปยุโรป ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและมีโอกาสในการร่วมลงทุน โดยมีภาคเอกชนเป็นผู้นำ

เนื่องจากรัฐบาลตุรกี มีนโยบายที่จะลดการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ โดยกระทรวงสาธารณสุขของประเทศตุรกี มีการส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน การร่วมลงทุนกับบริษัทท้องถิ่น มีเขตปลอดภาษี (Free Zone) สำหรับธุรกิจด้านการแพทย์ มีการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการผลิต และการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา

รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีทางด้านสุขภาพ จึงเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทยที่มีศักยภาพ โดยอาจมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ หรือ การเข้าไปทำงานของบุคลากรในภาคบริการ ซึ่งเป็นจุดแข็งของแรงงานไทย จากการที่ประเทศไทยมีประสบการณ์ในด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

สำหรับประเทศอียิปต์ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาด Healthcare ในประเทศอียิปต์ มีความน่าสนใจคือ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สัดส่วนของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากการใช้ชีวิต อาทิ โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ก็สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งประชาชนชาวอียิปต์ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ระดับกลางค่อนไปทางสูง มีความต้องการบริการทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับความสวยงาม และ Wellness

โดยรัฐบาลอียิปต์ได้ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเป็นผู้นำในการพัฒนาตลาด Healthcare ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะร่วมมือกับภาคเอกชนของอียิปต์ ในการฝึกฝนและแลกเปลี่ยนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ หรือ การตั้งศูนย์ตัวแทนเพื่อส่งคนไข้มารักษาในประเทศไทย

อุปสรรคสำคัญสำหรับการลงทุนของประเทศไทยทั้งในประเทศอียิปต์ และ ตุรกี คือ ความไม่คุ้นเคย การไม่รู้จักกัน การขาดข้อมูล ภาครัฐควรเป็นผู้นำผู้ประกอบการไทย ที่มีศักยภาพไปพบปะกับผู้ประกอบการท้องถิ่น ให้เกิดข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกัน 

งานวิจัยทั้งหมดดำเนินการภายใต้แผนงานวิจัยยุทธศาสตร์การทำธุรกิจการค้า และการลงทุนของประเทศไทยในแถบภูมิภาคทะเลแดง (Red Sea Plus) ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และท่านที่สนใจข้อมูลโดยละเอียดสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์นโยบายโลกมุสลิม (CMP) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. : 0-2218-6229