เมื่อกล่าวถึงกลุ่มประเทศที่ยังอุดมด้วยทรัพยากรและมีศักยภาพน่าเข้าไปลงทุนแต่อาจจะยังถูกมองข้ามไป คือกลุ่มประเทศในแถบภูมิภาคทะเลแดง ประกอบด้วย ประเทศทางฝั่งตะวันตกของภูมิภาคตะวันออกกลางอันได้แก่ ประเทศซาอุดิอาระเบีย และเยเมน และกลุ่มประเทศฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา อันได้แก่ ประเทศอียิปต์ ซูดาน เอริเทรีย และจิบูตี
เพราะเหตุใดกลุ่มประเทศแถบทะเลแดงจึงมีความน่าสนใจ
ประการที่หนึ่ง กลุ่มประเทศแถบทะเลแดงมีความโดดเด่นทางด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้ง ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าเป็นหัวใจและเป็นจุดเชื่อมต่อหนึ่งที่สำคัญของโลก กล่าวคือ ทะเลแดงเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่สำคัญของโลก และมีบทบาทสำคัญในการพาณิชย์โลกมานานนับพันปี
แต่ในปัจจุบันถึงแม้ประเทศในเขตทะเลแดง ยังไม่สามารถได้รับประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางทาง การค้าในภูมิภาคได้ แต่กลุ่มประเทศในเขตนี้ถือได้ว่าเป็นตลาดเกิดใหม่ ที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากล้อมรอบด้วยตลาดที่มีศักยภาพ มีดินแดนเชื่อมโยงกับภูมิภาคตะวันออกกลางและภาคพื้นทวีปแอฟริกา
นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางเชื่อมต่อไปยังทวีปยุโรปโดยผ่านคลองสุเอซในประเทศอียิปต์ และเป็นเส้นทางการค้าทางทะเล (New Maritime Silk Road) ที่เชื่อมระหว่างทวีปเอเชียไปยังทวีปแอฟริกาและทวีปยุโรปด้วย กลุ่มประเทศแถบทะเลแดงจึงมีความเหมาะสมในการเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอย่างมาก
ประการที่สอง กลุ่มประเทศแถบทะเลแดงฝั่งทวีปแอฟริกามีความเหมาะสม ในการเป็นแหล่งผลิตสินค้าเพื่อส่งออก เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบต้นนํ้า มีแหล่งสำรองนํ้ามันและก๊าซธรรมชาติ
นอกจากนี้ น่านนํ้าทะเลแดงยังมีระบบนิเวศที่เป็นเอกลักษณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง อันประกอบด้วยแนวปะการังที่กว้างขวาง ป่าโกงกาง แหล่งหญ้าทะเล และบึงเกลือ โดยอุตสาหกรรมการประมงและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้น ยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี GSP (Generalized System of Preference) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการส่งออกสินค้าอีกด้วย
ประการที่สาม อัตราการขยายทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศแถบทะเลแดงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี รวมถึงยังมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรเฉลี่ยสูงกว่าอัตราการเจริญเติบโตของประชากรโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีศักยภาพในการเป็นทั้งแหล่งผลิตสินค้าและตลาดสินค้าในเวลาเดียวกัน
ประการที่สี่ กลุ่มประเทศแถบทะเลแดงอยู่ใกล้กับแหล่งเงินทุนที่สำคัญของโลก คือ กลุ่มประเทศ GCC (Gulf Cooperation Council) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีเงินออมและเงินลงทุนจำนวนมหาศาลที่ได้จากการขายนํ้ามันและก๊าซธรรมชาตินับตั้งแต่วิกฤตินํ้ามันกลางทศวรรษที่ 1970
ประการที่ห้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ที่อยู่ในอัตราสูง ทำให้การขนส่งและการค้าในภูมิภาคนี้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ โดยรอบได้สะดวกยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการขยายตัวด้านการค้าและการลงทุนที่จะดึงดูดนักลงทุน บริษัทข้ามชาติ รวมถึงนักท่องเที่ยว ให้เข้ามายังภูมิภาคนี้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ความร่วมมือทางการเมืองและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศทะเลแดง กำลังเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นขึ้นโดยไม่มีผู้นำของภูมิภาคที่ชัดเจน แม้ประเทศซาอุดีอาระเบียและอียิปต์จะเป็นประเทศอำนาจนำ แต่ก็ไม่ได้มีสถานะอำนาจนำเบ็ดเสร็จในภูมิภาค
นอกจากนี้ การทับซ้อนของผลประโยชน์ของประเทศอำนาจนำในภูมิภาค อาทิ ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน อิสราเอล และอียิปต์ และการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจภายนอกภูมิภาค เช่น จีน สหรัฐฯ และรัสเซีย รวมถึงประเทศยุโรป ส่งผลให้ภูมิภาคทะเลแดงมีพลวัตทางเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคง และยุทธศาสตร์ที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศอำนาจนำในภูมิภาคและประเทศมหาอำนาจ อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง หรือความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะส่งผลต่อเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคได้ เมื่อพิจารณาถึงโอกาสของประเทศไทยในภูมิภาคนี้ พบว่ายังเปิดกว้างจากปัจจัยเกื้อหนุนสองประการ
ประการแรก ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นมากในปัจจุบันระหว่างประเทศไทยและประเทศซาอุดีอาระเบีย ในอันที่จะสร้างโอกาสทางด้านการค้าการลงทุนให้ไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากประเทศซาอุดีอาระเบียสามารถเป็นสะพานเชื่อมไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคทะเลแดงโดยเฉพาะกลุ่มประเทศในแอฟริกาได้
ประการที่สอง ด้วยพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดีของประเทศไทยกับประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจระดับโลกและมีบทบาทนำด้านการเมืองและเศรษฐกิจในภูมิภาคทะเลแดงอย่างมาก จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยในการมีประเทศจีนเป็นตัวเชื่อมไปสู่การขยายการค้าการลงทุนในภูมิภาคแอฟริกาได้
เนื่องจากนักลงทุนไทยมีข้อมูลเกี่ยวกับตลาดเกิดใหม่ค่อนข้างน้อย สาเหตุคือ การรวบรวมข้อมูลเชิงลึกสำหรับการลงทุนในประเทศใหม่ๆ มีต้นทุนสูง จึงมีเพียงผู้ประกอบการรายใหญ่ซึ่งมีความพร้อมด้านเงินทุนเท่านั้น ที่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยทุกระดับ ได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ เพื่อการลงทุนในต่างประเทศอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น
จึงได้มีการจัดทำโครงการวิจัยเพื่อศึกษาภาพรวมด้านเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี รายการสินค้าเป้าหมายที่มีศักยภาพสูงในการส่งออกและการลงทุน สินค้าที่มีศักยภาพในการจัดจำหน่ายในตลาดกลางออนไลน์การเงิน ยุทธศาสตร์ในด้านผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทยและกลุ่มประเทศทะเลแดง
การลงทุนในกลุ่มธุรกิจ Healthcare รวมไปถึงปัจจัยทางสังคม การเมือง และกฎหมายอันเป็นตัวแปรสำคัญที่จะสร้างโอกาสทางธุรกิจ หรือ เป็นอุปสรรคแก่การทำธุรกิจในกลุ่มประเทศแถบภูมิภาคทะเลแดงได้
โดยงานวิจัยทั้งหมดดำเนินการภายใต้แผนงานวิจัยยุทธศาสตร์การทำธุรกิจการค้าและการลงทุนของประเทศไทยในแถบภูมิภาคทะเลแดง (Red Sea Plus) ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และท่านที่สนใจข้อมูลโดยละเอียดสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์นโยบายโลกมุสลิม (CMP) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร : 0-2218-6229