การลงทุนวิจัยและพัฒนา ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจจริงหรือไม่ (1)

23 มี.ค. 2565 | 13:45 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มี.ค. 2565 | 20:45 น.

การลงทุนวิจัยและพัฒนา ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจจริงหรือไม่ (1) : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย รศ.ดร.มนชยา อุรุยศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,768 หน้า 5 วันที่ 24 - 26 มีนาคม 2565

ตอนที่ 1: Meta Regression Analysis

 

นักวิชาการค่อนข้างที่จะมีความเห็นตรงกันว่า การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับสังคมโดยรวม และก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวผ่านการเพิ่มผลิตภาพการผลิต ตัวอย่างเช่น ประเทศเกาหลีใต้ซึ่งเคยมีระดับรายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อหัวใกล้เคียงกับประเทศไทยเมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา 

 

แต่ในปี 2019 ก่อนวิกฤติโควิด เกาหลีใต้มีรายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อหัวที่ 31,762 ดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ลำดับที่ 31 ของโลก ขณะที่ประเทศไทยมีรายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อหัว 7,808 ดอลลาร์สหรัฐฯ และอยู่ลำดับที่ 82 ของโลก (ข้อมูลจาก World Bank) คำถามที่ต้องการคำตอบที่ชัดเจนคือเพราะเหตุใดประเทศเกาหลีใต้ จึงสามารถยกระดับรายได้ประชาชาติต่อหัวซึ่งสะท้อนถึงสวัสดิการของคนในประเทศเหนือระดับรายได้ประชาชาติต่อหัวของประเทศไทยไปถึง 4 เท่าในระยะเวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษ 

 

 

 

ทฤษฎีการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาว (Economic Growth model) อธิบายเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ โดยใช้หลักแนวคิดที่ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาวจะขึ้นอยู่กับอัตราการขยายตัวของเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตเท่านั้น ไม่ได้ขึ้นกับนโยบายการเงินหรือนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายในการบริโภคของประชาชนและรัฐบาลในระยะสั้นแต่อย่างใด ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการที่จะเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องเพิ่มการลงทุนใน R&D ให้มากพอ 

 

การจะเชื่อมั่นผลวิเคราะห์จากแบบจำลองทางทฤษฎีทันที โดยไม่วิเคราะห์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้วยอาจจะไม่เหมาะสม ด้วยเหตุที่งบประมาณของประเทศมีจำกัดและยังมีความต้องการอีกมากเพื่อนำไปใช้รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะสั้น การจะเพิ่มการลงทุนใน R&D ซึ่งไม่ได้ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น อาจจะเป็นนโยบายที่ไม่ได้รับการตอบรับจากผู้วางนโยบายมากนัก 

 

 

ดังนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องทราบว่าการจัดสรรงบประมาณไปยัง R&D มีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจเพียงใด หากหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุนข้อเสนอแนะทางทฤษฎีที่ว่าการลงทุนใน R&D สามารถเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ และนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนอย่างยั่งยืนได้ 

 

 

การลงทุนวิจัยและพัฒนา ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจจริงหรือไม่ (1)

 

 

นโยบายดังกล่าวก็เป็นนโยบายที่รัฐควรส่งเสริมมากกว่าการจัดสรรงบประมาณไปยังกิจกรรมทางเศรษฐกิจใดๆ ที่มีผลเพียงกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้นเท่านั้น เมื่อพิจารณางานวิจัยเชิงประจักษ์ที่ผ่านมา พบว่าอัตราผลตอบแทนจาก R&D อยู่ที่ร้อยละ 40 เป็นอย่างน้อย 

 

อย่างไรก็ดี ด้วยข้อมูลที่ครบถ้วนและยาวนานกว่าทำให้งานวิจัยเชิงประจักษ์ส่วนใหญ่มักทำการศึกษาโดยใช้ข้อมูลของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมักมีบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเพื่อเติมเต็มช่องว่างทางความรู้ดังกล่าว มนชยา (2565) ได้ทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการลงทุนใน R&D  และ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทยในสามรูปแบบด้วยกัน คือ

 

การวิเคราะห์ Meta Regression การวิเคราะห์แบบจำลอง Panel โดยใช้ข้อมูลของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ในระยะยาวระหว่างการลงทุนใน R&D และอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศไทย

 

ประเด็นที่พึงระวังในการพิจารณาผลสรุปที่ได้จากงานวิจัยต่างๆ คือ งานวิจัยแต่ละชิ้นที่แม้จะพยายามตอบโจทย์เรื่องเดียวกัน แต่ก็ใช้ตัวแปรที่แตกต่างกัน ระเบียบวิธีวิจัยที่ใช้ในการประมาณการแตกต่างกัน ประกอบกับข้อมูลที่ใช้ก็มาจากหลากหลายกลุ่มประเทศ ในต่างช่วงเวลา คำถามที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือความแตกต่างเหล่านี้มีนัยยะต่อการตีความหลักฐานข้อมูลหรือไม่ อาทิ วิธีประมาณการบางวิธีอาจจะนำไปสู่ความเอนเอียง ทำให้ผลประมาณการค่าสัมประสิทธิ์ของการลงทุนใน R&D ต่อการพัฒนาของเศรษฐกิจมีความแตกต่างกันทั้งทิศทางของผลกระทบ ขนาด และนัยสำคัญทางสถิติ 

 

ดังนั้น การวิเคราะห์วรรณกรรมปริทัศน์อย่างเป็นระบบจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง งานวิจัยนี้ได้ทำการวิเคราะห์แบบอภิมาน(Meta-regression analysis) เป็นอันดับฅแรกเพื่อให้นักวิจัยและผู้วางนโยบายได้ทราบผลสรุปเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง R&D และการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แท้จริง (true effect) จากวรรณกรรมปริทัศน์ของงานวิจัยเชิงประจักษ์ที่ทำการศึกษาความสัมพันธ์นี้ ที่สำคัญคือการสามารถบ่งชี้ว่าเกิดความลำเอียงในการเลือกตีพิมพ์งานวิจัย (Publication selection bias) หรือไม่ 

 

ความลำเอียงในการเลือกตีพิมพ์งานวิจัย มีสาเหตุจาก บรรณาธิการของวารสารทางวิชาการและ reviewers อาจมีแนวโน้มในการตอบรับงานวิจัยเพื่อการตีพิมพ์เฉพาะงานที่ให้ผลสอดคล้องกับข้อสรุปตาม conventional และนักวิจัยเองก็มีแนวโน้มที่จะเลือกรายงานเฉพาะผลวิจัยที่สอดคล้องกับข้อสรุปตาม conventional เพื่อที่จะได้รับการตอบรับในการตีพิมพ์ โดยทั้งบรรณาธิการของวารสารทางวิชาการและ reviewers 

 

รวมถึงนักวิจัยเองมีแนวโน้มที่จะยอมรับในผลการศึกษาที่มีค่าความน่าเชื่อถือทางสถิติมากก่อน หากไม่มีการแก้ไขปัญหาความลำเอียงดังกล่าว จะทำให้เราไม่ทราบว่า ค่าผลกระทบของ R&D และการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่รายงานในงานวิจัย เป็นค่าที่แท้จริงที่สามารถนำมาใช้อ้างอิงในการกำหนดนโยบายเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศได้หรือไม่

 

แล้วการทำ Meta-regression analysis คืออะไร ทุกท่านอาจจะเปรียบ เทียบการเก็บข้อมูลเพื่อใช้วิเคราะห์ Meta-regression เหมือนการทำ survey ด้วยการสัมภาษณ์บุคคลเพื่อให้ได้ข้อมูลต่างๆ มาใช้วิเคราะห์ สิ่งที่แตกต่างคือในที่นี้เรากำลัง survey งานวิจัยที่ตอบคำถามเองไม่ได้ แต่ผู้วิจัยต้องสามารถดึงข้อมูลตาม Coding protocol ที่สร้างขึ้น (เหมือนการสร้างแบบ สอบถามว่าจะมีคำถามหมวดหมู่ใดบ้าง แต่ละหมวดหมู่มีคำถามย่อยใดบ้าง)  จากงานวิจัยแต่ละชิ้นออกมาเองด้วยการอ่านอย่างละเอียด ซึ่งในแต่ละงานวิจัยจะมีการบันทึกลักษณะประเภทตัวแปรการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 

 

เช่น งานวิจัยนั้นใช้อัตราการขยายตัวของ GDP ทั้งหมด หรือ GDP ต่อหัวเป็นตัวแปรตาม เป็นข้อมูลระดับประเทศ หรือภูมิภาค เป็นต้น และตัวแปรอะไรที่งานศึกษาปฐมภูมินั้นๆ ใช้เป็น proxy ของตัวแปร R&D ลักษณะของการตีพิมพ์งานศึกษา ลักษณะของข้อมูลที่ใช้ ลักษณะเฉพาะของกลุ่มตัวอย่าง วิธีการประมาณค่า ขนาดของค่าประมาณการผลกระทบของตัวแปร R&D (Effect size) ความแม่นยำ (Precision) ของค่าประมาณการนั้นๆ 

 

รวมถึงตัวแปรอื่นๆ ที่งานวิจัยนั้นๆ ได้ใส่เข้าไปเป็นตัวแปรควบคุม เพื่อให้ค่าประมาณการผลกระทบของตัวแปร R&D ที่มีต่อตัวแปรการขยายตัวทางเศรษฐกิจสะท้อนค่าผลกระทบจริงๆ ไม่ได้เกิดจากการละเว้นไม่ได้ใส่ตัวแปรตัวอื่นที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจเช่นกัน รวมไปถึงการกำหนดลักษณะต่างๆ ที่สะท้อนคุณภาพของงานวิจัยในแต่ละด้านด้วย

 

ข้อที่เราค้นพบคือ ตัวแปร R&D ทุกประเภทมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่าระดับนัยสำคัญทางสถิติจะมีความแตกต่างไปในแต่ละแบบจำลอง และจากการทดสอบ Publication selection bias พบว่ากลุ่มงานวิจัยที่ใช้ตัวแปรสิทธิบัตร และการตีพิมพ์งานวิจัย (ตัวแปร R&D ด้าน output) มีการรายงานค่าที่สูงเกินค่าที่แท้จริง

 

ขณะที่กลุ่มงานวิจัยที่ใช้ตัวแปรค่าใช้จ่ายในภาค R&D และ บุคลากรวิจัยในภาค R&D (ตัวแปร R&D ด้าน input) มีการรายงานค่าตํ่าเกินค่าที่แท้จริง อย่างไรก็ดี หลังจากมีการควบคุมลักษณะเฉพาะของการศึกษาตาม Coding protocol ในการทำ Multiple meta-regression analysis พบเครื่อง หมายกลับข้าง นั่นคือ ปรากฏความเอนเอียงในการตีพิมพ์เป็นบวกสำหรับตัวแปร R&D ด้าน input และเป็นลบสำหรับตัวแปร R&D ด้าน output 

 

การทำ Meta-regression analysis ให้คำตอบเบื้องต้นว่าการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาจริง หลังจากมีการขจัดปัญหาความเอนเอียงในการตีพิมพ์แล้วแม้ว่าทิศทางของผลกระทบจะแตกต่างกันตามนิยามของ R&D และแม้ขนาดผลกระทบโดยรวมจะเล็กกว่าขนาดที่พบในงานวิจัยที่ทำในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และอาจจะถือว่ามีนัยทางเศรษฐกิจ (economic significance) น้อย แต่พบว่าความเอนเอียงในการตีพิมพ์ตํ่ากว่างานศึกษาของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว