จำนวนผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และการใช้โครงข่ายร่วมกัน

16 มี.ค. 2565 | 12:08 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มี.ค. 2565 | 19:08 น.
1.2 k

จำนวนผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และการใช้โครงข่ายร่วมกัน : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย รศ.ดร.จันทร์ทิพย์ บุญประกายแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,766 หน้า 5 วันที่ 17 - 19 มีนาคม 2565

ข่าวการเจรจาควบรวมกันระหว่าง TRUE ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ DTAC ของ บริษัท เทเลนอร์ จากประเทศนอร์เวย์ นับเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จากข้อมูลปี 2564 ไตรมาสที่ 4 ไทยมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบมีโครงข่าย (Mobile Network Operator: MNO) 4 ราย ได้แก่ AIS, TRUE, DTAC และ NT (จากการควบรวมของ TOT และ CAT Telecom) 

 

โดยมีจำนวนเลขหมายเท่า กับ 57.67(48%), 38.66(32%), 21.04(17%) และ 3.43(3%) ล้านเลขหมายตามลำดับ และจำนวนเลขหมายทั้งหมดในไทยเท่ากับ 120.85 ล้านเลขหมาย ทั้งนี้มีเลข หมายที่ให้บริการโดยผู้ให้บริการ แบบเสมือน (Mobile Virtual Network Operator: MVNO) ซึ่ง ไม่มีโครงข่ายของตัวเองประมาณ 56,000 เลขหมาย 

 

 

สำหรับการควบรวมนั้น พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 วางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการรวมธุรกิจบริษัทไว้ในมาตรา 51 โดยตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะเห็นว่า MNO ของไทยมีอำนาจเหนือตลาดตั้งแต่ก่อนการควบรวมกิจการ และแม้ว่าการควบรวมระหว่าง TRUE และ DTAC จะไม่ทำให้ส่วนแบ่งตลาดของบริษัท 3 รายแรกเปลี่ยนไป 

 

แต่แน่นอนว่า 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เหลือจะมีอำนาจตลาดมากขึ้น ซึ่งวัดได้จากดัชนี HerfindahlHirschman Index (HHI) โดยมีค่าก่อนควบรวมเท่ากับ 3,626 และ หลังควบรวมเท่ากับ 4,714 ถ้าพิจารณากฎเกณฑ์การควบรวม บริษัทในสหรัฐอเมริกา ถือว่าการควบรวมที่ทำให้ค่า HHI เพิ่มขึ้นมากกว่า 200 จุดในตลาดที่มีการกระจุกตัวสูง (HHI มากกว่า 2,500) เป็นที่น่ากังวลและมักจะไม่ได้รับอนุญาต  

 

อย่างไรก็ตาม การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบมีโครงข่ายของตัวเอง เป็นกิจการซึ่งมีต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) จากการวางโครงข่ายสูงมาก ทำให้โดยทั่วไปแล้วจะมีจำนวนผู้ให้บริการได้ไม่มากนัก ดังนั้น การพิจาณาการควบรวมกันก็อาจมีเหตุผลพิเศษได้ 

 

แต่หากพิจารณาเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วจะเห็นว่า การมีบริษัทที่มีขนาดใหญ่อย่างมีนัยยะเหลือเพียง 2 บริษัทนั้น มีจำนวนน้อยกว่าหลายประเทศที่มีขนาดตลาดใกล้เคียงกับไทย 

 

จำนวนผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และการใช้โครงข่ายร่วมกัน

 

 

 

นอกจากนั้น หากประเทศมีประชากรมากและมีขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่นัก ก็น่าจะทำให้สามารถรองรับจำนวนผู้ให้บริการได้มากขึ้น หากพิจารณาประเทศฝรั่งเศส เฉพาะในยุโรปมีประชากรประมาณ 65 ล้านคน ขนาดพื้นที่ 547,557 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนเลขหมายทั้งหมดประมาณ 78 ล้านเลขหมาย 

 

ในขณะที่ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 66 ล้านคน ขนาดพื้นที่ 510,890 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนเลขหมายทั้งหมดประมาณ 83 ล้านเลขหมาย จะเห็นว่าขนาดตลาดของไทยและฝรั่งเศสไม่ต่างกันมากนัก แต่ฝรั่งเศสมี MNO 4 ราย Orange, SFR, Bouygues Telecom และ Free Mobile มีจำนวนเลขหมาย 24.78, 18.63, 14.94 และ 13.5 ล้านเลขหมายตามลำดับ ส่วนเลขหมายที่เหลือเป็นของ MNVO 

 

นอกจากนั้น หากพิจารณาราคาการให้บริการแล้วจะพบว่า ไม่ต่างกันมากนักเช่นกัน เช่น Orange แพ็คเกจ 5G ปริมาณ 120 GB ที่ความเร็วสูงสุด หลังจากนั้นที่ความเร็วลดลง ราคาประมาณ 660 บาทต่อเดือนสำหรับ 12 เดือนแรก และ 1,200 บาทหลังจากนั้น  AIS แพ็คเกจ 5G ปริมาณ 80 GB ที่ความเร็วสูงสุดหลังจากนั้นที่ความเร็วลดลง ราคา 899 บาทต่อเดือน 

 

จึงทำให้เป็นที่น่าแปลกใจว่า เหตุใดประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะมีผู้ให้บริการหลักเหลือเพียง 2 บริษัท ซึ่งจะทำให้ผู้ให้บริการมีอำนาจตลาดสูงขึ้นมาก และอาจมีโอกาสปรับราคาให้สูงขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การควบรวมนั้นอาจจะช่วยลดต้นทุนในด้านการวาง และดูแลโครงข่ายสัญญาณโทรศัพท์ ซึ่งนับว่าช่วยทำให้การให้บริการมีประสิทธิภาพสูงขึ้น 

 

เมื่อเปรียบเทียบกับฝรั่งเศสแล้ว จะพบว่า ฝรั่งเศส และอีกหลายๆ ประเทศ มีการใช้โครงข่ายร่วมกันในอัตราที่สูงกว่าไทยมาก โดยหากพิจารณาเฉพาะ Passive Infrastructure Sharing ซึ่งเป็นการแชร์อุปกรณ์ที่ไม่ใช่อิเล็กทรอนิกส์ เช่น หอสัญญาณ เสาอากาศ และแบตเตอรี่ มีการใช้บริการจากบริษัทจัดการโครงข่ายโดยเฉพาะ ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เอง (Independent Tower Company) 34% จากบริษัท MNO controlled (MNO มีหุ้นมากกว่า 50% ซึ่งปกติจะมีการแชร์โครงข่ายกับผู้ให้บริการอื่นด้วย) 18% จากการวางโครงข่ายเอง 35% และอื่นๆ 13% 

 

นี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายๆประเทศสามารถคงจำนวนผู้ให้บริการอย่าง น้อย 3 ราย เพราะการแชร์โครงข่ายนั้น ย่อมลดค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างมาก

 

ดังนั้น จึงมีหลายประเทศที่มีการสนับสนุน รวมถึงการกำหนดให้ผู้ให้บริการ ต้องมีการแชร์โครงข่ายเพื่อส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพในการบริการ ลดต้นทุน และยังทำให้บริษัทใหม่ๆ สามารถเข้ามาแข่งขันได้ง่ายขึ้นมากอีกด้วย และนี่อาจเป็นนโยบายหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการของไทยได้ 

 

ข้อมูลบางส่วนจาก World Bank Open Data EY-Parthenon 2020 ‘The economic contribution of the European tower sector’