ความรักความห่วงใยข้ามรุ่น กับระดับการพัฒนาประเทศ

04 ก.ย. 2562 | 11:15 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ย. 2562 | 18:20 น.
1.6 k

 

คอลัมน์ เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.มนชยา อุรุยศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3502 หน้า 7 วันที่ 5-7 กันยายน 2562

 

การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนข้ามรุ่นอายุผ่านความรักความห่วงใยที่มีต่อลูกและ/หรือพ่อแม่ของตัวเอง เป็นประเด็นที่นักเศรษฐศาสตร์ในระยะหลังเริ่มให้ความสนใจ นอกเหนือไปจากสมมติฐานที่ว่าแต่ละบุคคลจะให้ความสำคัญกับเฉพาะการบริโภคส่วนบุคคลเท่านั้น

งานวิจัยส่วนใหญ่ในสายนี้จะเน้นที่ความรักความห่วงใยที่พ่อแม่มีต่อลูกที่เรียกว่า Parental Altruism โดยให้เหตุผลของการที่คนเราต้องการที่จะมีลูกเพราะได้รับความสุขจากการได้เลี้ยงดูและเห็นลูกมีความสุข กล่าวง่ายๆคือ ความสุขของลูกคือความสุขของเรา แต่ก็มีงานวิจัยบางชิ้นที่ชี้ว่าคนมีลูกเพราะมองลูกเป็นสินทรัพย์ ที่ออกดอกออกผลในอนาคตได้ เป็นต้น

 

ความรักความห่วงใยข้ามรุ่น  กับระดับการพัฒนาประเทศ

 

เมื่อพิจารณารูปที่ 1 เราจะเห็นทิศทางของความรักความห่วงใยพุ่งไปยังอีกทิศทางหนึ่งด้วย นั่นก็คือความรักความห่วงใยที่มีต่อพ่อแม่ หรือที่เรียกว่า Filial Altruism กล่าวง่ายๆ เช่นเดียวกัน ความสุขของพ่อแม่คือความสุขของเรา ดังนั้นเราก็จะพร้อมแบ่งปันเงินทองให้กับลูกในรูปของการเลี้ยงดูและมรดก และ/หรือพ่อแม่ในรูปของการใช้จ่ายบำรุงพ่อแม่และให้เงินโอนในรูปแบบต่างๆ เพื่อทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดี และเราก็จะมีความสุขด้วย

แม้จะไม่มีงานวิจัยใดระบุชัดๆ ว่าความรักความห่วงใยประเภทไหนเด่นชัดกว่ากันในแต่ละประเทศ แต่ก็มีงานวิจัยเชิงประจักษ์ของ Horioka (2014) ที่พบว่า คนอเมริกันและคนอินเดีย ทิ้งมรดกให้แก่ลูก เพราะมี Parental Altruism ในขณะที่คนญี่ปุ่นและคนจีนทิ้งมรดกให้แก่ลูกเพื่อแลกกับการเลี้ยงดูยามแก่เฒ่า

 

อีกหนึ่งงานวิจัย Blackburn & Cipriani (2005) ศึกษาการตัดสินใจด้านการเจริญพันธุ์ทางด้านทฤษฎีเมื่อกำหนดให้แต่ละคนมี altruism ทั้ง 2 ทิศทาง พบว่าเมื่อเศรษฐกิจมีการพัฒนาขึ้น หรือคนในประเทศโดยเฉลี่ยมีรายได้ต่อหัวเพิ่มมากขึ้น จะมีการถ่ายโอนทรัพยากรข้ามรุ่นอายุจากพ่อแม่ไปสู่ลูก (ซึ่งใช้เป็นตัวแทนของ Parental Altruism) มากกว่าการถ่ายโอนทรัพยากรข้ามรุ่นอายุจากลูกสู่พ่อแม่ (ซึ่งใช้เป็นตัวแทนของ Filial Altruism)

ผลวิจัยนี้ชี้ว่าคนในประเทศพัฒนาแล้ว หรือกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงมี Parental Altruism ที่เด่นชัดกว่า ในขณะที่คนในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ตํ่ากว่ามี Filial Altruism ที่เด่นชัดกว่า ดังแสดงในรูปที่ 2 และ 3 ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น Koda & Uruyos (2017) และ Uruyos & Dheera-aumpon (2019) ได้พยายามอธิบายความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ทั้งในเชิงทฤษฎีและเชิงประจักษ์ โดยสรุปว่า ขนาดของครอบครัวที่ใหญ่ซึ่งสะท้อนถึงจำนวนพี่น้องที่มากกว่าในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ส่งผลให้ภาระต่อคนในการดูแลพ่อแม่หลังเกษียณค่อนข้างตํ่า แม้ว่าภาระทั้งหมดในการดูแลพ่อแม่ของทั้ง 2 กลุ่มประเทศ อาจจะไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก

 

ความรักความห่วงใยข้ามรุ่น  กับระดับการพัฒนาประเทศ

ความรักความห่วงใยข้ามรุ่น  กับระดับการพัฒนาประเทศ

 

ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุในประเทศพัฒนาแล้วก็มักจะมีอายุขัยเฉลี่ยที่ยืนยาวกว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ส่งผลให้ภาระในการดูแลพ่อแม่ต่อคนในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว สูงกว่าในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่างชัดเจน จะเห็นได้ว่าความแตกต่างทางด้านลักษณะประชากร มีผลสำคัญต่อการคาดหมายทิศทางความสัมพันธ์ ระหว่างอัตราความเห็นอกเห็นใจกับระดับรายได้ของประเทศต่อหัว ซึ่งเป็นตัวชี้วัดระดับการพัฒนาของประเทศได้ 

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อยืนยันว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างความเห็นอกเห็นใจทั้ง 2 ทิศทางกับระดับการพัฒนาของประเทศจริงๆ งานวิจัยได้ควบคุมความแตกต่างในด้านอื่นๆ ของแต่ละประเทศไว้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างทางด้านเศรษฐกิจมหภาค  อาทิ ทุนกายภาพ ทุนมนุษย์ อัตราเงินเฟ้อ สัดส่วนการออมต่อ GDP สัดส่วนการใช้จ่ายด้านการศึกษาภาครัฐต่อ GDP ตลอดจนความแตกต่างทางด้านโครงสร้างสถาบันแต่ละประเทศ อาทิ ความเป็นประชาธิปไตย ศาสนา เป็นต้น

และที่สำคัญคือหลังจากทำการแยกความแตกต่างทางด้านประชากรคือ อายุขัยเฉลี่ยที่ยาวนานกว่าในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและอัตราการเจริญพันธุ์ที่สูงกว่าในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาออกไปแล้ว งานวิจัยพบว่าระดับ Parental Altruism ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะสูงกว่าของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และระดับ Filial Altruism ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะสูงกว่าของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

ดังนั้น ความแตกต่างทางด้านโครงสร้างของประชากรของแต่ละประเทศ จึงมีผลกระทบต่อนํ้าหนักที่แต่ละบุคคลในประเทศนั้นๆ จะให้ความสำคัญกับลูกและ/หรือพ่อแม่อย่างไร ดังนั้น หากผู้วางนโยบายต้องการที่จะเพิ่มสวัสดิการของคนในประเทศอย่างเหมาะสม ก็จำเป็นที่จะต้องพิจารณาทั้งนโยบายทางด้านเศรษฐกิจและประชากรประกอบกันด้วย

ความรักความห่วงใยข้ามรุ่น  กับระดับการพัฒนาประเทศ